เปิดศักราชใหม่เข้าสู่ปีวัว หรือปีฉลู… อย่างเป็นทางการกันแล้ว ส่วนจะเป็นปี “ฉลูทอง” หรือปี “วัวทอง” หรือไม่ ? ณ เวลานี้ ถ้าว่ากันตามข้อเท็จจริง ยังไม่มีใครบอกได้ !!
แต่หากว่ากันตามโหราศาตร์ หรือตามตำราหมอดูแล้ว… จะบอกว่าปีนี้เป็นปี “ฉลูทอง” เพราะ 60 ปีจึงจะเวียนมาบรรจบสักครั้งหนึ่ง เช่นเดียวกับปีชวดที่ผ่านมา ก็เป็นปี “หนูทอง” เช่นกัน
เหตุผลสำคัญ!!! ทางโหราศาสตร์จีน ที่จะศึกษาหลักการของธาตุทั้ง 5 บนโลก คือ ไม้ ไฟ ดิน ทอง และ น้ำ โดยดูได้จากปีที่ผ่านมา ราคาทองคำก็พุ่งพรวด และยังเชื่อได้ว่าใน “ปีวัวทอง” นี้ ราคาทองยังคงพุ่งทะยานต่อเนื่องเช่นกัน
ล่าสุด “วายแอลจี” ผู้นำเข้าและส่งออกทองคำแท่งรายใหญ่ของไทย ประเมินตลาดทองคำปี 2564 ยังคงคึกคักต่อเนื่องจากปี 2563 คาดราคาทองมีโอกาสแตะ 1,950-2,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ โดยเฉพาะหากสามารถผ่าน 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ไปได้ จะเป็นสัญญาณชี้ชัดว่า “ทองคำ” จะมีโอกาสทดสอบระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ บริเวณ 2,075 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จากที่เคยขึ้นไปทดสอบในช่วงเดือนส.ค.63 ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ในทางเศรษฐศาสตร์ ในทางความเป็นจริง เมื่อดูจากสารพัดปัจจัยลบ ปัจจัยบวกที่มีผลต่อระบบเศรษฐกิจของโลก ของเพื่อนบ้านและของไทย แล้ว เรื่องของ “ความเชื่อมั่น” ถือเป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะทำให้ปีวัวปีนี้ เป็น “ปีวัวทอง” หรือ “ปีวัวไฟ” กันแน่!!
ทั้งหมด…ก็ต้องมาตามติดในเรื่องของการควบคุมการแพร่ระบาดรอบสอง ของ “ไวรัสโควิด-19” ว่าจะ “ยาวนาน” หรือจะ “ใช้เวลาไม่ถึงเดือน” หากคุมได้เร็วความเสียหายต่อเศรษฐกิจก็น้อยลง
ขณะเดียวกัน “วัคซีน” เข็มแรก ที่มีกำหนดการมาถึงมือไทยในเดือนมิ.ย.64 นี้ จะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ คนไทยจะได้ฉีดวัคซีนกันถ้วนหน้า ถ้วนน้อย เพียงใด เรื่องเหล่านี้เกี่ยวข้องกับความเชื่อมั่นทั้งสิ้น
อย่าลืมว่า ผลของไวรัสโควิด-19 ได้ทำให้โลกทั้งโลกเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง และฉุดให้เศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำ โครงสร้างของธุรกิจและเศรษฐกิจ เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การค้า การขาย ที่ไม่สามารถทำในรูปแบบเดิม ๆ ได้ แต่ต้องแปรเปลี่ยนรูปแบบมาสู่การค้าการขายแบบอี-คอมเมิร์ซ เพิ่มมากขึ้น และมีการคาดการณ์จากสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย ว่าใน “ปีวัวทอง” นี้ ตลาดอี-คอมเมิร์ซไทย จะมีมูลค่าเพิ่มเป็น 3.2 แสนล้านบาท
ไม่เพียงเท่านี้!! ต้องดูปัจจัยอื่นประกอบด้วยว่า เครื่องยนต์ที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายให้เป็นหลักในการฟื้นเศรษฐกิจ ทั้งเรื่องของการลงทุนภาครัฐ เรื่องของการบริโภคภายในประเทศ จะตรงเป้าหมายเพียงใด
