วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSแค่แพลมชื่อก็'เลือดเดือด' เก้าอี้'ผู้ว่าฯกทม.' ใครก็อยากได้
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

แค่แพลมชื่อก็’เลือดเดือด’ เก้าอี้’ผู้ว่าฯกทม.’ ใครก็อยากได้

แม้รัฐบาลยังไม่ส่งสัญญาณว่า ปี 64 จะให้มีการเลือกตั้งระดับชาติหรือไม่ ท่ามกลางกระแสการได้เปรียบทางการเมือง แต่ในระดับท้องถิ่นทั้งเทศบาล-องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทั่วประเทศ ต้องมีกระบวนการกาบัตรตามไทม์ไลน์ที่กระทรวงมหาดไทยวางไว้ เพื่อยืนยันว่า รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สนับสนุนกระบวนการกระจายอำนาจ  

หลังจากรัฐบาลได้เปิดไฟเขียว ให้มี การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายกอบจ.) และสมาชิก อบจ. เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. ซึ่งถือเป็นการคืนอำนาจให้ประชาชนในรอบหลายปี และผลการหยั่งเสียงในระดับท้องถิ่นครั้งนี้ ได้สร้างความมั่นใจให้กับ “พลังประชารัฐ (พปชร.)” แกนนำรัฐบาลมากเลยทีเดียว

แม้ “พปชร.” จะไม่ประกาศสนับสนุนใครอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีนักการเมืองท้องถิ่นหลายคน ที่พรรคแกนนำรัฐบาลช่วยดูแล ได้รับชัยชนะถึง 42 คน ในขณะที่ “เพื่อไทย (พท.)” แกนนำพรรคฝ่ายค้านคว้าชัยได้เพียง 9 จังหวัด แต่ที่ผิดหวังสุดๆ คงหนีไม่พ้น “คณะก้าวหน้า” ซึ่งมี “นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” เป็นหัวเรือใหญ่ ในการขับเคลื่อนการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นกลุ่ม ซึ่งบทสรุปพบว่า ตัวแทนก้าวหน้าไม่สามารถคว้าชัยชนะ จากการช่วงชิงเก้าอี้ผู้นำท้องถิ่นได้เลย

โดย “นายธนาธร” ได้ออกมาแถลงข่าวออกตัวว่า “ขอโทษที่ไม่สามารถเข้าไปดำรงตำแหน่งนายก อบจ. แม้แต่ 1 จังหวัด แต่พวกเราได้แสดงให้เห็นความตั้งใจที่จะสร้างการเมืองใหม่ทั้งประเทศ ไม่เฉพาะการเมืองระดับชาติ แต่ลงมาที่ท้องถิ่น”

ประธานคณะก้าวหน้า ยังอ้างว่า คะแนน 2.6 ล้านเสียงที่ได้รับ เป็น “คะแนนที่บริสุทธิ์ และไม่ได้มาจากเครือข่ายผลประโยชน์ นั่นคือสิ่งที่เราภาคภูมิใจในการทำงานตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา”

อย่างไรก็ตาม ความพ่ายแพ้ในครั้งนี้ของ “กลุ่มก้าวหน้า”  หลายฝ่ายเชื่อว่า เกี่ยวข้องกับปรากฎการณ์ที่เครือข่าย “นายธนาธร” เป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุน “ม็อบราษฎร” ซึ่งใช้สัญญลักษณ์ชูสามนิ้ว และหนึ่งในข้อเรียกร้องคือ ปฎิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งคนส่วนใหญ่รับไม่ได้

จึงไม่ใช่เรื่องแปลก เมื่อบรรดาตัวแทนคณะก้าวหน้า ลงพื้นที่หาเสียงการชิงชัยในระดับท้องถิ่น จะเผชิญกระแสต่อต้านจากประชาชนในหลายจังหวัด โดยเฉพาะการเปิดเพลง “หนักแผ่นดิน” และชูป้ายข้อความ ไม่สนับสนุน “พวกล้มสถาบัน”  ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญ ที่นำมาสู่ความล้มเหลวจากการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น  เนื่องจากสังคมมองว่า “นายธนาธร” เป็นเงื่อนไขของความขัดแย้ง ไม่ยอมเล่นตามกติกา ไม่ยอมรับระบบ 

ขณะที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวแสดงความยินดีกับผู้ชนะการเลือกตั้ง อบจ. พร้อมชี้ว่า “นี่คือการใช้อำนาจตามระบอบประชาธิปไตย” เมื่อการเลือกตั้งผลออกมาแล้ว ก็ขอให้ทุกคนเตรียมการบริหารท้องถิ่นให้ดี ทั้งเรื่องของการพัฒนาวิธีการบริหาร การใช้จ่ายงบประมาณ การจัดทำแผนให้สอดคล้องกับส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง / cr พรรคเพื่อไทย

