กรมบัญชีกลางแจงกรณีข้อวิจารณ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ-เบี้ยความพิการล่าช้า เหตุการเปลี่ยนแปลงงบประมาณของ สถ. ต้องดำเนินการตามกระบวนการบริหารงบประมาณ
นายภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ตามที่นายชัชวาลย์ วงศ์สวรรค์ ประธานชมรมพัฒนาชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (แห่งประเทศไทย) เปิดเผยผ่านเพจ “ชมรมพัฒนาชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” กรณีการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการประจำเดือน ก.ย. 2563 ที่เลื่อนการโอนเงินจากวันที่ 10 ก.ย. เป็นภายในเดือน ก.ย. 2563 ว่า หากกรมบัญชีกลางไม่มีความพร้อมในการดำเนินการเรื่องดังกล่าวก็ไม่ควรโยนความผิดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) พร้อมเสนอให้โอนหน้าที่จ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการกลับมาที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทยเหมือนเดิม
นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดกรมบัญชีกลางไม่โอนเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการให้ผู้มีสิทธิ ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ กรมบัญชีกลางเคยระบุว่าหากงบประมาณไม่เพียงพอ จะนำเงินทดรองราชการฯ ที่มีวงเงิน 1,500 ล้านบาท มาสำรองจ่ายเบี้ยยังชีพทั้ง 2 ส่วนได้ทันที จากนั้นจึงไปเรียกเก็บคืนจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ทำให้มีคำถามว่าเงินทดรองราชการ 1,500 ล้านบาท หายไปไหน นั้น
กรมบัญชีกลางขอชี้แจงว่า กรมบัญชีกลางและกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ได้กำหนดปฏิทินการทำงานสำหรับการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการร่วมกันในแต่ละเดือน เพื่อให้สามารถจ่ายเงินให้แก่ผู้มีสิทธิตามวันที่กำหนด ซึ่งการดำเนินการโอนเงินให้ผู้มีสิทธิแต่ละเดือนนั้น จะจัดสรรให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาล จำนวน 7,774 แห่ง (ไม่รวม อบจ.) ตามจำนวนที่ต้องจ่ายเงินให้แก่ผู้มีสิทธิครบทุกแห่ง ในการเบิกเงินแต่ละครั้ง ตามปฏิทินการทำงานข้างต้น
ซึ่งตามขั้นตอนการดำเนินการ กรมบัญชีกลางจะต้องตรวจสอบงบประมาณ เพื่อเบิกจ่ายให้ผู้มีสิทธิตามปฏิทินการจ่าย และเมื่อตรวจสอบงบประมาณในเดือนกันยายน 2563 พบว่าไม่เพียงพอ สถ.จึงต้องจัดสรรเพิ่ม แต่เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงงบประมาณของ สถ. ต้องดำเนินการตามกระบวนการบริหารงบประมาณ ทำให้ระยะเวลาการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการคลาดเคลื่อนไปจากปฏิทินการทำงาน
อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวเพิ่มเติมว่า “กรณีวงเงิน 1,500 ล้านบาท ที่ยังไม่ได้มีการใช้ เนื่องจาก สถ.ได้ดำเนินกระบวนการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณเพียงพอเเล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินทดรองราชการ สำหรับแนวทางการแก้ไขกรณีดังกล่าว ขอความร่วมมือให้พิจารณาจัดสรรงบประมาณในแต่ละปีให้มีความครอบคลุม เพื่อจะจ่ายให้แก่ผู้มีสิทธิ อย่างถูกต้อง เป็นไปตามขั้นตอนและระยะเวลาตามที่กำหนดไว้”