วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlightโควิดคลี่คลาย“การบินไทย”ฟื้นตัวเร็ว ‘แก้แผนฟื้นฟู-ลดวงเงินกู้-ขายหุ้นRO’
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

โควิดคลี่คลาย“การบินไทย”ฟื้นตัวเร็ว ‘แก้แผนฟื้นฟู-ลดวงเงินกู้-ขายหุ้นRO’

“การบินไทย” ฟื้นตัวเร็ว สภาพคล่องเริ่มดี หลังโควิดคลี่คลายและนโยบายเปิดประเทศ ทำให้ตัวเลขคนเดินทางเพิ่มสูงขึ้น ลุยยื่นแก้ “แผนฟื้นฟู” ปรับลดวงเงินกู้-แปลงหนี้-ขายหุ้น RO คาดปี 68 หุ้นสามารถกลับมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯได้

เมื่อวันที่ 1 ก.ค.65 นายปิยสวัสด์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย (THAI) เปิดเผยว่า คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการจะยื่นขอปรับแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางในวันนี้ (1 ก.ค.) หลังจากรายได้มีแนวโน้มฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาด เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 คลี่คลายลงและหลายประเทศรวมถึงไทย ได้กลับมาเปิดประเทศให้มีการเดินทางระหว่างประเทศกันมากขึ้น

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า แผนฟื้นฟูกิจการฉบับเดิม จัดทำขึ้นจากคาดการณ์ว่าบริษัทจะขาดกระแสเงินสด ดังนั้นเป้าหมายหลักของการฟื้นฟูนำเงินทุนใหม่เข้ามาจำนวน 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งมาจากภาครัฐ 2.5 หมื่นล้านบาท และอีก 2.5 หมื่นล้านบาทจากสถาบันการเงิน แต่เมื่อพบว่าการกู้เงิน มีความยุ่งยากและซ้ำซ้อน บริษัทฯจึงได้หาวิธีช่วยเหลือตัวเองก่อน ด้วยการขายทรัพย์สินและเครื่องบินเก่าออกไปได้เงินกว่า 9 พันล้านบาท ประกอบกับ ขณะนี้การเดินทางระหว่างประเทศทำได้มากขึ้น หลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง ทำให้ยอดผู้โดยสารฟื้นตัวเร็วมาก โดยจำนวนผู้โดยสารของการบินไทยที่เดินทางต่างประเทศ เพิ่มขึ้นจากช่วง 10 เดือนแรกของปี 64 ที่มีจำนวนไม่ถึง 1,000 คน/วัน มาเป็น 13,000 คน/วัน อัตราขนส่งผู้โดยสารขึ้นมาระดับ 80% ซึ่งหลายเส้นทางก็ขึ้นมาถึงระดับ 90% ส่งผลให้รายได้ในเดือนมิ.ย.65 คาดว่าจะอยู่ที่ 6,800 ล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นในเดือนก.ค.65 มาเป็น 8,000 ล้านบาทจากยอดตั๋วที่จองล่วงหน้า ดังนั้นปัญหาขาดกระแสเงินสดก็ลดลงจากรายได้ขายตั๋วโดยสารที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเงินสดในมือช่วงปลายเดือนมิ.ย.65 เพิ่มเป็น 1.4 หมื่นล้านบาท จากเดิมคาดว่าจะมี 5 พันล้านบาท ดังนั้นการกู้เงินจึงไม่ใช่เป้าหมายหลักของแผนฟื้นฟูแล้ว

ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์

“พอเห็นการฟื้นตัวชัดเจน ตอนนี้เราต้องการแก้ไขแผนฟื้นฟูอีกครั้ง การกู้เงินลดลง แก้ให้การบินไทยมีความมั่นคงอย่างยั่งยืนจริงๆ และออกจากแผนฯได้ นี่คือที่มาที่จะยื่นแก้ไขแผนฯในวันนี้”นายปิยสวัสดิ์ กล่าวและว่า ในแผนฉบับเดิมที่ต้องการหาเงินทุนใหม่ 5 หมื่นล้านบาทจากภาครัฐและเอกชน จะปรับเป็นให้เป็นเงินกู้ระยะยาวไม่เกิน 6 ปี จำนวน 1.25 หมื่นล้านบาท และเงินกู้ระยะสั้น 1.25 หมื่นล้านบาท โดยเงินกู้ยืมระยะยาวจะให้สิทธิเจ้าหนี้แปลงหนี้เป็นทุน แต่ก็อาจจะดูสถานการณ์อีกครั้งหากสภาพคล่องของบริษัทดีขึ้นเร็วก็อาจจะไม่ต้องใช้เงินกู้ส่วนนี้ก็ได้ อาจจะใช้เฉพาะเงินกู้ระยะสั้นก็น่าจะเพียงพอ เมื่อรวมกับส่วนเจ้าหนี้เดิมที่มีทั้งเจ้าหนี้สถาบันการเงินและเจ้าหนี้หุ้นกู้ รวมมูลหนี้กว่า 1 แสนล้านบาท ให้แปลงหนี้เป็นทุนจำนวนประมาณ 3.7 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 25% ของมูลหนี้ เมื่อรวมกับเงินกู้ระยะสั้น 1.25 หมื่นล้านบาท บริษัทก็จะได้เงินประมาณ 5 หมื่นล้านบาท เหมือนกับการเพิ่มทุน และจะช่วยลดการขาดทุนส่วนของทุน