เพราะอย่าลืมว่าการพึ่งพาเศรษฐกิจจากภายนอก หรือจากต่างประเทศ ที่เคยทำมาตลอด คงเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องการ “ท่องเที่ยว” ที่ตราบใดเรื่องการแพร่ระบาดโควิด ไม่คลี่คลาย ก็ไม่มีทางกลับมาเหมือนเดิม
จึงกลายเป็นคำตอบของคำถามที่ว่า…เศรษฐกิจไทยจะฟื้นกลับมาเหมือนเดิมหรือไม่? เพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต้องใช้เวลา เพราะที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าไวรัสร้ายโควิด ได้ทำให้ไทยเกิด “หลุมดำ” ขนาดใหญ่ และมหาศาลทีเดียว
มีคำตอบจากผู้ว่าการแบงก์ชาติ อย่าง “ดร.นก-เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ที่ตอบไว้ชัดเจนว่า เศรษฐกิจไทยต้องใช้เวลาอย่างน้อยไปถึงไตรมาส 3 ของปี 65 หรืออีกเกือบ 2 ปี จึงจะกลับมาเป็นปกติเหมือนช่วงก่อนเกิดโควิด
ด้วยเพราะโครงสร้างเศรษฐกิจไทยเวลานี้ ต้องพึ่งพิงรายได้จากต่างประเทศมาก ทั้งการท่องเที่ยวและการส่งออก จึงทำให้เกิดผลกระทบหนักกว่าคนอื่น ที่สำคัญยังถูกซ้ำเติมด้วยหนี้ครัวเรือนที่สูง ที่เวลานี้มีสัดส่วนมากถึง 84% ของจีดีพี
อย่างไรก็ตาม เมื่อมาดูปัจจัยเรื่องของ “วัคซีน” ที่เป็นปัจจัยหลักในการเรียกความเชื่อมั่น ที่เข้ามาในเดือนมิ.ย.64 นั่นหมายความว่า ในช่วงครึ่งปีแรกของปีวัวนี้ เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับภาวะความไม่แน่นอนที่สูง
ดังนั้นสิ่งที่ทำให้คนไทยทั้งประเทศอยู่รอดต่อไปได้ ย่อมขึ้นอยู่กับการรับมือของ “ผู้บริหารประเทศ” และหน่วยงานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แม้กระทรวงการคลังได้ออกมาระบุไว้ชัดเจนว่า ณ เวลานี้ ยังไม่จำเป็นต้องออกมาตรการใหม่มารองรับการ “ระบาดใหม่”
เพราะยังมีเงินมีงบประมาณ ไม่ว่าจะเป็นงบกลาง หรืองบจากวงเงินกู้ตามพ.ร.ก. 1 ล้านล้านบาท รองรับได้อย่างเพียงพอ แต่ก็อย่าลืมว่า หากเราไม่สามารถจัดการกับการแพร่ระบาดรอบใหม่ได้อย่างอยู่หมัด “ความเสี่ยง” จึงมีอยู่สูงมาก
ณ ปัจจุบันการแพร่ระบาดรอบใหม่กระจายไปแล้ว 45 จังหวัด การติดเชื้อในแต่ละวันเพิ่มเป็นหลักร้อยคน หากไม่จัดการไม่ทำอะไรเลยภายในกลางเดือนม.ค.นี้ ยอดคนติดเชื้อไวรัสโควิด 19 จะทะยานสูงถึง 18,000 คนทีเดียว
ปัจจัยใหญ่ที่ภาครัฐต้องเข้มงวด ต้องดูแล คือเรื่องของ “การเร่งใช้เงิน” ที่ต้องผลักดันลงสู่ระบบเศรษฐกิจให้ได้มากที่สุด และการผลักดันนั้นต้องลงระบบโดยที่ไม่มีการทุจริต ไม่มีใต้โต๊ะ ซึ่งในความเป็นจริง ก็เป็นไปไม่ได้ แต่จะทำอย่างไรให้เกิดขึ้นให้น้อยที่สุด
แม้ว่าทิศทางเศรษฐกิจของไทยในปี 64 นี้จะกลับมาเติบโตเป็นบวก ด้วยเพราะฐานที่ต่ำจากปี 63 ที่คาดว่าจะติดลบ 6% ขณะที่ผลจากการออกมาตรการมาประคับประคอง รวมถึงกระตุ้นเศรษฐกิจ และแนวโน้มการค้าโลก ปัจจัยจากต่างประเทศจะดีขึ้น
แต่อย่าลืมว่า ณ เวลานี้ การควบคุมการระบาดรอบใหม่ของไวรัสโควิด 19 ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด หากพลาด ทำไม่ได้ จากที่คาดการณ์กันไว้ว่าจีดีพีจะเติบโต อาจไม่ได้ดั่งหวัง และทำให้ ปีวัวทอง กลายเป็นปี “วัวไฟ” อย่างที่หลายคนหวาดระแวงก็เป็นไปได้!!
……………………………
คอลัมน์ : EC Focus by Virgo