สถานการณ์ราคาน้ำมัน ราคาก๊าซธรรมชาติยังคงทรงตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง การเลื่อนปลดระวางโรงไฟฟ้าแม่เมาะหน่วย 8-11 ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ออกไปสิ้นปี 68 จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี
สำหรับแผนเลื่อนปลดระวางโรงไฟฟ้าแม่เมาะหน่วย 8-11 นั้น แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมาได้อนุมัติแผนเลื่อนปลดระวางโรงไฟฟ้าแม่เมาะหน่วยที่ 8-11 ออกไปถึงสิ้นปี 2568 ตามที่การไฟฟ้าผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เสนอให้เป็นหนึ่งในแนวทางการลดภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าให้ประชาชน เนื่องจากที่ราคาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มีราคาสูง ส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าสูงขึ้นตามไปด้วย
ดังนั้นการเลื่อนปลดระวางโรงไฟฟ้าแม่เมาะจึงเป็นทางออกที่ดี โดยราคาเชื้อเพลิงถ่านหินลิกไนต์แม่เมาะเมื่อเทียบกับราคา Spot LNG จะช่วยให้สามารถลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้ราว 37,000 ล้านบาท ซึ่งถ่านหินลิกไนต์ที่มีแหล่งในประเทศนั้นจากการคำนวณเบื้องต้นจะอยู่ที่ประมาณ 800-900 บาทต่อตัน คิดเป็นต้นทุนการผลิตไฟฟ้า (คิดเฉพาะค่าเชื้อเพลิง) ประมาณ 80-90 สตางค์ต่อหน่วยเท่านั้น เปรียบเทียบกับ LNG ที่ราคา 30 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู จะคิดเป็นต้นทุนค่าไฟฟ้าประมาณ 6 บาทต่อหน่วย
สำหรับแผนเลื่อนการปลดระวางโรงไฟฟ้าแม่เมาะหน่วยที่ 8-11 นั้นรวมกำลังการผลิตทั้ง 4 โรงเป็น 1,080 เมกะวัตต์ โดยโรงไฟฟ้าแม่เมาะหน่วยที่ 8 เดิมกำหนดปลดระวางวันที่ 31 ธันวาคม 2565 เลื่อนไปเป็นวันที่ 31 ธันวาคม 2568 ขณะที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะหน่วยที่ 9-11 ที่จะปลดระวางในปี 2567 ก็ให้เลื่อนออกไปเป็นปี 2568
ส่วนโรงไฟฟ้าแม่เมาะชุดที่ 12 และ 13 นั้นจะปลดระวางในปี 2568 อยู่แล้ว โดยภายหลังจากการปลดระวางโรงไฟฟ้าแม่เมาะในปี 2568 แล้วก็ยังจะมีโรงไฟฟ้าใหม่มาทดแทนแม่เมาะหน่วยที่ 8-9 กำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ มูลค่าลงทุนพร้อมระบบสายส่ง 47,470 ล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติไปเมื่อ 24 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตามสำหรับมติ กบง. ดังกล่าวจะต้องนำเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและแผนพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ให้ความเห็นชอบในวันที่ 22 มิถุนายน 2565 ต่อไป