วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSเปลี่ยน'ขยะพลาสติก'เป็นเชื้อเพลิง
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เปลี่ยน’ขยะพลาสติก’เป็นเชื้อเพลิง

การจัดการกับ ขยะพลาสติก มี 2 หลัก รีไซเคิล กับ นำมาผลิตเชื้อเพลิง ดูเหมือนการรีไซเคิลจะเทียบไม่ได้กับการนำมาเปลี่ยนเป็นแหล่งพลังงาน อาจกลายเป็นนโยบายในที่สุด..

ปัญหาขยะพลาสติก และ การจัดการขยะพลาสติก กลายเป็นประเด็นระดับโลกที่ผู้คนต่างคำนึงถึง โดยเฉพาะปัญหาไมโครพลาสติกที่ปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม ปนเปื้อนอยู่ในทะเล อาจส่งผลกระทบร้ายแรง ในประเด็นห่วงโซ่อาหาร กลับมาทำร้ายมนุษยชาติหรือไม่

การรีไซเคิลขยะพลาสติก เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ในรูปแบบของผลิตภัณฑ์พลาสติกอีกครั้งนั้น มิได้ง่าย และยังไม่ตอบโจทย์ เนื่องจากยังคงมีขยะพลาสติกส่วนเกิน ส่วนเหลือ และส่วนที่ทำรีไซเคิลไม่ได้ อีกเป็นจำนวนมาก และมากกว่ากว่าส่วนที่รีไซเคิลได้อีกต่างหาก สุดท้ายไปลงเอยที่การฝังกลบ จึงถือว่า การจัดการขยะพลาสติกด้วยการรีไซเคิลนั้น ยังไปไม่ถึงสุดทาง กระบวนการจึงยังไม่จบ ปัญหาไมโครพลาสติกปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ยังไม่ได้รับการแก้ไข

ดังนั้น การปรับเปลี่ยนแนวทางหลักในการจัดการ ขยะพลาสติก ด้วยการนำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงในรูปแบบต่าง ๆ อาจกลายเป็นความจำเป็นที่ขาดไม่ได้ในอนาคตอันใกล้ เพื่อจบกระบวนการไปให้สุดทาง ซึ่งภาครัฐสมควรยกระดับกำหนดให้ “การเปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นเชื้อเพลิง” เป็นแนวทางหลักในระดับนโยบาย มิใช่เป็นเพียงกลยุทธ์เท่านั้น เพราะมันสำคัญต่อคุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อมอย่างยิ่ง

เป็นที่ทราบกันว่า ปัจจุบัน บริษัทเอกชนมากมาย มีส่วนร่วมในการต่อสู้เพื่อยุติปัญหา ขยะพลาสติก มีบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องกับ การบรรจุภัณฑ์ การคัดแยก และการรวบรวมพลาสติกจำนวนมากอยู่แล้ว

ในประเทศไทย มีบริษัทจำกัดมากมายที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับการรีไซเคิลขยะพลาสติก ซึ่งมันยังไม่พอในกระบวนการจัดการภาพรวม แต่ก็จะมีอะไรอีกหรือไม่ที่จะสามารถจุดประกายการเปลี่ยนแปลงได้ ในขณะที่ การเปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นเชื้อเพลิง อาจกลายเป็นแนวทางใหม่ที่มีแนวโน้มจะได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานภาครัฐ

ในสังคมสมัยใหม่ การพึ่งพาผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากพลาสติกในชีวิตประจำวันกลายเป็นความจำเป็นของมนุษยชาติ จึงมีแนวโน้มที่สังคมภาพรวมจะสามารถผลิตขยะ รวบรวม ขยะพลาสติก ได้จำนวนมากในแต่ละปี ตั้งแต่บรรจุภัณฑ์พลาสติก ไปจนถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก หรือขนาดกลาง

ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ บางครั้งยากที่จะแยก และรีไซเคิลอย่างถูกต้อง เกือบหนึ่งในสี่ของผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด ทำด้วยโพลีโพรพีลีน นักวิจัยบางคนคิดวิธีเปลี่ยนผลิตภัณฑ์โพลีโพรพีลีน เป็นน้ำมัน และเชื้อเพลิง ด้วยต้นทุนที่ไม่แพงมากได้แล้ว

“ตามรายงานของกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ นั้น ในสหรัฐฯ ประเทศเดียว 10 ปีที่ผ่านมา มีการจัดการทรัพยากรที่เป็นขยะ และเศษอาหารมากกว่าเฉลี่ย 32 ล้านเมตริกตันต่อปี ไปยังหลุมฝังกลบ หรือประมาณ 70 ล้านล้านปอนด์ของขยะต่อปีถูกนำไปฝังกลบ” Uisung Lee นักวิเคราะห์ระบบพลังงานของ Argonne National Laboratory กล่าว

ทำไมต้องเปลี่ยนพลาสติกเป็นเชื้อเพลิง? ..

