วันจันทร์, พฤศจิกายน 25, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlight“วันหยุดยาว”ท่องเที่ยวเงินสะพัด 1.4 หมื่นล้าน
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“วันหยุดยาว”ท่องเที่ยวเงินสะพัด 1.4 หมื่นล้าน

“ผู้ว่าททท.” เผยหยุดยาวเงินสะพัด 1.4 หมื่นล้านบาท ชี้ “เงินเฟ้อ-น้ำมัน” เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเลือกพื้นที่เดินทาง ขณะที่สายบินออกแคมเปญจูงใจคนเดินทางเที่ยวข้ามภาค

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ช่วงวันหยุดยาว 5 วัน ระหว่างวันที่ 13-17 ก.ค.นี้ ซึ่งตรงกับวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา แม้มีหน่วยงานเอกชนบางส่วนไม่ได้หยุดยาว แต่ประเมินบรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศดีขึ้น ทั้งจากบรรยากาศที่ผ่อนคลายกว่าช่วงวันหยุดอื่นๆ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ไม่ทวีความรุนแรงเหมือนที่ผ่านมา ภาครัฐผ่อนคลายมาตรการ รวมถึงคนไทยเริ่มคุ้นชินที่จะปรับตัวใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโควิดแล้ว

ทั้งนี้คาดการณ์ว่าจะมีการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทย 3.70 ล้านคน/ครั้ง สร้างรายได้ทางการท่องเที่ยว 14,330 ล้านบาท และมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 53% ส่วนใหญ่เป็นการเดินทางท่องเที่ยวภูมิภาคระยะใกล้มากกว่าไกล

นอกจากนี้คาดการณ์รายได้ผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยและอัตราการเข้าพักเฉลี่ยวันหยุดยาว ต่อเนื่อง แบ่งเป็น กรุงเทพฯ อัตราการเข้าพักเฉลี่ย 42% ผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 415,790 คน/ครั้ง สร้างรายได้ 3,560 ล้านบาท, ภาคกลาง อัตราการเข้าพัก 64% ผู้เยี่ยมเยือน 837,010 คน/ครั้ง รายได้ 1,600 ล้านบาท 

ภาคตะวันออก อัตราการเข้าพัก 62% ผู้เยี่ยมเยือน 749,750 คน/ครั้ง รายได้ 2,860 ล้านบาท, ภาคเหนือ อัตราการเข้าพัก 47% ผู้เยี่ยมเยือน 423,260 คน/ครั้ง รายได้ 1,590 ล้านบาท, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อัตราการเข้าพัก 63% ผู้เยี่ยมเยือน 796,320 คน/ครั้ง รายได้ 1,610 ล้านบาท, ภาคใต้ อัตราการเข้าพัก 46% ผู้เยี่ยมเยือน 481,100 คน/ครั้ง รายได้ 3,110 ล้านบาท

สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถือเป็นพื้นที่ระยะไกลเพียงภูมิภาคเดียว ที่มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยสูงเกินกว่า 60% เนื่องจากมีหลายจังหวัดเป็นพื้นที่ไฮไลต์งานวันเข้าพรรษา ที่คนไทยเลือกไปเที่ยว รวมถึงบางส่วนเดินทางกลับภูมิลำเนา ทำให้ภาพรวมบรรยากาศท่องเที่ยวในประเทศถือว่าคึกคักในหลายพื้นที่ 

โดยคนไทยนิยมเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว ปรับลดค่าใช้จ่ายทั้งการเดินทางท่องเที่ยว และการซื้อของฝาก เนื่องจากเงินเฟ้อและราคาน้ำมันยังคงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเลือกพื้นที่เดินทางท่องเที่ยวของคนไทย จึงเป็นเหตุผลทำให้จำนวนและรายได้จากการเดินทางเที่ยวในประเทศในช่วงวันหยุดยาวต่อเนื่องนี้ ยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติก่อนเกิดโควิด

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมส่งเสริมท่องเที่ยวข้ามภาค ร่วมกับสายการบินในประเทศต่างๆ อาทิ นกแอร์ เส้นทางกรุงเทพฯเบตง, การเปิดเที่ยวบินของบางกอกแอร์เวย์ เส้นทางกรุงเทพฯ-หาดใหญ่ ซึ่งมีส่วนช่วยกระตุ้นให้คนไทยตัดสินใจออกเดินทางท่องเที่ยว เป็นไปในทิศทางเดียวกับข้อมูลบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย ที่ระบุว่าในเดือนกรกฎาคมนี้มีปริมาณเที่ยวบินภายในประเทศเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากมีวันหยุดยาวต่อเนื่อง ทำให้มีการเดินทางเพิ่มขึ้น โดยมีเที่ยวบินเฉลี่ย 1,437 เที่ยวบินต่อวัน ขณะที่บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) คาดว่าช่วงวันหยุดยาวนี้จะมีประชาชนเดินทางกลับภูมิลาเนาและท่องเที่ยวจำนวนมาก โดยมีผู้ใช้บริการเฉลี่ยวันละ 34,000 คน

ขณะเดียวกันจากการวิเคราะห์การพูดคุยในสังคมออนไลน์ เกี่ยวกับการเดินทางช่วงวันหยุดยาวนี้พบว่า คำที่มีการกล่าวถึงมากที่สุดได้แก่ เข้าพรรษา ทำบุญ สะท้อนให้เห็นว่า คนไทยยังคงวางแผนออกเดินทางท่องเที่ยว และเลือกที่จะไปแหล่งท่องเที่ยวศาสนาเพื่อไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามประเพณี

โดยแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมช่วงวันหยุดนี้ 10 อันดับแรก ได้แก่ 1.กรุงเทพฯ คาดว่าจะมีผู้เยี่ยมเยือน 415,790 คน 2.ชลบุรี 287,330 คน 3.นครราชสีมา 183,180 คน 4.พระนครศรีอยุธยา 160,170 คน 5.กาญจนบุรี 154,650 คน 6.ภูเก็ต 151,780 คน 7.ประจวบคีรีขันธ์ 136,370 คน 8.ระยอง 135,480 คน 9.นครนายก 87,780 คน และ 10.สระบุรี 87,170 คน

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img