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ก็ยังเปิดขายหุ้นเพิ่มทุน (Right Offering : RO) ให้กับผู้ถือหุ้นเดิมอีก 2.5 หมื่นล้านบาท เมื่อรวมกับส่วนที่ได้จากเจ้าหนี้ทำให้บริษัทจะเพิ่มทุนได้ประมษณ 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งบริษัทฯมั่นใจว่าสามารถทำได้ และทำให้การบินไทยมีส่วนของทุนเป็นบวกในช่วงปลายปี 2567 และหุ้น THAI ก็สามารถกลับมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้อีกครั้งปี 2568

สำหรับรายละเอียดสาระสำคัญในการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการในประเด็นต่างๆ ดังนี้

1.จัดหาสินเชื่อใหม่แบบสินเชื่อระยะยาว (Term Loan) ไม่เกิน 6 ปี และ/หรือตราสารหนี้ที่มีอายุการไถ่ถอนไม่น้อยกว่า 6 ปี เป็นจำนวนไม่เกิน 12,500 ล้านบาท นอกจากนั้น บริษัทยังได้เตรียมการจัดหาสินเชื่อหมุนเวียน (Revolving Facility) ในวงเงินไม่เกิน 12,500 ล้านบาทเผื่อไว้อีกด้วย

2.ดำเนินการเพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวนประมาณ 31,500 ล้านหุ้น โดยมีเป้าหมายในการทำให้ส่วนทุนเป็นบวกเพื่อทำให้โครงสร้างทางการเงินของบริษัทมีความมั่นคงและเพื่อให้หลักทรัพย์ของบริษัทสามารถกลับไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้อีกครั้ง ด้วยแนวทางต่อไปนี้

(ก) ให้สิทธิผู้สนับสนุนสินเชื่อใหม่มีสิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนในจำนวนเดียวกับจำนวนหนี้สินเชื่อใหม่ที่บริษัทเบิกใช้จริง (Drawdown Amount) เป็นจำนวนเงินประมาณ 12,500 ล้านบาท

(ข) จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อชำระหนี้เดิมของเจ้าหนี้ทางการเงินตามแผนด้วยหุ้นสามัญเพิ่มทุน โดยกระทรวงการคลังซึ่งเป็นทั้งเจ้าหนี้ทางการเงินและผู้ถือหุ้นหลักเดิมจะได้รับชำระหนี้ด้วยการแปลงหนี้เงินต้นทั้งจำนวนเป็นทุน ในขณะที่เจ้าหนี้ทางการเงินกลุ่มอื่น ๆ และเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้จะได้รับชำระหนี้ด้วยการแปลงหนี้เงินต้นจำนวน ร้อยละ 24.5 เป็นทุน

โดยหนี้เงินต้นส่วนที่เหลือในอัตราร้อยละ 75.5 จะได้รับชำระหนี้จากกระแสเงินสดของการบินไทยตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแผนเดิม ซึ่งการแปลงหนี้เป็นทุนนี้จะทำให้การบินไทยสามารถมีส่วนทุนเพิ่มเติมและลดภาระหนี้ตามแผนลงได้ประมาณ 37,800 ล้านบาท  

(ค) จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อร้องรับการใช้สิทธิแปลงหนี้ดอกเบี้ยตั้งพักตามแผนเป็นทุน  ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น ซึ่งทำให้การบินไทยอาจสามารถลดภาระการชำระหนี้ดอกเบี้ยตั้งพักไปได้ประมาณ 4,845 ล้านบาท 

(ง) จัดสรรและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนโดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่ ในราคาที่ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการเห็นสมควรและไม่ต่ำกว่า 2.5452 บาทต่อหุ้น เพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้นเดิม และในกรณีที่ไม่มีผู้ถือหุ้นเดิมใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน หรือผู้ถือหุ้นเดิมใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนไม่เต็มจำนวน ให้นำหุ้นส่วนที่มาเสนอขายให้แก่พนักงานบริษัท และหรือบุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ซึ่งคาดว่าจะสามารถระดมทุนให้แก่การบินไทยเพิ่มเติมได้อีกประมาณ 25,000 ล้านบาท 

รวมเป็นส่วนทุนที่คาดว่าจะได้รับจากการปรับโครงสร้างหนี้และโครงสร้างทุนตามข้อเสนอขอแก้ไขแผนประมาณ 80,000 ล้านบาทเศษ โดยการบินไทยคาดหมายว่าจะสามารถดำเนินการปรับโครงสร้างทุนข้างต้นให้แล้วเสร็จภายในปี 2567 ซึ่งหากการดำเนินการเป็นไปตามข้อเสนอข้อแก้ไขแผน ส่วนของทุนจะกลับมาเป็นบวกในปี 2567 และหลักทรัพย์ของบริษัทน่าจะสามารถกลับมาทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ในปี 2568 

3.แก้ไขและเพิ่มเติมรายละเอียดการแผนการชำระหนี้ของเจ้าหนี้บางกลุ่ม เพื่อให้เกิดความชัดเจนต่อการปฏิบัติตาม และให้บริษัทมีความคล่องตัวในการดำเนินกิจการในภาวะที่อุตสาหกรรมการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว โดยที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิทธิและการชำระหนี้ของเจ้าหนี้เดิมตามแผนฟื้นฟูกิจการฉบับปัจจุบัน

4.แก้ไขรายละเอียดในส่วนของผลสำเร็จของแผนฟื้นฟูกิจการส่วนที่ไม่มีความจำเป็นและไม่สอดคล้องกับบริบทและข้อเท็จจริงในปัจจุบัน 

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img