นักวิจัยส่วนใหญ่พบว่า มี การรีไซเคิลขยะพลาสติก ในสัดส่วนที่น้อยมาก และน้อยกว่า 5% ในแต่ละปี ขยะพลาสติกเหล่านี้ ทำให้มหาสมุทรกลายเป็นปัญหาใหญ่ และนักวิจัยเชื่อว่า จะต้องใช้เวลามากกว่า 450 ปีในการย่อยสลายทางชีวภาพ หากเป็นเช่นนั้น ธุรกิจ โรงงาน และสิ่งอำนวยความสะดวก ที่จะมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงพลาสติกเป็นเชื้อเพลิง จะถือว่ามีศักยภาพที่จะสามารถสร้างงานใหม่ ๆ เฉพาะในสหรัฐฯ ประเทศเดียว ได้มากกว่า 39,000 ตำแหน่ง และผลผลิตทางเศรษฐกิจได้สูงถึง 9 พันล้านดอลลาร์

สิ่งเหล่านี้เป็นผลดีทางเศรษฐกิจของทุก ๆ ประเทศ ในขณะเดียวกันก็จะเป็นวิธีใหม่ ๆ ในการนำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งมิใช่การรีไซเคิล แต่เป็นการนำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิง รวมทั้งเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมของเราพร้อมไปด้วย ดังนั้น การจัดการกับขยะพลาสติก โดยการเลือกที่จะการเปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นเชื้อเพลิง น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการนำ ขยะพลาสติก มารีไซเคิล

ปัญหาไมโครพลาสติก (Microplastics) คืออะไร

ไมโครพลาสติก (Microplastics) คือ อนุภาคพลาสติกที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร มักเกิดจากการย่อยสลายหรือแตกหักของขยะพลาสติกขนาดใหญ่ หรือเกิดจากพลาสติกที่มีการสร้างให้มีขนาดเล็ก เพื่อให้เหมาะกับวัตถุประสงค์การใช้งาน ส่วนใหญ่มีรูปร่างทรงกลม ทรงรี หรือบางครั้งมีรูปร่างไม่แน่นอน

โดยไมโครพลาสติกสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ

  1. Primary Microplastics เป็นพลาสติกที่ถูกผลิตให้มีขนาดเล็กมาตั้งแต่ต้น เพื่อการใช้ประโยชน์เฉพาะด้าน เช่น เม็ดพลาสติกที่นำมาใช้เป็นวัสดุตั้งต้นของการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก (Plastic Pellet) เม็ดพลาสติกที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้า เครื่องสำอาง หรือยาสีฟัน (Plastic Scrub) ซึ่งมักเรียกกันว่า ไมโครบีดส์ (Microbeads) หรือเม็ดสครับ ไมโครพลาสติกประเภทนี้สามารถแพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อมทางทะเลจากการทิ้งของเสียโดยตรงจากบ้านเรือนสู่แหล่งน้ำและไหลลงสู่ทะเล
  • Secondary Microplastics เป็นพลาสติกที่เกิดจากพลาสติกที่มีขนาดใหญ่ หรือมาโครพลาสติก (Macroplastic) ซึ่งสะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อมเป็นเวลานานเกิดการย่อยสลายหรือแตกหัก โดยกระบวนการย่อยสลายพลาสติกขนาดใหญ่ให้กลายเป็นพลาสติกขนาดเล็กนี้สามารถเกิดได้ทั้งกระบวนการย่อยสลายทางกล (Mechanical Degradation) กระบวนการย่อยสลายทางเคมี (Chemical degradation) กระบวนการย่อยสลายทางชีวภาพ (Biological Degradation) และกระบวนการย่อยสลายด้วยแสงอาทิตย์ ((UV Degradation) ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะทำให้สารแต่งเติมในพลาสติกหลุดออก ส่งผลให้โครงสร้างของพลาสติกเกิดการแตกตัวจนมีขนาดเล็ก กลายเป็นสารแขวนลอยปะปนอยู่ในแม่น้ำและทะเล

