วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlightรัฐบาลเมียนมาอนุมัติ'ปตท.สผ.' ผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

รัฐบาลเมียนมาอนุมัติ’ปตท.สผ.’ ผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ

“ปตท.สผ.” ได้รับอนุมัติสิทธิ์การพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติในเมียนมา ถือเป็นก้าวสำคัญในการเข้าไปลงทุนธุรกิจก๊าซธรรมชาติครบวงจรในเมียนมา ตามแผนกลยุทธ์ “Execute & Expand” มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.63 บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ “ปตท.สผ.” ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลเมียนมา ให้เดินหน้าพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติในเมียนมา (Integrated Domestic Gas to Power) เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศเมียนมา รวมทั้งยังเป็นโอกาสในการขยายการลงทุนไปในธุรกิจใหม่ตามแผนงานของบริษัท

นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปตท.สผ. เปิดเผยว่า บริษัทได้ลงนามในหนังสืออนุญาตให้เริ่มดำเนินงาน (Notice to Proceed) ของโครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติในเมียนมา กับ “นายตัน ซอ” ปลัดกระทรวงไฟฟ้าและพลังงาน ประเทศเมียนมา เพื่อนำก๊าซธรรมชาติจากโครงการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวเมาะตะมะ ซึ่ง “ปตท.สผ.” เป็นผู้ดำเนินการ มาใช้ในการผลิตไฟฟ้าในราคาที่เหมาะสมให้กับประเทศเมียนมา โดยเริ่มแรกจะนำก๊าซฯ จากโครงการซอติก้า และโครงการเมียนมา เอ็ม3 มาใช้ในการผลิตไฟฟ้าในโครงการดังกล่าว

“การได้รับสิทธิ์ให้ดำเนินการในโครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติในเมียนมา ถือเป็นก้าวสำคัญของบริษัทในการเข้าไปลงทุนธุรกิจก๊าซธรรมชาติครบวงจรในเมียนมา ตามแผนกลยุทธ์ “Execute & Expand” ซึ่งจะสร้างการเติบโตอย่างมั่นคงให้กับ ปตท.สผ. ในระยะยาว โครงการนี้ยังช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับเมียนมาตามแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืนและแผนแม่บทด้านพลังงานของรัฐบาลเมียนมาที่ต้องการให้ทุกครัวเรือนสามารถเข้าถึงไฟฟ้าได้ภายในปี 2573″นายพงศธร กล่าว

โครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติในเมียนมา เป็นการลงทุนด้านพลังงานแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงการผลิตไฟฟ้า โดยมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติ การก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ขนาดกำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ ในเขตไจลัท ภูมิภาคอิรวดี การก่อสร้างระบบท่อขนส่งก๊าซฯ ทั้งในทะเลและบนบก จากเมืองกันบก-เมืองดอร์เนียน-เมืองไจลัท รวมระยะทางประมาณ 370 กิโลเมตร และการวางระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงจากเขตไจลัทไปยังเขตลานทายาในภูมิภาคย่างกุ้ง โดย ปตท.สผ. คาดว่าจะสามารถตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (Final Investment Decision) ในช่วงต้นปี 2565

สำหรับกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าดังกล่าว คิดเป็นประมาณร้อยละ 10 ของกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมในประเทศเมียนมาในปัจจุบัน โดยกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ จะจำหน่ายให้กับหน่วยงานด้านไฟฟ้าของประเทศเมียนมา (Electric Power Generation Enterprise) โดยมีระยะเวลาสัญญา 20 ปี และสามารถต่ออายุสัญญาได้ 5 ปี นับจากวันเริ่มขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img