วันจันทร์, พฤศจิกายน 25, 2024
spot_img
หน้าแรกNEWSสธ.ชี้เอกชนจัดแพคเกจรักษาโควิด“ทำได้” แต่ต้องอิงตามอาการ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

สธ.ชี้เอกชนจัดแพคเกจรักษาโควิด“ทำได้” แต่ต้องอิงตามอาการ

‘’อนุทิน’’ชี้รพ.เอกชนจัดแพคเกจรักษาโควิดให้ผู้ป่วยที่สามารถจ่ายได้ ขณะที่สธ.ชี้เอกชนจัดแพคเกจรักษาโควิด ชอปปิ้งยา ทำได้ แต่ต้องอิงตามอาการ ลั่นต้องไม่ปนสัดส่วนภาครัฐ

เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 65 ที่กระทรวงสาธารณสุข  นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีมีข่าวรพ.เอกชนขายแพคเกจและยารักษาโควิด-19 โดยให้ผู้ป่วยเลือกชนิดของยาได้ โดยหากเลือกยายาโมลนูพิราเวียร์ก็ต้องจ่ายเงินเพิ่ม ว่า ยารักษาโควิด- 19 ทั้งยาฟาวิพิราเวียร และยาโมลนูพิราเวียร์ รัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนให้รพ.รัฐ และเอกชน เพื่อรักษาตามสิทธิ์การรักษา ส่วนรพ.เอกชนที่ออกแพคเกจอาจเป็นเรื่องการอำนวยความสะดวกสบาย  เพื่อให้ผู้ป่วยที่สามารถจ่ายได้มีทางเลือกตรงนี้

อย่างไรก็ตาม กรณีเช่นนี้มีอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า ทำได้หรือไม่ หรือกรอบไหนทำไม่ได้ ก็จะมีการตรวจสอบให้ชัดเจน หากพิสูจน์ได้ว่าเป็นการอำนวยความสะดวกได้จริงและไม่ผิดหลักเกณฑ์ใดๆ ก็น่าจะทำได้ แต่หากมีกรณีไหนที่เข้าข่ายทำผิด หรือยังไม่ชัดเจน ให้สอบถามมาที่ สบส.เพื่อให้เข้าไปตรวจสอบได้ แต่ต้องมีหลักฐาน ไม่ใช่เขาบอกมา ที่ผ่านมายังไม่เห็นหลักฐานชัดเจน ทุกวันนี้ก็ยังปิดรพ.เอกชนไม่ได้สักแห่ง

ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดี สบส. กล่าวว่า คนไข้โควิดที่ไปรักษาในรพ.ตามสิทธิ์ เป็นไปตามระบบนั้น รพ.ที่รักษาตามสิทธิ์นั้นๆ ไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ เพราะรัฐเป็นผู้สนับสนุนยาไปยัง รพ. อย่างไรก็ตาม ช่วงหลังรพ.เอกชนจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการอำนวยความสะดวกสบาย และมีกำลังจ่าย ส่วนการออกแพคเกจให้เลือกชนิดยานั้น ทำได้ แต่ต้องเป็นไปตามมาตรฐานการรักษาทางการแพทย์ ตามอาการ แต่ยาที่ใช้ต้องแยกออกจากส่วนที่รัฐสนับสนุน ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ อย่างไรก็ตาม การให้ยาใดๆ ต้องอิงคนไข้เป็นหลักต้องเป็นไปตามมาตรฐานการรักษา และมาตรฐานสถานพยาบาล แต่เมื่อมีข้อคิดเห็นกรณีนี้เข้ามา เราจะมีการประชุมหารือและกำชับรพ.เอกชน ในการปฏิบัติเรื่องนี้ให้ถูกต้องในสัปดาห์นี้ 

“การออกแพคเกจต้องแจ้งล่วงหน้า และแจ้งราคาให้ประชาชนทราบล่วงหน้า แต่ที่สำคัญการให้ยาต้องรักษาตามอาการ ตามมาตรฐาน หากทำผิดนอกเหนือจากนั้น จะผิดทั้งพ.ร.บ.สถานพยาบาลฯ และหากแพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายนอกเหนืออาการก็จะเข้าข่ายผิดเรื่องการประกอบวิชาชีพ จะเป็นในส่วนของแพทยสภาตรวจสอบ” อธิบดี สบส. กล่าว

