ปี 2563 เป็นปีที่คนทั้งโลกใช้ชีวิตความเป็นอยู่อย่างยากลำบากสุดแสนสาหัสจริงๆ วิกฤติครั้งนี้ทำให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงเศรษฐกิจโดยภาพรวมของทั้งโลกอย่างมหาศาล
…จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในห้วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ระบาดครั้งแรกในเมือง “อู่ฮั่น” ประเทศจีนจนถึงทุกวันนี้การระบาดได้ลามไปทั่วโลก ยังไม่มีทีท่าว่าจะเบาบางลง และในหลายประเทศกลับรุนแรงขึ้น รวมทั้งประเทศไทยเราด้วย และน่าห่วงตรงที่เริ่มมีการกลายพันธุ์บ้างแล้ว
เหนือสิ่งใดวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น จากโรคระบาดที่มาจากไวรัสโควิด-19 นับว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี ในแง่เศรษฐกิจก็ได้รับผลกระทบ ประมาณการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะ -4% ในปีนี้ เนื่องจากเกิดปัญหาการว่างงานและความยากจนเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงเศรษฐกิจไทยอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง
สำหรับประเทศไทยหลายสำนักประเมินว่า เศรษฐกิจปีนี้คาดว่าจีดีพี. -6% ถึง -7% เพราะไม่มีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเลย ส่วนการส่งออกแม้จะกระเตื้องขึ้นบ้าง แต่ก็ไม่มีแรงส่งพอที่จะให้เศรษฐกิจปีนี้เคลื่อนได้อย่างราบรื่น แต่ก็ยังดีที่ได้มาตรการต่างๆ ของรัฐ โดยเฉพาะ “โครงการคนละครึ่ง” และ “เราเที่ยวด้วยกัน” มาช่วยกระตุ้น พอจะทำให้เศรษฐกิจปลายปีคึกคักมาบ้าง
แรกๆ ก็หวังว่าช่วงปลายปีนี้ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่นสำหรับนักท่องเที่ยวและเป็นช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่น่าจะมีเม็ดเงินที่มาจากการท่องเที่ยวของคนไทยด้วยกันเอง และการจับจ่ายใช้สอยช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกเฮือกใหญ่ๆ แต่ก็ต้องฝันสลาย….เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันมีคนติดเชื้อโควิด-19 จาก “ตลาดกุ้ง” จังหวัดสมุทรสาคร ได้แพร่ระบาดขยายวงออกไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว
ธุรกิจท่องเที่ยวย่ำแย่มาตั้งแต่โดนรอบแรกเมื่อต้นปี ต้องแย่หนักกว่าเดิม โรงแรมต่างๆ ที่หวังจะมีโอกาสเปิดรับนักท่องเที่ยวและรายได้จากการจัดงานเลี้ยงเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ ต้องล้มเลิกทันที ส่วนห้างสรรพสินค้าและร้านค้าต่างๆ หวังบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยจะกลับมาคึกคัก ก็ต้องเลิกหวัง
หากย้อนไปดูผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ในรอบปี 2563 จะเห็นว่า กลุ่มคนที่ถูกกระทบมากที่สุดคือ คนส่วนล่างที่มีรายได้หลักจากภาคบริการและธุรกิจท่องเที่ยว ทั้งแรงงานที่ต้องตกงาน จากการที่ผู้ประกอบการขนาดเล็กและรายย่อย ปิดกิจการ ทำให้ขาดรายได้ต้องพึ่งความช่วยเหลือจากมาตรการของภาครัฐที่แม้จะไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ก็ยังดีกว่าไม่ได้ แต่เมื่อเกิดวิกฤติซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยปีนี้ต้องย่ำแย่หนักกว่าเดิม
อันที่จริงเศรษฐกิจไทยเริ่มส่อเค้าถดถอยมาตั้งแต่ปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ระบาด แต่พอเจอแบบนี้ จากเศรษฐกิจที่อ่อนแออยู่แล้ว ต้องกลายเป็นเศรษฐกิจพิการ ไม่สมประกอบทันที จึงมีคำถามตามมาว่า นับจากนี้เศรษฐกิจไทยจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร เพราะยังมีขยะที่ซุกไว้ใต้พรมอีกมากมาย ตั้งแต่ ลูกหนี้ 15 ล้านรายที่ครบกำหนดพักชำระหนี้เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ได้ต่ออายุออกไปอีก 6 เดือน ก็จะเหลือเวลาอีกไม่เกิน 4 เดือนข้างหน้า คำถามคือเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาที่ได้รับความช่วยเหลือ จะมีคนกลับมาจ่ายหนี้สักกี่คน แล้วในส่วนที่ไม่มีศักยภาพชำระหนี้ได้ จะไปต่ออย่างไร
ขณะที่ หนี้ครัวเรือนก่อนโควิด-19 ระบาด สูงถึง 80% ของจีดีพี. คาดว่าตอนนี้น่าจะทะลุเพดานไปไกล จะทำอย่างไร รวมถึง หนี้สาธารณะของรัฐบาล ที่มีเพดานไม่เกิน 60% ของจีดีพี. ตอนนี้ตัวเลขหนี้อยู่ที่ 47% รัฐบาลก็เริ่มแบไต๋ออกมาว่า อาจจะต้องกู้เพิ่ม นั่นแปลว่าเราทุกคนจะต้องแบกหนี้ร่วมกันเพิ่มขึ้น
อย่าลืมว่านักท่องเที่ยวต่างชาติตอนนี้ ไม่มีเข้ามาเลย เทียบกับปีที่แล้วทั้งปี มีนักท่องเที่ยวกว่า 40 ล้านคน นั่นหมายความว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว จะไม่สามารถกลับไปทำงานแบบเดิมๆ ได้อีกอย่างน้อยๆ 4 ปี แล้วจะอยู่กันอย่างไร
แม้ว่าตลอดปี 2563 อาจจะไม่เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ แต่ก็ยังไม่ถึงกับสิ้นหวัง กระทั่งเกิดปรากฏการณ์ “สมุทรสาครเอฟเฟ็ค” ต้องบอกว่า หนทางข้างหน้า…ยิ่งมืดมนหนักขึ้น….ปี 2563 จบไม่สวยจริงๆ
………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง
โดย “ทวี มีเงิน”