ปัจจุบัน ไมโครพลาสติก กลายเป็นปัญหามลพิษทางทะเลที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล และชายฝั่งทั่วโลก เนื่องจากมีขนาดเล็กมาก ทำให้ยากต่อการเก็บ และการกำจัด รวมถึงมีคุณสมบัติที่คงสภาพ ย่อยสลายได้ยาก เมื่อมีการระบายน้ำที่ผ่านการบำบัดน้ำเสียลงสู่สิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ ไมโครพลาสติก สามารถปนเปื้อน แพร่กระจาย สะสม และตกค้างในสิ่งแวดล้อมได้ง่าย โดยการแพร่กระจายของ ไมโครพลาสติก ในสิ่งแวดล้อมทางทะเลพบได้ทั้งในน้ำ และตะกอนดิน

หากสิ่งมีชีวิตในทะเลกินเอา ไมโครพลาสติก เข้าไป ทำให้เกิดการสะสมในห่วงโซ่อาหาร (Food Chain) และสามารถถ่ายทอดไปตามลำดับขั้นของการบริโภคอาหารในระบบนิเวศ ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ และการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต เนื่องจากมีรายงานเกี่ยวกับผลกระทบต่อร่างกายในสัตว์ที่กินเม็ด ไมโครพลาสติก เข้าไป เช่น การทำลายเนื้อเยื่อหลอดเลือด และมีผลกระทบต่อระบบหัวใจ

อีกทั้ง ยังมีรายงานเกี่ยวกับสารที่เป็นองค์ประกอบ และพบการปนเปื้อนอยู่ในไมโครพลาสติกมักเป็นสารพวกโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs) โพลีคลอริเนตไบฟีนิล (PCBs) ดีดีที (DDT) และไดออกซิน ซึ่งเป็นสารพิษที่สามารถก่อให้เกิดมะเร็งได้

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานไมโครพลาสติกก่อให้เกิดผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ จากการได้รับผ่านทางห่วงโซ่อาหาร ซึ่งนักวิจัยทั่วโลกกำลังศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเสี่ยงในการสะสมของสารพิษ และการถ่ายทอดของสารปนเปื้อนในไมโครพลาสติกสู่มนุษย์ รวมถึงผลกระทบต่อสุขภาพ เพื่อให้ได้ข้อมูลทางวิชาการที่ถูกต้องในอนาคต

และจากผลกระทบข้างต้น วิธีการหนึ่งที่ทุกคนสามารถช่วยลดปริมาณ ไมโครพลาสติก ไม่ให้แพร่กระจายในสิ่งแวดล้อมได้ง่าย ๆ คือ การสร้างจิตสำนึกและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลาสติกในชีวิตประจำวันให้น้อยลง รวมทั้งบริหารจัดการขยะพลาสติกอย่างถูกต้อง และไปให้สุดทาง นั่นเอง

ข้อดีการเปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นเชื้อเพลิง

ข้อได้เปรียบบางประการของการเปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นเชื้อเพลิง เมื่อเทียบกับ การรีไซเคิลขยะพลาสติก ได้แก่ :-

-ราคาถูก

-โรงงานที่เปลี่ยนขยะเป็นเชื้อเพลิงนั้น กำลังผลิตเชื้อเพลิงจากวัสดุที่ติดไฟได้ วัสดุเหล่านี้เช่นกระดาษที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ พลาสติก เศษไม้ และสิ่งทอ ล้วนยากที่จะรีไซเคิล หรือรีไซเคิลไม่ได้ นี่เป็นการป้องกันไม่ให้วัสดุเหล่านั้นจบกระการกำจัดด้วยการฝังกลบในหลุม

-เชื้อเพลิงที่ผลิตขึ้นนั้น สามารถปรับแต่งให้เข้ากับความต้องการบางอย่าง เช่น การขนส่ง หรือการใช้งานอื่น ๆ ที่ต้องใช้ความร้อน สิ่งเหล่านี้ทำให้มีทางเลือกอื่นที่เหมาะสมในการบริหารจัดการสำหรับเชื้อเพลิง มากกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลที่นำน้ำมันดิบจากหินน้ำมัน ใต้ดิน ใต้ทะเล ขึ้นมากลั่น

-การสันดาป สามารถเผาโดยมีคาร์บอนฟุตพรินต์ต่ำกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลทั่วไป

-มีศักยภาพในการขยายวัสดุที่ใช้เป็นขยะโลหะ และอื่น ๆ ที่อาจไม่สามารถรีไซเคิลได้ง่ายกว่า

