โฆษกรัฐบาลเผย พลังงานแจงราคาน้ำมันไทย-อาเซียนแตกต่างกันเพราะโครงสร้างน้ำมันของประเทศ ยันน้ำมันไทยไม่ได้แพงที่สุด “นายกฯ” ย้ำสื่อสารสร้างความเข้าใจประชาชน ยืนยันรัฐบาลจริงใจแก้ไขปัญหาพลังงานของประเทศให้ดีที่สุด
วันที่ 9 มิ.ย.65 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ราคาน้ำมันตลาดโลกยังคงมีความผันผวนอย่างต่อเนื่อง ราคาพลังงานสูงขึ้นและบางประเทศขาดแคลนพลังงาน ส่งผลให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลก โดยนายกรัฐมนตรีมีข้อห่วงใยกำชับทุกฝ่ายให้ช่วยกันสร้างการรับรู้ให้ประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องราคาน้ำมันของไทย เน้นย้ำว่าราคาน้ำมันไทยไม่ได้แพงที่สุดในอาเซียน และรัฐบาลให้ความสำคัญกับการรักษาความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ยืนยันว่ารัฐบาลมีความจริงใจที่จะแก้ไขปัญหาพลังงานของประเทศให้ดีที่สุด
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในวันนี้มีความจำเป็นที่ต้องช่วยกันสื่อสารข้อเท็จจริงให้เห็นว่า ราคาน้ำมันไทยไม่ได้แพงที่สุดในอาเซียน และไทยยังมีบริษัท ปตท. ที่พร้อมดูแลความมั่นคงด้านพลังงาน โดยกระทรวงพลังงานชี้แจงว่า ท่ามกลางสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน เป็นเหตุให้อุปทานพลังงานลดลง ประกอบกับสถานการณ์โควิดในหลายประเทศดีขึ้น ทำให้ความต้องการใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อราคาเชื้อเพลิงตลอดจนค่าครองชีพของประชาชนที่ปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลก
ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบราคาน้ำมันของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านแล้วจะพบว่า จุดที่ทำให้ราคาแตกต่างกันขึ้นกับโครงสร้างน้ำมัน ประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่ต้องนำเข้าน้ำมันเช่นเดียวกับประเทศไทย จึงทำให้มีต้นทุนเนื้อน้ำมันไม่ต่างกันมากนัก เพราะราคาที่ซื้อ-ขาย จะอ้างอิงจากราคาตลาดโลก แต่ปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันที่ขายในแต่ละประเทศแตกต่างกันก็คือโครงสร้างน้ำมันของแต่ละประเทศ ที่แต่ละประเทศมีมาตรการภาษี และระบบการเก็บเงินเข้ากองทุนหรืออุดหนุนราคาพลังงานที่แตกต่างกัน อย่างบางประเทศที่น้ำมันถูก เช่น มาเลเซีย หรือบรูไน จะเห็นได้ว่าเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมัน ทำให้นอกจากจะไม่เก็บภาษีเพิ่มแล้ว ยังมีนโยบายในการสนับสนุนราคาในประเทศ
โดยรัฐบาลได้นำเงินที่ได้จากการขายน้ำมันมาอุดหนุนราคาน้ำมัน ส่งผลให้ราคาน้ำมันในประเทศเหล่านั้นถูกกว่าประเทศอื่น ๆ ที่ต้องนำเข้าน้ำมันนั่นเอง และในส่วนของประเทศไทยรัฐบาลก็ได้ดูแลราคาน้ำมันมาอย่างต่อเนื่องโดยใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลรวมถึงการลดภาษี และล่าสุดได้ลดการจัดเก็บเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนของน้ำมันกลุ่มเบนซิน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า ขณะที่ประเทศไทยต้องนำเข้าน้ำมันดิบ ซึ่งราคาขึ้นลงตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา มีต้นทุนเนื้อน้ำมันจากราคาหน้าโรงกลั่น อ้างอิงราคาตามตลาดสิงคโปร์ นอกจากนี้ยังต้องเสียภาษีต่าง ๆ ซึ่งหากเปรียบเทียบราคาน้ำมันเบนซิน และดีเซล ของไทย กับประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน แล้ว ราคาน้ำมันเฉลี่ยในอาเซียน ณ วันที่ 6 มิถุนายน 2565 (อัตราแลกเปลี่ยน อัตรากลาง ณ วันที่ 2 มิถุนายน 2565) เบนซิน สิงคโปร์ อยู่ที่ 83.25 บาท/ลิตร ลาว อยู่ที่ 60.68 บาท/ลิตร กัมพูชา อยู่ที่ 52.51 บาท/ลิตร ฟิลิปปินส์ อยู่ที่ 51.26 บาท/ลิตร เวียดนาม อยู่ที่ 46.79 บาท/ลิตร เมียนมา อยู่ที่ 44.95 บาท/ลิตร ไทย อยู่ที่ 44.65 บาท/ลิตร และ
อินโดนีเซีย อยู่ที่ 43.78 บาท/ลิตร ส่วนดีเซล สิงคโปร์ อยู่ที่ 77.00 บาท/ลิตร ฟิลิปปินส์ อยู่ที่ 51.91 บาท/ลิตร กัมพูชา อยู่ที่ 46.59 บาท/ลิตร ลาว อยู่ที่ 46.36 บาท/ลิตร อินโดนีเซีย อยู่ที่ 46.05 บาท/ลิตร เมียนมา อยู่ที่ 44.58 บาท/ลิตร เวียดนาม อยู่ที่ 39.11 บาท/ลิตร และไทย อยู่ที่ 32.94 บาท/ลิตร จะเห็นว่าราคาน้ำมันขายปลีกไทยไม่ได้เป็นราคาที่สูงที่สุด และที่สำคัญแต่ละประเทศต่างตระหนักถึงความสำคัญของความมั่นคงด้านพลังงาน โดยเฉพาะประเทศที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานเป็นหลัก
“ท่ามกลางสถานการณ์ราคาเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น ตลอดจนค่าครองชีพของประชาชนที่ปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลก อันเนื่องมาจากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไม่ยุติลง โดยคาดว่าสถานการณ์ราคาพลังงานจะยังอยู่ในภาวะที่ตึงตัวเช่นนี้ไปอีกระยะหนึ่ง ยืนยันว่ารัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะดูแลแก้ไขปัญหาพลังงานของประเทศให้ดีที่สุด ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ ได้ย้ำฝากถึงประชาชนคนไทยทุกคนให้ช่วยกันใช้พลังงานอย่างประหยัด ขอให้ร่วมมือกันเพื่อชาติและให้กำลังใจซึ่งกันและกัน เพื่อให้ทุกคนสามารถผ่านพ้นวิกฤตพลังงานไปได้” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว