กรมวิทยาศาสตร์ฯ เผยข้อมูลกลุ่มตัวอย่าง 570 ราย เจอสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 รวม 280 ราย ชี้แนวโน้มเพิ่มขึ้น
เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 65 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงผลเฝ้าระวังโรคโควิด-19 เชื้อโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ว่า จากการเฝ้าระวังโอมิครอนสายพันธุ์ต่างๆ ช่วงวันที่ 2-8 กรกฎาคม 2565 ตรวจกลุ่มตัวอย่าง 570 ราย พบเป็น BA.1 จำนวน 5 ราย BA.2 จำนวน 283 ราย และสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 รวมกัน 280 ราย และมีไม่ชัดเจนอยู่อีก 2 ราย
อย่างไรก็ตาม หากแยกกลุ่มที่เดินทางมาจากต่างประเทศ พบว่า ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 มากถึงร้อยละ 78.4 ส่วนการติดเชื้อในประเทศ แบ่งออกเป็นพื้นที่กรุงเทพมหานคร และภูมิภาค ข้อมูลจนถึงเดือนพฤษภาคม 2565 พบว่า ใน 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่พบเชื้อ BA.4 และ BA.5 มากที่สุด
นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า กรุงเทพฯ เริ่มพบสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 มากขึ้นเรื่อยๆ จาก ร้อยละ 12.7 ขึ้นเป็น ร้อยละ 50.8 ร้อยละ 68 และ ร้อยละ 72.3 ส่วนภูมิภาคก็เช่นกัน เริ่มตั้งแต่ ร้อยละ 6.5 ขึ้นเป็น ร้อยละ 17.4 และ ร้อยละ 34.7
“ดังนั้น สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 จะเริ่มแซงสายพันธุ์ BA.2 และ BA.1 แต่ไม่ได้แซงเร็วมากนัก ทั้งนี้ สำหรับสัดส่วนสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 พบทั้ง 13 เขตสุขภาพ ยกเว้นเขต 3 พบไม่มาก เนื่องจากส่งตัวอย่างแค่หลักสิบราย จึงจำเป็นต้องมีการส่งตัวอย่างเพิ่ม ส่วนเขตสุขภาพที่พบมากที่สุด คือ เขต 13 หรือพื้นที่กรุงเทพฯ” นพ.ศุภกิจ กล่าว
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า ส่วนเรื่องความรุนแรงของ BA.4 และ BA.5 เป็นอย่างไรนั้น ได้มีการสุ่มตรวจสายพันธุ์ในกลุ่มตัวอย่าง แบ่งเป็น คนมีอาการรุนแรง และอาการไม่รุนแรง โดยพื้นที่กรุงเทพฯ พบว่า คนที่อาการไม่รุนแรงพบ BA.4 และ BA.5 อยู่ประมาณ ร้อยละ 72 ส่วนคนที่อาการรุนแรง ปอดอักเสบจนต้องเข้าโรงพยาบาล (รพ.) หรือ ใส่ท่อช่วยหายใจ รวมทั้งรุนแรงจนเสียชีวิต มีข้อมูล 13 ราย พบเป็น BA.4 และ BA.5 ร้อยละ 77 ส่วนพื้นที่ภูมิภาค คนที่อาการไม่รุนแรงมี 309 ราย พบ BA.4 และ BA.5 ร้อยละ 33 ส่วนคนที่อาการรุนแรง 45 ราย พบสัดส่วน BA.4 และ BA.5 ร้อยละ 46.67
“ข้อมูลดังกล่าวพบว่า BA.4 และ BA.5 ในกลุ่มอาการรุนแรง สัดส่วนมากกว่าอาการไม่รุนแรง แต่ก็ยังสรุปไม่ได้ว่า สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 มีความรุนแรงชัดเจน เนื่องจากตัวเลขยังน้อยอยู่ เพราะจริงๆ ตามข้อมูลทางสถิติต้องมีตัวเลขมากกว่านี้เป็นหลักหลายร้อยราย เพื่อตัดตัวเลขที่อาจแกว่งได้ และตัวเลขเราก็ยังไม่ได้แยกว่า ใครได้รับวัคซีน หรือไม่ได้รับวัคซีน อย่างไรก็ตาม ตัวเลขในกรุงเทพฯ 13 ราย เป็นผู้เสียชีวิตกว่าครึ่งหนึ่ง จริงๆ ความรุนแรงเราต้องได้ข้อมูลอื่นๆ อย่างปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ เป็นต้น ขณะนี้ได้ขอความร่วมมือทุกพื้นที่ในการส่งตัวอย่างเพิ่มเติม” นพ.ศุภกิจ กล่าว
นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า องค์การอนามัยโลกได้ติดตามข้อมูลเป็นสัปดาห์ๆ พบว่า BA.5 เพิ่มขึ้นจากที่เคยตรวจ ร้อยละ 37 ใน 83 ประเทศ เป็น ร้อยละ 52 ส่วน BA.4 จาก ร้อยละ 11 เป็น ร้อยละ 12
“หมายความว่า หาก BA.4 และ BA.5 อาจแพร่เร็วไม่เท่ากัน แต่ BA.5 เร็วขึ้นแน่ๆ แต่ BA.4 ยังทรงๆ ส่วน BA.1 และ BA.2 กลับลดลง ถูกเบียดไป ทั้งนี้ มีการตามประเด็นว่า แพร่เร็วแค่ไหน รุนแรงหรือไม่ หลบภูมิคุ้มกันหรือไม่อย่างไร ซึ่งเรื่องความรุนแรง องค์การอนามัยไม่ได้ให้น้ำหนักมาก บอกเพียงว่า ความรุนแรงไม่ได้แตกต่างมากนัก แต่การแพร่เร็ว พบว่า เร็วกว่าแน่ ส่วนมีผลต่อการหลบภูมิคุ้มกันหรือไม่ ก็พบว่า ลดลง ขณะที่อังกฤษ พบว่า มีการแพร่เร็วสูงกว่าเดิม ส่วนความรุนแรงจัดว่าอยู่ในระดับสีเหลือง เพราะข้อมูลยังน้อย ขณะที่หลบภูมิคุ้มกันคิดเช่นนั้น เพียงแต่ข้อมูลยังไม่เยอะมาก ซึ่งก็คล้ายประเทศไทย ต้องติดตามต่อไป” นพ.ศุภกิจ กล่าว