เช่นเดียวกับ “นายประเสริฐ จันทรรวงทอง” เลขาธิการพท. ได้ออกมาแสดงความพอใจกับผลการเลือกตั้ง ซึ่งพท.ชนะใน 9 จังหวัด พร้อมทั้งกล่าวว่า “เราประสบชัยชนะโดยเฉพาะในภาคเหนือและอีสานที่ผู้สมัครนายก อบจ. ของพรรคชนะเป็นส่วนมาก แต่ในภาคกลาง แม้ผู้สมัครได้พยายามทำงานเต็มที่ แต่เนื่องจากเป็นคนหน้าใหม่ จึงไม่ได้รับการเลือกตั้ง แต่ก็ถือว่าได้รับการตอบรับที่มีนัยที่ดี”

จากนี้ไปสนามการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น ซึ่งถูกจับตามองมากที่สุด คงหนีไม้พ้น ศึกชิงเก้าอี้ “ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร” ซึ่งเรียกติดปากว่า “ผู้ว่าฯกทม.” มีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการ ดูแลเมืองหลวงประเทศไทย และมีงบประมาณเพื่อใช้ในผลักดันโครงการต่างๆจำนวนไม่ใช่น้อย อีกทั้งยังมีส่วนสำคัญในการช่วยขยายฐานเสียง ถ้าผู้ว่าฯกทม. มาจากพรรคการเมือง เพราะในพื้นที่กทม.มีส.ส.มากถึง 36 คน 

จึงไม่ใช่เรื่องแปลก เมื่อทุกพรรคหมายปองเก้าอี้สำคัญ อยากเข้าไปบริหารจัดการเมืองหลวงประเทศไทย ซึ่งในอดีต “ประชาธิปัตย์” (ปชป.) มักผูกขาดการยึดครองครองเก้าอี้ “ผู้ว่าฯกทม.”  จนมาเกิดปัญหาในช่วง “ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร” ได้รับเลือกตั้งให้ทำหน้าที่เมืองหลวง แต่ในที่สุดก็มีปัญหาในการบริหาร ถูกปลดพ้นจากตำแหน่ง โดย คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 และมีการแต่งตั้ง “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” เข้าทำหน้าที่ผู้บริหารดูแลเมืองหลวง

อย่างไรก็ตาม หลังผ่านพ้นการเลือกตั้ง อบจ. ไปเรียบร้อยแล้ว ล่าสุดมีข่าวว่า รัฐบาลเตรียมผลักดันให้จัดรเลือกตั้ง “ผู้ว่าฯกทม.” ในเดือนพฤษภาคม 64 แต่คงขึ้นอยู่สถานการณ์การระบาดของ “โควิด-19” ซึ่งต้องจับตาดูว่า เงื่อนเวลาดังกล่าวจะมีปัญหา จนทำให้การจัดเลือกตั้งได้หรือไม่ เพราะกระบวนการใช้สิทธิ์ออกเสียงครั้งนี้ ถือว่ามีความสำคัญ และเกี่ยวข้องกับภาพลักษณ์ของประเทศด้วย

จากไปนี้ไปก็ต้องจับตาดูว่า แต่ละพรรคการเมือง และผู้สมัครที่ไม่สังกัดพรรค ใครจะแสดงเจตน์จำนงค์ลงชิงชัยสู้ศึก “ผู้ว่าฯกทม.” แต่ที่เปิดตัวมาก่อนใครเพื่อน และลงพื้นที่ทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อรักษาฐานคะแนนเสียงให้ตัวเอง คงหนีไม่พ้น “นายชัชชาติ สิทธิพันธ์” อดีตรมว.คมนาคม ในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และเคยเป็นแกนนำพท. ซึ่งได้รับการยอมรับจาก “นายทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯและ “คุณหญิงพจมาน ดามาพงษ์” ค่อนข้างมาก

นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ / cr FB ชชาติ สิทธิพันธ์

“นายชัชชาติ” ยืนยันจะลงสมัครชิงเก้าผู้ว่าฯกทม. แบบไม่สังกัดพรรค เพื่อไม่ให้ถูกมองว่า เป็นตัวแทนพรรคการเมืองใด เพราะถ้าได้รับเลือกตั้ง ได้เข้ามาดูแลเมืองหลวง จะได้ไม่มีข้อจำกัดในการทำงาน แต่อีกเหตุผลหนึ่งคือ พท.มีปัญหาฐานเสียงในพื้นที่เมืองหลวง ยิ่งประกาศจุดยืนสนับสนุน “ม็อบสามนิ้ว” ยิ่งทำให้ “อดีตรมว.คมนาคม” มองออกว่า อาจจะเป็นปัญหาและกระทบกับฐานคะแนนเสียง 

