ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 35.32 บาทต่อดอลลาร์อ่อนค่า ตลาดเปิดรับความเสี่ยงคลายกังวลเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงกดดอลลาร์พลิกอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก จับตาถ้อยแถลงประธานเฟด- ECB
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.35 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.32 บาทต่อดอลลาร์ ผู้เล่นในตลาดการเงินโดยรวมทยอยเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังเริ่มคลายกังวลแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงของเฟด
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทพอได้แรงหนุนในฝั่งแข็งค่า จากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ ทว่า เงินบาทยังคงมีแนวโน้มผันผวน โดยต้องระวังแรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ ที่อาจกลับมาได้ทุกเมื่อ หากตลาดพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยง
อย่างไรก็ดี เรามองว่า แรงขายหุ้นไทยอาจเริ่มชะลอลง หลังดัชนี SET ได้ย่อตัวมาใกล้โซนแนวรับสำคัญ อีกทั้งภาพตลาดหุ้นฝั่งเอเชียก็ยังดูสดใส หนุนโดยความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนจากการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown (Correlation เงินบาท กับเงินหยวนของจีนในช่วงนี้อยู่ที่ราว 70%) ทำให้เรามองว่า เงินบาทยังมีโอกาสแกว่งตัว sideways โดยมีโซนแนวต้านแถว 35.50 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนโซนแนวรับยังคงอยู่ในช่วง 35.20-35.30 บาทต่อดอลลาร์
อนึ่ง ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราคงแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ ใช้ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.25-35.45 บาทต่อดอลลาร์
สำหรับฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ย่อตัวลง -0.72% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.30% หลังนักลงทุนบางส่วนเริ่มขายทำกำไรการรีบาวด์อย่างรวดเร็วในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคฯ อาทิ Amazon -2.8%, Alphabet (Google) -1.8% เพื่อรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ GDP, ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค รวมถึง เงินเฟ้อ PCE ที่เฟดติดตาม
นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด และนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดอย่างใกล้ชิด เพื่อวิเคราะห์โอกาสที่เฟดจะเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง หลังจากที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดเริ่มสะท้อนภาพเศรษฐกิจชะลอลง
ส่วนตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ยังคงปรับตัวขึ้น +0.52% นำโดยการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของหุ้นกลุ่ม Healthcare อาทิ Roche +2.1%, Novartis +1.8% ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงหนัก ทำให้ผู้เล่นในตลาดหันมาสนใจหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มี pricing power สูง และผลประกอบการทนทานต่อภาวะเศรษฐกิจอย่างกลุ่ม Healthcare มากขึ้น
อย่างไรก็ดีในระยะสั้นผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อรอประเมินแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของ ECB
ส่วนตลาดบอนด์นั้น บอนด์ยีลด์โดยรวมปรับตัวผันผวน โดยบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องจนใกล้ระดับ 3.20% อีกครั้ง หลังจากที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด อย่าง ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน (Durable Goods Orders) ได้ปรับตัวขึ้น +0.7%m/m ดีกว่าคาด ในดือนพฤษภาคม
สะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังดูสดใส สอดคล้องกับมุมมองของประธานเฟดในสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ผู้เล่นบางส่วนยังคงมองว่าเฟดยังสามารถเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยได้ตาม Dot Plot
อย่างไรก็ดี เรามองว่า ผู้เล่นบางส่วนจะทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวมากขึ้น โดยเฉพาะในจังหวะที่บอนด์ยีลด์มีการปรับตัวสูงขึ้นมาก หรือ รอจังหวะ Buy on Dip เพราะหากมีมุมมองว่า การขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางอาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวหรือภาวะเศรษฐกิจถดถอยในกรณีเลวร้ายสุด บอนด์ยีลด์ระยะยาวก็จะสามารถทยอยปรับตัวลดลงได้ในที่สุด
ขณะที่ตลาดค่าเงิน บรรยากาศในตลาดการเงินโดยรวมที่ทยอยเปิดรับความเสี่ยงได้กดดันให้ เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 103.9 จุด
นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังถูกกดดันจากการพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของสกุลเงินฝั่งยุโรป นำโดย เงินยูโร (EUR) ที่ทยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.058 ดอลลาร์ต่อยูโร อีกครั้ง ตามความคาดหวังของตลาดต่อแนวโน้มการทยอยขึ้นดอกเบี้ยของ ECB
อย่างไรก็ดี แม้ว่า เงินดอลลาร์จะมีการย่อตัวลง แต่ทว่าภาพรวมของตลาดที่เปิดรับความเสี่ยงและการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ยังคงส่งผลให้ราคาทองคำรีบาวด์ย่อตัวลงใกล้ระดับ 1,825 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สอดคล้องกับมุมมองของเราที่ยังคงมองราคาทองคำแกว่งตัว sideways และยังขาดปัจจัยหนุนให้กลับมาเป็นขาขึ้นที่ชัดเจน
สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่าง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค Conference Board (Consumer Confidence) โดย ตลาดประเมินว่า ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนักและเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย จากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด จะกดดันให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ลดลงแตะระดับ 100 จุด ในเดือนมิถุนายน
ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) เพื่อประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจ รวมถึงทิศทางนโยบายการเงินของ ECB & BOE ท่ามกลางความกังวลว่า เศรษฐกิจยุโรปอาจเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะ Stagflation ซึ่งอาจทำให้ธนาคารกลางตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายการเงินยากมากขึ้น