“วิลาศ-วัชระ” หอบเอกสารยื่นค้านส่งมอบรัฐสภา 100% แฉไม้สักขึ้นรา- แตกร้าว เล็งร้อง ป.ป.ช.เอาผิดคนลงมติรับมอบโครงการก่อสร้าง พาสื่อทัวร์พบหลายจุดบกพร่อง
วันที่ 4 ก.ค.65 ที่รัฐสภา นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีตส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และนายสาธิต ประเสริฐศักดิ์ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานกรรมการตรวจการจ้างโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เรื่อง ขอคัดค้านการตรวจรับงานแล้วเสร็จ 100 % ของโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ของคณะกรรมการตรวจการจ้างฯ ฉบับที่ 1
นายวัชระ กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2556 สำนักงานเลขาธิการสภาฯ ได้ลงนามสัญญาเลขที่ 116/2556 และสัญญาแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อว่าจ้างบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ดำเนินการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ฯ จำนวน 12,280 ล้านบาท กำหนดเวลาแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ซึ่งจนถึงวันนี้ (4 ก.ค.)รวมระยะเวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 3,353 วัน แต่ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา จึงขอคัดค้านคณะกรรมการตรวจการจ้างในการตรวจรับงานแล้วเสร็จโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงอย่างชัดแจ้งว่า การก่อสร้างดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จครบถ้วนตามข้อกำหนดในสัญญา อีกทั้งยังปรากฏหลักฐานอย่างชัดเจนว่า มีการใช้ชนิดของวัสดุไม่ตรงตามข้อกำหนดในสัญญาและไม่ตรงตามวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ของผู้ออกแบบ เช่น ต้นไม้จำนวนมากตายจนถูกตัดเหลือแต่ตอ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการตรวจสอบการฟื้นตัวและอยู่รอดของต้นไม้ได้ เพราะต้นไม้เหล่านั้นได้ตายไปก่อนการตรวจสอบ ส่งผลถึงระยะเวลา 240 วันของข้อกำหนดในสัญญาดังกล่าว ที่มีเพื่อตรวจการฟื้นตัวและการอยู่รอดของต้นไม้ จึงยังไม่เริ่มนับ เพราะไม่มีต้นไม้ที่อยู่รอดให้นับระยะเวลาเหล่านั้น จึงถือว่าการก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ หากคณะกรรมการตรวจการจ้างฯ รับมอบงานแล้วเสร็จในวันนี้ วันพรุ่งนี้ (5 ก.ค.) ตนจะยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อสอบสวนบุคคลที่ลงมติเห็นชอบทุกคนต่อไปโดยไม่ละเว้น
ด้าน นายวิลาศ กล่าวว่าไม้สักจำนวน 4,000 กว่าต้นพบว่ามี
2,400 ต้น ที่นำมาใช้ก่อสร้าง พบว่ามีเชื้อรา และเริ่มแตก เพราะอบไล่ความชื้นไม่ได้มาตรฐาน ทำให้ต้องเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด ส่วนของพื้นอาคารยังใช้ไม้ผิดประเภทจากข้อกำหนดที่ต้องใช้ไม้ตะเคียนทอง แต่ใช้ไม้พะยอมหรือไม้ชนิดอื่นๆ แทน และแผ่นไม้ปูพื้นต้องมีความยาวไม่น้อยกว่า 3 เมตร ยกเว้นกรณีจำเป็น ประตูห้องกรรมาธิการไม่กันเสียง 65 ห้อง ผนังห้องประชุมกรรมาธิการไม่กันเสียง 148 ห้อง และหินทราโวทีนมีขนาดต่ำกว่าข้อกำหนด ต้นไม้ขนาดใหญ่ตาย 347 ต้น และไม่มีการปลูกทดแทน รวมทั้งต้นไม้ขนาดเล็กตายเป็นจำนวนมาก เป็นต้น สุดท้ายคือ การส่งมอบงานครั้งนี้จะมีการตรวจสอบงานนาน จึงอยากให้ใช้ช่วงเวลานี้ซ่อมแซมส่วนที่มีปัญหา ถ้าสภาฯ ยอมให้ทำ ถือว่าสภาฯ ต้องรับผิดชอบ ตนไม่ติดใจผู้รับจ้างเพราะมีสิทธิทำธุรกิจก็ต้องทำกำไรทุกวิถีทาง แต่สภาฯ ต้องทำตามระเบียบการส่งมอบ
จากนั้นนายวิลาศ พร้อมคณะ ได้พาสื่อมวลชน เดินสำรวจจุดบกพร่องต่างๆ ของโครงการก่อสร้างบริเวณชั้น 1 ตามที่ระบุไว้ในเรื่องร้องเรียน เช่น ต้นไม้ขนาดใหญ่ที่ยืนต้นตายและถูกตัดออกไป พื้นอาคาร และเสาไม้สักขึ้นราและแตก เนื่องจากมีความชื่น เพื่อให้เห็นภาพว่าเป็นสิ่งที่ควรปรับปรุงและซ่อมแซมอย่างแท้จริงก่อนรับมอบ โดยนายวิลาศระบุ หากคณะกรรมการรับมอบฯ ยังดึงดันรับมอบ ก็เตรียมติดคุกได้เลย เพราะจะมาอ้างว่าไม่รู้ไม่เห็นไม่ได้ เพราะตนได้ยื่นคัดค้านและบอกปัญหาที่เกิดขึ้นหลายครั้งแล้ว