และนี่เป็นเพียงประโยชน์บางส่วนที่การเปลี่ยนขยะให้เป็นเชื้อเพลิง ซึ่งจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศของเรามากกว่า การมุ่งแต่จะรีไซเคิลนั้น ยังคงเหลือขยะพิษร้ายส่วนเกินที่ต้องนำมาฝังกลบอันจะสร้างปัญหาในระยะยาวต่อไปอย่างแน่นอน

อะไรคือความท้าทาย

ด้วยข้อดี และข้อได้เปรียบทั้งหมดย่อมต้องมีความท้าทายเกิดขึ้น นี่คือความท้าทายบางประการที่เกิดขึ้นพร้อมกับการเปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นเชื้อเพลิง

-มีความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อสุขภาพอันเนื่องมาจากการกู้คืนพลังงานจากของเสีย เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิงแข็งสามารถปล่อย ไนตรัสออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ อนุภาค และสารมลพิษที่เป็นอันตรายอื่น ๆอย่างไรก็ตาม นักวิชาการส่วนหนึ่งเชื่อว่า ด้วยการควบคุมอย่างต่อเนื่อง และเทคโนโลยีการควบคุมมลพิษสามารถจัดการการปล่อยมลพิษเหล่านี้ได้ ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า

-ประเทศบางประเทศ เช่น ประเทศสวีเดน แสดงความกังวลเพราะต้องพึ่งพาการนำเข้าขยะจากประเทศอื่น ๆ ในยุโรปเป็นจำนวนมาก อุตสาหกรรมรีไซเคิล กังวลว่าขยะพลาสติกเป็นเชื้อเพลิง จะสร้างความเสียหาย หรือบั่นทอนระบบเศรษฐกิจของกระบวนการขยะเป็นเชื้อเพลิงอื่น ๆ เช่น ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิง เป็นต้น

-กระบวนการนี้ ต้องมีการวางแผนอย่างรอบคอบ เพื่อให้มีการวางกฏระเบียบที่ถูกต้อง และทำให้สมดุลกับความต้องการของกระบวนการรีไซเคิลที่มีอยู่ อย่างไรก็ตาม นี่อาจเป็นหนทางไปสู่โลกที่ปราศจากการฝังกลบ ที่หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนของไทย ที่เกี่ยวข้อง ต้องติดตามความก้าวหน้า เพื่อปรับการบริหารจัดการให้เกิดความสมดุลในประเทศไทยต่อไป

สรุปส่งท้าย

การเปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นเชื้อเพลิง มิได้เป็นเรื่องใหม่ แต่กำลังจะกลายเป็นนโยบายใหม่ของทุก ๆ ประเทศ เพราะมันอาจเป็นข้อไขที่ดีที่สุดในการจัดการปัญหาการจัดการขยะพลาสติกซึ่งยังไปไม่ถึงสุดทาง และมันมักจบที่การฝังกลบซึ่งจะสร้างปัญหาไมโครพลาสติก ไหลลงสู่แหล่งน้ำ แหล่งอาหาร ของมนุษยชาติ เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษไม่รู้จบ ..

การเปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นเชื้อเพลิง ได้กลายเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดแนวทางหนึ่งในการจัดการปัญหาที่กล่าว ให้ไปถึงสุดทาง และมันสามารถสร้างงานใหม่ ๆ ที่มีมูลค่าการลงทุน และผลตอบแทนรายได้ที่จูงใจเอกชนมากพอ หากภาครัฐมีการส่งเสริมอย่างเป็นระบบ และยกระดับ “การเปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นเชื้อเพลิง” ให้เป็นแนวทางหลักระดับนโยบาย

การดำเนินการดังกล่าวของไทยจะเป็นตัวอย่าง และมันอาจกลายเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญในอนาคตของประเทศไทยได้ต่อไป ..

………………

คอลัมน์ : Energy Key 
โดย “โลกสีฟ้า”

ขอบคุณ เอกสาร Reference :-

National Geographic | 7 Things You Didn’t Know About Plastic & Recycling

WIPO Green | Converting Plastic Waste into Fuel :-

https://www3.wipo.int/wipogreen/en/news/2020/news_0018.html

UNEP : UN Environment Program Documentary | Microplastics :-

https://wedocs.unep.org/bitstream/handle/20.500.11822/10745/brochure-microplastics.pdf?sequence=1&isAllowed=y

UNEP : UN Environment Program Documentary | Microplastics: Trouble in the Food Chain

City to Sea Documentary | Why Plastic Recycling Doesn’t  Work :-

ขอบคุณภาพ : Pixabay.com

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img