ยิ่งชะตากรรม “นายธนาธร” และตัวแทนจากคณะก้าวหน้า จากผลการเลือกตั้งนายก อบจ. ก็ยังกลายเป็นบทเรียนสำคัญ ตามหลอกหลอนบรรดาพรรคการเมือง ยิ่งถ้าเกี่ยวข้องกับสถาบัน ยิ่งต้องระมัดระวัง เพราะเกี่ยวข้องกับความเชื่อของคนไทย ที่มีความจงรักภักดี

ส่วนที่ประกาศตัวอย่างไม่เป็นทางการว่า สนใจลงชิงชัยในการทำหน้าที่ ดูแลเมืองหลวงประเทศไทย คงหนีไม้พ้น “บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผบ.ตร. ซึ่งมีข่าวว่า อดีตนายตำรวจที่เพิ่งเกษียณอายุราชการ จะลงสมัครแบบอิสระไม่สังกัดพรรค แต่พรรคแกนนำรัฐบาล “พปชร.” จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ แม้จะมีมติไม่ส่งบุคคลลงชิงชัยในตำแหน่งสำคัญ

ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ / cr KMITL

ส่วนพรรคการเมืองเก่าแก่อย่าง “ประชาธิปัตย์ (ปชป.) นั้น แม้จะยังไม่มีมติอย่างเป็นทางการ แต่มีข่าวแกนนำพรรคได้พยายามทาบทาม “ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์” อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) หรือที่ทุกคนเรียกติดปากว่า “ดร.เอ้” ลงชิงชัยในการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ซึ่งนักวิชาการรายนี้ถือว่า ได้รับการยอมรับจากคนรุ่นใหม่ อีกทั้งยังผลักดันแนวคิดการแก้ไขปัญหาของเมืองหลวงอย่างต่อเนื่อง

งานนี้ต้องจับตาดูว่า อธิการบดีสจล. จะเซย์เยสกับ ปชป.หรือไม่ หลังจากพลาดหวัง กับความพยายามทาบทาม “บิ๊กแป๊ะ” ลงสมัครในนามพรรค ซึ่งเชื่อว่า พรรคการเมืองเก่าแก่ทีสุดคงไม่ยอม ทิ้งเก้าอี้ “ผู้ว่าฯกทม.” ให้พรรคการเมืองอื่นได้ช่วงชิงกัน โดยที่ตนเองไม่มีส่วนรวมแน่ๆ

ขณะที่ พท. ในฐานะ พรรคแกนนำฝ่ายค้าน หลังจาก “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์” แยกตัวออกไปก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ เนื่องจากถูกลดอำนาจและบทบาทลง ภายหลัง “คุณหญิงพจมาน” เข้ามาควบคุมการบริหารพรรค มีความเป็นไปได้ว่า จะไม่ส่งบุคคลเข้าลงชิงชัยในตำแหน่งสำคัญ เพราะทั้งนายใหญ่และนายหญิง ล้วนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับ “นายชัชชาติ”

หลัง “คุณหญิงสุดารัตน์” เคยยืนกรานว่า พท.ต้องส่งบุคคลลงสู้ศึกในการสนามเลือกตั้ง “ผู้ว่ากทม.” เพราะเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญ และมีความหมายต่อพรรค แต่เมื่อนักการเมืองหญิงฉายา “สวยแต่เจ็บ” พ้นสภาพการเป็นสมาชิกพท.แล้ว แนวทางในการชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯกทม.คงเปลี่ยนไป 

แต่ถึงแม้วันนี้ยังไม่มีความชัดเจนจาก “พรรคก้าวไกล (กก.)” ที่มี “นายธนาธร” คอยคุมบังเหียนอยู่ แต่เชื่อว่า นักการเมืองที่มีบทบาทสำคัญ กับการสนับสนุน “ม็อบสามนิ้ว” คงไม่ยอมเป็นเพียงผู้ดู ต้องส่งคนลงชิงชัยในสนามเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้แน่ ด้วยเชื่อมั่นในพลังการสนับสนุนของเยาวชนและคนรุ่นใหม่ ที่มีสิทธิ์ในการเลือกตั้ง

แต่ไม่ว่าจะสั่งใครลงสมัครก็ตาม ศึกชิงเก้าอี้ “ผู้ว่าฯกทม.” ที่จะเกิดขึ้น ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า จะเข้มข้นดุเดือดไม่แพ้การสู้ศึกในอดีตแน่ เพราะแค่ปรากฎชื่อ “ชัชชาติ” และ “บิ๊กแป๊ะ” ก็เรียกว่า งานนี้ข้นคลั่กแล้ว แถมยังอาจได้ “ดร.เอ้” ลงชิงชัยด้วย งานนี้กระพริบตาไม่ได้ทีเดียว

………………………………….

คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก

โดย : “แมวสีขาว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img