พูดกันมานานว่า “ระบบข้าราชการ” บ้านเรา อุ้ยอ้ายเทอะทะ ประเทศที่เจริญแล้ว อย่างญี่ปุ่น เขาจะเน้นกระจายอำนาจไปยัง “ท้องถิ่น” ทำ “ส่วนกลาง” ให้เล็ก ต่างจากไทย ที่ข้าราชการมากระจุกที่ส่วนกลางกลายเป็น “คนหัวโต” หากเปรียบเทียบระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในเชิงโครงสร้างและการบริหารประเทศ จะเห็นได้ว่าต่างกันลิบลับ
จำนวนประชากรของไทยมี 65 ล้านคน แต่ญี่ปุ่นมี 130 ล้านคน กระทรวงของไทยมี 22 กระทรวง ญี่ปุ่นมี 12 กระทรวง รัฐมนตรีของไทยมี 36 คน ญี่ปุ่นมี 18 คน จำนวนข้าราชการไทยมี 2 ล้านคน ญี่ปุ่น 5 แสนคน เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นไทยมี 4 แสนคน แต่ญี่ปุ่นมีมากถึง 3 ล้านคน
จะเห็นว่าในการบริหารประเทศของไทย คือ “โครงสร้างประเทศ” ไม่มีการกระจายอำนาจอย่างเป็นจริงเป็นจัง ญี่ปุ่นมีประชากรมากกว่าไทยถึง 2 เท่า กลับมีกระทรวงน้อยกว่า มีข้าราชการทั้งระบบน้อยกว่า มีรัฐมนตรีน้อยกว่า แต่มุ่งเน้นไปที่การ “กระจายอำนาจ” ทำให้มีเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นมากถึง 3 ล้านคน ของไทยมีเพียงแค่ 4 แสนคนเท่านั้น
มีข้อมูลจากการประชุม ครม. เมื่อเร็วๆ นี้ โดยที่ประชุมได้รับทราบรายงานเรื่องสรุปภาพรวมการบริหารกำลังคนของส่วนราชการในฝ่ายพลเรือน และแนวโน้มค่าใช้จ่ายของบุคคลภาครัฐ เสนอโดยคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)
ในรายงานระบุว่า ปัจจุบันมีการจ้างงานที่เป็นกำลังคนภาครัฐจำนวน 2.91 ล้านคน เป็นข้าราชการ 1.68 ล้านคน ทั้งข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว พนักงานมหาวิทยาลัย พนักงานกระทรวงสาธารณสุข พนักงานรัฐวิสาหกิจ และพนักงานองค์การมหาชน จำนวน 1.23 ล้านคน
ด้านรายจ่าย พบว่าค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ 10 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 42.6% เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 4.03% ต่อปี แต่ส่วนที่เพิ่มขึ้นมากคือ ในส่วนของบำเหน็จ-บำนาญ เพิ่มขึ้น 149.6% หรือเกือบๆ 150% เฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 10.82% ต่อปีเลยทีเดียว และมีแนวโน้มจะสูงกว่างบบุคลากรภายในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี
เฉพาะในปีงบประมาณ 2564 มีการเบิกจ่าย 3.01 ล้านล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐจำนวน 1.09 ล้านล้านบาท คิดเป็น 36.4% จำแนกตามงบรายจ่าย ได้แก่ งบบุคลากร จำนวน 6.32 แสนล้านบาท เป็นเงินเดือน จำนวน 5.67 แสนล้านบาท รองลงมาเป็นค่าตอบแทนพนักงานราชการ จำนวน 3.9 หมื่นล้านบาท และค่าจ้างประจำ จำนวน 2.38 หมื่นล้านบาท
ส่วนงบกลาง จำนวน 4.64 แสนล้านบาท โดยมีงบรายจ่ายสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เงินบำเหน็จบำนาญ จำนวนมากถึง 3.08 แสนล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ จำนวน 7.97 หมื่นล้านบาท และเงินสำรอง เงินสมทบ และเงินชดเชยของข้าราชการ จำนวน 2.98 หมื่นล้านบาท
ขณะเดียวกันกำลังคนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ได้แก่ พนักงานจ้าง เพิ่มขึ้นร้อยละ 108.88% หรือเพิ่มขึ้น 10.89% ต่อปี มีจำนวนพนักงานจ้างราชการปัจจุบัน 1.34 แสนคน พนักงานราชการในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 37.82% หรือเฉลี่ย 3.78% ต่อปี ปัจจุบันมีจำนวน 4.1 หมื่นคน และข้าราชการ เพิ่มขึ้น 5.35 % หรือเฉลี่ย 0.54% ต่อปี มีจำนวนประมาณ 6.9 หมื่นคน
ที่น่าสนใจ ข้าราชการในราชการบริหารส่วนท้องถิ่นและข้าราชการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าข้าราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยข้าราชการส่วนท้องถิ่นเพิ่มขึ้น 30.06% (จำนวน 5.5 หมื่นคน) แต่ยังนับว่าน้อยมากๆ และข้าราชการนอกฝ่ายบริหารเพิ่มขึ้น 52.36% หรือเฉลี่ย 5.24% ต่อปี (จำนวน 1.2 หมื่นคน)
หากดูรายจ่ายงบประมาณประจำปี จึงไม่ต้องแปลกใจทำไมงบประมาณในแต่ละปีมีเหลือไปใช้ในด้านการลงทุนพัฒนาประเทศน้อยมาก เพราะนำมาเป็นเงินเดือนและสวัสดิการ
ในระหว่างที่ประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤติโควิด-19 และวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศที่อยู่ในอาการโคม่า แต่ไม่คืบหน้าไปถึงไหน ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า อุปสรรคสำคัญนอกจาก “นักการเมือง” ไร้จิตสำนึกเป็นพวก “มือสมัครเล่น” แล้ว
ขณะเดียวกัน “ระบบราชการ” ก็มีกฎระเบียบมีขั้นตอนมากมายและให้อำนาจข้าราชการใช้ดุลพินิจเกินความพอดี เปิดช่องให้การเรียกรับสินบนใต้โต๊ะอย่างเป็นระบบ รวมถึง “ข้าราชการ” ก็ไร้ประสิทธิภาพ เกียร์ว่าง ไม่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เน้นรับใช้นักการเมือง ก็ถือว่าเป็นอุปสรรคสำคัญ
ดร.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ เคยเขียนถึงปัญหาระบบราชการเอาไว้ จะขอหยิบบางข้อมานำเสนอเช่น “วางอำนาจไว้ที่อธิบดี จนทำให้เมื่อจำนวนอธิบดีมีกว่า 150 คน จึงเกิดอาณาจักรน้อยๆ ที่มี พ.ร.บ.ของอธิบดีที่เป็นเสมือนรั้ว การบูรณาการจึงทำโดยธรรมชาติไม่ได้”
เป็นที่รู้ๆ กันว่า ประสิทธิภาพการทำงานของข้าราชการไทยนั้น “เช้าชามเย็นชาม” ช่วงไหนที่จะมีการเปลี่ยนรัฐบาลก็จะใส่เกียร์ว่าง รอรัฐบาลใหม่ รอดูทิศทางลม ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ระดับรองอธิบดี หรืออธิบดีขึ้นไป ก็มักไม่อยู่ในที่ทำงาน เพราะต้องวิ่งตามคอยเสนอหน้านักการเมือง ข้าราชการชั้นน้อยที่ทำงานก็ไม่กล้าตัดสินใจ งานไม่เดินหน้า จึงเกิดกรณี “งบค้างท่อ” ที่ยังแก้ไม่ตก
รัฐบาลไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้ง หรือที่มาจากการรัฐประหาร เมื่อเข้ามาก็มักจะชูเรื่อง “ปฏิรูประบบราชการ” เป็นนโยบายหลัก แต่ไม่เคยมีรัฐบาลไหนทำสำเร็จ อาจเป็นเพราะไม่มีผู้นำการเมืองคนไหนกล้าแตะ แถมยังต้องฟังข้าราชการ มากกว่าฟังเสียงประชาชน ทำให้การปฏิรูประบบราชการจึงเป็นเพียงวาทะกรรมที่สวยหรูเท่านั้นเอง
……………………………
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง
โดย “ทวี มีเงิน”
สนับสนุนคอลัมน์ โดย : บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)
#ยิ่งใกล้คุณยิ่งต้องดี #GCเคมีที่เข้าถึงทุกความสุข #GCChemistryforBetterLiving