“ช่อ-ไอติม” หอบ 80,772 รายชื่อยื่น “ชวน” เดินหน้าแก้รธน.หมวด 14 ว่าด้วยการปกครองส่วนท้องถิ่น ชงเเลือกตั้งผู้ว่าฯทั่วประเทศ หวังส.ส.-ส.ว.เห็นชอบ แนะขอให้มองเป็นร่างกฎหมายของประชาชน
วันที่ 11 ก.ค. 65 ที่รัฐสภา น.ส.พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า พร้อมด้วยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบายพรรคก้าวไกล รวมถึงตัวแทนจากคณะก้าวหน้าและพรรคก้าวไกล นำรายชื่อประชาชนจำนวน 80,772 ยชื่อจาก 77 จังหวัดทั่วประเทศไทยที่ร่วมแสดงพลังร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 14 ว่าด้วยการปกครองส่วนท้องถิ่น ปลดล็อกทุกพื้นที่ในไทยให้กำหนดอนาคตตัวเองได้ จากแคมเปญ “ขอคนละชื่อ #ปลดล็อกท้องถิ่น” มายื่นต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนางผ่องศรี ธาราภูมิ คณะทำงานทางการเมืองของประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นตัวแทนรับเรื่อง
น.ส.พรรณิการ์ กล่าวว่า ในการยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นการแก้ไขหมวด 14 ว่าด้วยการกระจายอำนาจ ซึ่งมีประชาชนที่เราตรวจสอบคุณสมบัติแล้วจำนวน 80,772 รายชื่อจาก77 จังหวัดทั่วประเทศ และมีส่วนหนึ่งต้องนำรายชื่อออกไป เนื่องจากอายุยังไม่ถึงเกณฑ์ที่จะข้าชื่อเสนอแก้ไขกฎหมายได้ ตลอด 3 เดือนของการรณรงค์ที่ถือว่าใช้เวลาอย่างรวดเร็ว ทั้งที่ช่วงแรกคิดว่าเรื่องดังกล่าวน่าจะเป็นเรื่องยากลำบากในการอธิบาย แต่ด้วยคำๆเดียวก็ทำให้ทุกคนเข้าใจว่าเป็นการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ท้องถิ่นปลดล็อค สามารถเลือกผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดได้ด้วยตนเอง โดยเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราให้ความสนใจและเป็นนโยบายตั้งแต่อดีตพรรคอนาคตใหม่ ที่เห็นว่าควรยุติราชการรวมศูนย์ รวมทรัพยากร งบประมาณ และอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง แต่ควรให้ท้องถิ่นได้บริหารได้ด้วยตนเอง เรื่องนี้เราได้ดำเนินการสองส่วนคือจากบนลงล่าง คือการผลักดันแก้ไขกฎหมาย และล่างขึ้นบนคือการพบปะประชาชนในจังหวัดต่างๆ ซึ่งการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวจะทำให้รัฐส่วนกลางไม่สามารถนำกฎหมายไปครอบและละเมิดวิถีชีวิตของจังหวัดต่างๆ รวมทั้งการออกกฎหมายโดยไม่เข้าใจปัญหาของคนในพื้นที่ได้ เป็นการปลดปล่อยศักยภาพของทุกจังหวัด
ด้านนายพริษฐ์ กล่าวว่า การลงชื่อของประชาชน แสดงถึงความตื่นตัวที่อยากเห็นการบริหารจัดการบ้านเมืองโดยเนื้อหาของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เรานำมายื่นจะเป็นการปลดล็อคท้องถิ่นใน 3 เรื่อง คือ 1.การกระจายอำนาจให้สามารถเลือกผู้นำของตัวเอง ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นกระแสที่เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ที่แต่ละจังหวัดต่างเห็นว่าทำไมกทม.สามารถเลือกผู้นำของตนเองได้ ทั้งที่จังหวัดอื่นๆก็น่าจะมีโอกาสเช่นกัน 2.การกระจายงาน โดยเฉพาะงานสาธารณะที่ถูกตัดสินใจจากส่วนกลาง ก็จะเป็นการปลดล็อคให้ท้องถิ่นมีความอิสระในการบริหาร โดยเฉพาะระบบสาธารณูปโภค และ3.การกระจายงบประมาณ ที่ปัจจุบันจะพบว่าท้องถิ่นได้รับงบประมาณเพียงร้อยละ 29 จากทั้งหมด ไม่รวมงบฝากที่นำไปแปะไว้กับจังหวัดต่างๆ ก็จะพบว่าจริงๆแล้วจังหวัดต่างๆได้รับงบประมาณเพียงแค่ร้อยละ 23 เท่านั้น
“การมายื่นครั้งนี้มีความคาดหวังว่าประธานรัฐสภาจะบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระพิจารณา และส.ส. ส.ว.เห็นชอบกับข้อเสนอของเรา โดยอย่ามองว่าร่างดังกล่าวเป็นร่างของพรรคก้าวไกลหรือคณะก้าวหน้า แต่ให้มองว่าเป็นร่างของประชาชนทุกคน และไม่ว่าความคาดหวังในครั้งนี้จะสำเร็จหรือไม่ ก็จะยังคงผลักดันเรื่องการกระจายอำนาจต่อไป ซึ่งหวังว่า ปรากฎการณ์ของร่างนี้จะสะท้อนว่าการเมืองเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ เช่นเดียวกับร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมที่ได้รับความเห็นชอบจากสภาฯ”นายพริษฐ์ กล่าว