จากรายงานของ Global Report on Food Crises 2022 ล่าสุดระบุว่า ประชากรเกือบ 193 ล้านคนใน 53 ประเทศ กำลังเผชิญกับปัญหาความไม่มั่นคงด้านอาหาร อย่างเฉียบพลัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาเกือบ 40 ล้านคน ความรุนแรงของปัญหาที่เกิดขึ้นอาจเรียกได้ว่าเข้าขั้นวิกฤต และเป็นสัญญาณเตือนถึงคลื่นลูกใหญ่ที่กำลังจะตามมา
BOT MAGAZINE ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เผยแพร่บทความเรื่อง “วิกฤตอาหารโลก” สัญญาณเตือนภัยครั้งใหญ่ โดยระบุว่า ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้เขียนถึงสาเหตุของวิกฤตอาหารโลกที่เกิดขึ้นครั้งนี้ 3 ประการ ได้แก่ ผลพวงจากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน เนื่องจากทั้งสองประเทศเป็นผู้ผลิตและส่งออกวัตถุดิบเพื่อนำไปประกอบอาหารรายใหญ่ของโลก เช่น ข้าวสาลี ซึ่งคิดเป็น 30% ของโลก การสู้รบที่เกิดขึ้นทำให้ไม่สามารถเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ราคาปุ๋ยแพงขึ้น
เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ส่งออกวัตถุดิบสำหรับทำปุ๋ยรายใหญ่ เมื่อปุ๋ยแพง สินค้าเกษตรก็แพงตามไปด้วย และสุดท้ายคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ส่งผลให้จำนวนผลผลิตทางการเกษตรของแต่ละประเทศลดลง ซึ่งแนวโน้มนี้เกิดขึ้นก่อนที่สงครามจะปะทุ และแนวโน้มอุณหภูมิของโลกที่เพิ่มขึ้นต่อไปจะยิ่งส่งผลกระทบที่รุนแรงขึ้น
โครงการอาหารโลก (World Food Programme : WFP) วิเคราะห์ถึงต้นตอของปัญหาวิกฤตอาหารโลกที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จาก 3 ส่วนหลักเช่นกัน คือความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนและชาติตะวันตก ทำให้ผู้คนจำนวน 139 ล้านคนใน 24 ประเทศเกิดความไม่มั่นคงด้านอาหารเฉียบพลัน เพิ่มขึ้นจาก 99 ล้านคนในปีก่อน ขณะที่สภาพอากาศที่เลวร้ายส่งผลกระทบกับ 23 ล้านคนใน 8 ประเทศ เพิ่มขึ้นจาก 15.7 ล้านคน และผู้คนมากกว่า 30 ล้านคนใน 21 ประเทศ ลดลงจาก 40 ล้านคนใน 17 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด 19
“ความหิวโหยเฉียบพลันกำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน และสถานการณ์ทั่วโลกก็เลวร้ายลงเรื่อย ๆ ความขัดแย้ง วิกฤตสภาพภูมิอากาศ โควิด-19 ค่าอาหารและเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงขึ้น ได้ก่อให้เกิดพายุหลายลูกที่ถาโถมเข้ามาพร้อม ๆ กัน และตอนนี้ภัยพิบัติได้ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ผู้คนหลายล้านคนในหลายสิบประเทศกำลังเผชิญกับความอดอยาก” Mr. David Beasley กรรมการบริหาร โครงการอาหารโลกกล่าว
จากปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้ราคาสินค้าเกษตรและอาหารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations : FAO) เปิดเผยรายงานระบุว่า ดัชนีราคาอาหาร (Food Price Index) ในปี 2564 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 125.7 เพิ่มขึ้น 28.1% เมื่อเทียบกับปี 2563 และถือเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2554 ที่แตะระดับ 131.9 และแนวโน้มในปี 2565 ดัชนีราคาอาหารยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเดือนเมษายนเพิ่มขึ้นเกือบ 30% เมื่อเทียบกับเมษายนปีก่อน
ราคาอาหารที่แพงขึ้นนำไปสู่ความไม่มั่นคงด้านอาหาร ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อประเทศที่มีรายได้น้อย เพราะการซื้ออาหารคิดเป็นครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ข้อมูลจากธนาคารโลกระบุว่า ผู้คนราว 10 ล้านคนทั่วโลกจะถูกผลักไปสู่สถานะที่ยากจนขึ้น เมื่อราคาสินค้าปรับขึ้นทุก 1% โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก FAO ระบุว่า มีผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตอาหารแพงและขาดแคลนอาหารมากถึง 1,800 ล้านคน
หลายประเทศโดยเฉพาะประเทศตลาดเกิดใหม่ ความไม่มั่นคงด้านอาหารเป็นสาเหตุของความไม่สงบทางสังคมและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ราคาอาหารและพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นก่อให้เกิดการประท้วงในศรีลังกา ตูนิเซีย และเปรู แม้กระทั่งประเทศอุตสาหกรรมหลักอย่างอังกฤษและฝรั่งเศสก็มีมาตรการแจกคูปองอาหารให้กับครัวเรือนที่ยากจน
วิกฤตที่เกิดขึ้นยังทำให้ประเทศผู้ผลิตอาหารออกนโยบาย “ห้ามส่งออก” เพื่อรักษาสมดุลอาหารของคนในประเทศ ซึ่งนอกจากรัสเซียและยูเครนแล้ว อินโดนีเซียยังห้ามส่งออกน้ำมันปาล์ม คาซัคสถานจำกัดการส่งออกข้าวสาลีชั่วคราว อาร์เจนตินาจำกัดการส่งออกเนื้อวัว อินเดียประกาศห้ามส่งออกข้าวสาลี และล่าสุดมาเลเซียห้ามส่งออกเนื้อไก่ จนทำให้ข้าวมันไก่ อาหารประจำชาติสิงคโปร์ต้องขาดตลาด
ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าแนวโน้มดัชนีราคาอาหารยังคงทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่องถึงปี 2567 ขณะที่เครือข่ายต่อต้านวิกฤตอาหารโลก2 มองว่า แนวโน้มวิกฤตอาหารโลกยังคงดำเนินต่อไป และทวีความน่ากลัวมากขึ้นจากความขัดแย้ง ความยากลำบากทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และภัยคุกคามจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย
“ความยืดเยื้อของวิกฤตการณ์อาหาร แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจในระยะยาว ความขัดแย้งและความไม่มั่นคงที่เพิ่มขึ้น กำลังบั่นทอนความยืดหยุ่นของระบบเกษตรและอาหาร หากกระแสไม่ตีกลับ วิกฤตการณ์อาหารจะเพิ่มความถี่และความรุนแรง” แถลงการณ์จากเครือข่ายต่อต้านวิกฤตอาหารโลกระบุ
เพื่อจัดการกับปัญหาที่ท้าทายเหล่านี้ เครือข่ายทั่วโลกกำลังพยายามยกระดับการส่งเสริมระบบเกษตรและอาหารที่ยืดหยุ่น ตอบโจทย์สังคม สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายเพื่อเลี้ยงดูผู้คนกว่า 8,500 ล้านคนอย่างมีคุณค่าทางโภชนาการ มีความเท่าเทียม และสม่ำเสมอภายในปี 2573 ซึ่งจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระบบเกษตรและอาหารของโลกเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น
ข้อมูล: BOT MAGAZINE