คมนาคมเดินหน้าแก้ปัญหารถติดบนทางด่วนลุย 32 โครงการ อัดเม็ดเงินงบลงทุนกว่า 4.7 หมื่นล้าน เผยเฟสแรกเร่งสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 งามวงศ์วาน-พระราม 9 พร้อมสร้างทางขึ้นลง สถานีกลางบางซื่อ
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหารถติดบนโครงข่ายทางพิเศษ กระทรวงคมนาคมโดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้มีการศึกษาจัดทำแผนแก้ไขปัญหาการจราจรในภาพรวมทั้งระบบพบว่าจะต้องมีการดำเนินการในโครงการรวมกว่า 32 โครงการในระยะเวลาตั้งแต่ (พ.ศ. 2565 – 2570) มูลค่ากว่า 47,533 ล้านบาท
โดยจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. โครงการแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษในปัจจุบัน จำนวน 21 โครงการ แบ่งเป็น แผนระยะที่ 1 (พ.ศ. 2565 – 2569) จำนวน 16 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 38,132 ล้านบาท และแผนระยะที่ 2 (พ.ศ. 2570 เป็นต้นไป) จำนวน 5 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 9,401 ล้านบาท
2. โครงการทางพิเศษเพิ่มเติมที่จะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรและเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทาง จำนวน 11 โครงการ แบ่งเป็น แผนระยะที่ 1 (พ.ศ. 2565 – 2569) จำนวน 5 โครงการ และแผนระยะที่ 2 (พ.ศ. 2570 เป็นต้นไป) จำนวน 6 โครงการ
ปัจจุบัน กทพ. อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และสิ่งแวดล้อม ของโครงการการแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษ ระยะที่ 1 จำนวน 16 โครงการ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย
1. งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 (งามวงศ์วาน -พระราม 9) และโครงการแก้ไขปัญหาการจราจร จำนวน 8 โครงการ (รวม 9 โครงการ) มีแผนระยะเวลาศึกษา 15 เดือน 2. งานศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) โครงการทางขึ้น-ลง บริเวณสถานีกลางบางซื่อ จำนวน 4 โครงการ มีแผนระยะเวลาศึกษา 6 เดือน
3. งานศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการแก้ไขปัญหาการจราจร จำนวน 2 โครงการ คือ โครงการปรับปรุงถนนเกษตร-นวมินทร์ และโครงการทางเชื่อมด่านจตุโชติกับทางคู่ขนานถนนกาญจนาภิเษกด้านตะวันออก มีแผนระยะเวลาศึกษา 10 เดือน 4. งานสำรวจและออกแบบเบื้องต้น (Preliminary Design) โครงการเปิดใช้ช่องจราจรสวนกระแสช่วงถนนพระราม 9-ถนนเกษตร-นวมินทร์ จำนวน 1 โครงการ มีแผนระยะเวลาศึกษา 6 เดือน