นพ.ธเรศ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ตามที่เราได้มีการอนุญาตให้เปิดสถานพยาบาลชั่วคราว ตามพ.ร.บ.สถานพยาบาล ครอบคลุมระบบการรักษาที่บ้าน (HI) ระบบการรักษาในชุมชน (CI) ฮอทพิเทล, โฮเทลไอโซเลชั่น แต่ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนไป จึงมีแนวทางให้คนไข้ที่ไม่มีอาการ หรืออาการน้อยให้รักษาแบบผู้ป่วยนอก (OPD) ไม่ต้องนอนรพ.ดังนั้น จึงมีการพิจารณายกเลิกประกาศให้จัดตั้งสถานพยาบาลชั่วคราวเหล่านั้น ซึ่งผ่านในหลักการแล้ว กรรมการสถานพยาบาลเห็นชอบ รอรมว.สาธารณสุขลงนาม แต่ล่าสุดเนื่องจากสถานการณ์เริ่มเปลี่ยนแปลง จึงมีสถานพยาบาลเอกชนบางแห่งแจ้งว่าขณะนี้คนไข้มากขึ้น ดังนั้นเพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนเตียงคนไข้ปกติในโรงพยาบาล จึงขอให้สบส. พิจารณาทบทวนการยกเลิกเปิดสถานพยาบาลชั่วคราวออกไปก่อน เพื่อรอดูสถานการณ์ 1- 2 เดือน เรื่องนี้กำลังเสนอประธานกรรมการสถานพยาบาลว่าจะขยายตรงส่วนนี้ได้หรือไม่  

ดังนั้น ตอนนี้สถานพยาบาลสำหรับดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ยังเปิดใช้ทุกรูปแบบ ซึ่งมีประมาณ 100 กว่าแห่ง แต่ขณะนี้กองทุนต่าง ๆ ไม่ได้จ่ายให้แล้ว เช่น สำนักงานประกันสังคม ยกเลิกการจ่ายตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา ย้ำว่าการขยายเปิดตรงนี้เพื่อให้เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ไม่สะดวกรักษาตัวที่บ้าน แล้วสะดวกที่จะจ่ายเอง ถ้าแพงคนก็ไม่ไปอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม คนไข้ที่อาการสีเขียวไม่ต้องไปโรงพยาบาลก็ได้ เพราะตามเจตนารมณ์เราอยากให้ท่านรักษาในระบบ OPD 

เมื่อถามว่าหากอนุญาตให้รพ.เอกชนเปิดฮอทพิเทล โฮเทลไอโซเลชั่น โดยที่กองทุนต่างๆ ยกเลิกการจ่ายไปแล้ว เอกชนเรียกเก็บค่ารักษากรณีโรคโควิด-19 ได้ 100% หรือไม่ นพ.ธเรศ กล่าวว่า ใช่ เมื่อถามย้ำว่าต้องควบคุมราคาหรือไม่ นพ.ธเรศ กล่าวว่า เราไม่มีกฎหมายควบคุมราคา แต่ต้องประกาศราคาให้ทราบตั้งแต่แรก ซึ่งค่ารักษาพยาบาลโรคโควิด-19 จะอิงตามประกาศอัตราการจ่ายค่ารักษาของทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือไม่ก็ไม่สามารถบอกได้ แต่สำหรับการควบคุมราคาต่างๆ นั้น อยู่ในกฎหมายการควบคุมราคาสินค้าและบริการของกระทรวงพาณิชย์

เมื่อถามว่าจากนี้คนที่ไปรักษาในสถานพยาบาลชั่วคราวเหล่านี้หากมีการเก็บเงินไม่ใช่เรื่องผิด ใช่หรือไม่ นพ.ธเรศ กล่าวว่า หากยังจำกันได้ ก่อนหน้านี้ มีการปรับระบบให้ผู้ป่วยรักษาตามสิทธิ ยกเว้นคนไข้เหลือง แดง ที่สามารถรักษาที่ไหนก็ได้ ดังนั้นหากคนไข้อาการสีเขียว ซึ่งมีรพ.ตามสิทธิอยู่ที่ รพ. ก. แต่เลือกที่จะไป รพ. ข. ก็ต้องจ่ายเงินเอง พอจ่ายเองจะเลือกจ่ายแบบไหน จะจ่ายแบบคนไข้นอก หรือจะไปนอนฮอทพิเทล นอน รพ. ก็แล้วแต่ แต่โดยรวมรพ. ข. ต้องดูแลท่านตามมาตรฐานวิชาชีพ ห้ามให้ยาเกิน เช่น หากไม่มีอาการแต่ให้ยาเยอะ ถ้าตรวจสอบพบก็ต้องมีความผิดตามาตรฐานวิชาชีพ.

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img