“เพื่อไทย”จี้รัฐแก้ปัญหายาเสพติด เร่งแยกผู้ค้ารายใหญ่ รายย่อยออกจากผู้เสพให้ชัดเจน เพื่อแยกการกระทำผิดและการลงโทษที่ชัดเจนมากขึ้น
เมื่อวันที่ 6 ส.ค.น.ส.อรุณี กาสยานนท์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ยาเสพติดขณะนี้กำลังแพร่ระบาดอย่างหนัก ลุกลามกัดกินประเทศทุกพื้นที่ก่อปัญหาสังคมและ ปัญหาครอบครัวรุนแรง เกิดเหตุลูกฆ่าพ่อ พ่อ-แม่หนีตาย เพราะลูกติดยาจะทำร้ายร่างกาย เนื่องจากการเข้าถึงยาเสพติดทำได้ง่าย ผู้เสพเพิ่มจำนวนมากขึ้น พร้อมกับการที่ผู้เสพกลายเป็นผู้ขายได้ง่ายมากขึ้นตามไปด้วย
อรุณี กาสยานนท์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ย้ำถึงสถานการณ์ยาเสพติดในสังคมไทยที่นับวันทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นทุกที
.
จำนวนผู้ถูกจับกุมในคดีที่เกี่ยวกับยาเสพติด ในปี 2564 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึงเท่าตัว อยู่ที่เกือบ 400,000 ราย อีกทั้งในปี 2561-2564 สัดส่วนผู้ต้องขังทั้งหมดในเรือนจำ 143 แห่งตามรายงานของกรมราชทัณฑ์ เป็นคดียาเสพติด 76% ในปี 2561 และเพิ่มขึ้นทุกปีมาอยู่ที่ 81.5% ในปี 2564 และมีข่าวการตรวจจับยาเสพติดในต่างประเทศบ่อยครั้งมากขึ้น โดยในปี 2564 เพียงปีเดียว ศุลกากรจาก 4 ประเทศ ตรวจยึดยาเสพติดจากไทยได้ถึง 10 ครั้ง เหล่านี้ คือสิ่งยืนยันความล้มเหลวการแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นอย่างดี
.
โดยการแพร่ระบาดของยาเสพติด อาจมาจากสาเหตุสำคัญ 2 ประการ
.
- การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลประยุทธ์ ที่ผิดพลาดมาโดยตลอด ทั้งล้มเหลวในการปัญหาการระบาดโควิด-19 การแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจ ก่อเกิดปัญหาปากท้องส่งผลกระทบกับพี่น้องประชาชนอย่างรุนแรง หนี้ครัวเรือนพุ่งสูง ประชาชนตกงานกลายสภาพเป็นคนจนโดยเฉียบพลัน บางส่วนจึงหันมาพึ่งพายาเสพติด หลายคนกลายเป็นผู้ขายเพื่อหารายได้ หลายคนเป็นกลายผู้เสพ แต่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์กลับปล่อยปละละเลยปัญหา จนมีวาทะ ‘กี่ร้อยนายกฯก็แก้ปัญหายาเสพติดไม่ได้’ ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ก่อนการระบาดของโควิด-19 ล่วงเลยมาจนถึงปัจจุบันก็ยังคงพูดในวาทกรรมเดิม สิ้นหวังไร้หนทางแก้ปัญหา
. - พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่2) พ.ศ.2564 ที่มีการปรับโทษให้ผู้ต้องหายาเสพติดที่เป็น ‘ผู้ค้าตัวจริง’ ได้รับโทษเบาลง จากเดิมตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 หากผู้ใดครอบครองยาเกินปริมาณที่กำหนดให้สันนิษฐานว่า ‘ครอบครองเพื่อจำหน่าย’ และจะได้รับโทษรุนแรง แต่ปัจจุบันมีการปรับการชี้วัดผู้ค้าออกจากผู้เสพด้วยปริมาณการครอบครองยาเสพติด เปลี่ยนมาเป็นการพิจารณาจากพฤติการณ์การครอบครองยาแทน ซึ่งเป็นช่องโหว่ทำให้ ‘ผู้ค้ารายย่อยกลายเป็นคนเสพ’ ได้ง่าย เนื่องจากได้รับโทษเบาลง ผู้ขายจึงทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก คนขายตัวจริงยอมถูกจับติดคุกหรือเข้าศูนย์บำบัด เกิด ‘วงจรอุบาทว์’ ในการแก้ปัญหายาเสพติด แยก ‘ผู้ค้าตัวจริง’ ออกจาก ‘ผู้เสพ’ ได้ยากลำบากมากขึ้น ซึ่งช่องโหว่ของกฎหมายเช่นนี้ถือเป็นความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรมไทย
.
นอกจากนี้การแก้ไขปัญหายาเสพติดของพลเอกประยุทธ์ ด้วยการแต่งตั้ง พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการประสานงานเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานการณ์โควิด-19 แต่กลับไม่สามารถแก้ไขปัญหาใดๆ ได้
.
สถานการณ์ยาเสพติดที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น รัฐต้องเร่งรัดดำเนินการแยกผู้ค้ารายใหญ่ออกจากผู้ค้ารายย่อย แยกผู้ค้ารายย่อยออกจากผู้เสพให้ชัดเจน เพื่อแยกการกระทำผิดและการลงโทษที่ชัดเจนมากขึ้น อีกทั้งในกระบวนการฟื้นฟูผู้เสพยาเสพติดก็ต้องดูแลทั้งกายภาพและดูแลด้านจิตใจ รวมทั้งจะต้องจริงจังกับการจัดการกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้ระบบทุจริตตามอำเภอใจ ในสถานที่จับกุมคุมขังและสถานบำบัดอย่างเข้มงวด