ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 36.08 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่า หลังดอลลาร์อ่อน จากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุดออกมาแย่กว่าคาด ติดตามถ้อยแถลงของประธานเฟดในงานประชุม Jackson Hole-จัตาประเด็นการเมืองของไทย
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาท เปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.08 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.13 บาทต่อดอลลาร์ โดยแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบกว้าง แม้ว่า เงินบาทยังพอได้แรงหนุนจากการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์และการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำบ้าง แต่ปัจจัยการเมืองของไทยก็อาจทำให้ ตลาดการเงินผันผวนได้ในระยะสั้น โดยเฉพาะในกรณีที่นักลงทุนต่างชาติบางส่วนอาจขายทำกำไรหุ้นไทยออกมาบ้าง เพื่อลดความเสี่ยงลง
นอกจากนี้ ในฝั่งของผู้ประกอบการก็อาจอยู่ในภาวะ wait and see เพื่อรอจังหวะในการทำธุรกรรม อาทิ ฝั่งผู้นำเข้าก็อาจรอจังหวะให้เงินบาทแข็งค่ามากขึ้นหลุดต่ำกว่าระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนผู้ส่งออกอาจไม่เร่งรีบเข้ามาทำธุรกรรม เพราะส่วนใหญ่ได้ปิดความเสี่ยงไปพอสมควรแล้ว ทำให้การเคลื่อนไหวของเงินบาทอาจมีกรอบที่กว้างได้
อนึ่งในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงและมีหลายปัจจัยที่ไม่แน่นอน โดยเฉพาะแนวโน้มนโยบายการเงินเฟด เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนักมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.95-36.25 บาท/ดอลลาร์
รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด โดยเฉพาะ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (S&P Global Manufacturing & Services PMIs) ในเดือนสิงหาคม ที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 51.3 จุด และ 44.1 จุด (ดัชนีต่ำกว่าระดับ 50 จุด หมายถึง ภาวะหดตัว) ตามลำดับ
ซึ่งแย่กว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้และยังสะท้อนภาวะการชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้เป็นอีกปัจจัย นอกเหนือจากความกังวลแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่กดดันบรรยากาศในตลาดการเงินให้อยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ส่งผลให้ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.22%
ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน นำโดย Exxon Mobil +4.2%, Chevron +3.2% หลังราคาน้ำมันดิบ ปรับตัวขึ้นจากความคาดหวังว่ากลุ่ม OPEC+ อาจปรับลดกำลังการผลิตลงได้ เพื่อคุมปริมาณน้ำมันในตลาด หากอิหร่านกลับมาผลิตและส่งออกน้ำมันได้
ส่วนยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง -0.42% กดดันโดยความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปชะลอตัวลงหนักและเสี่ยงเข้าสู่สภาวะถดถอย ซึ่งสะท้อนจากรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 49.7 จุด และ 50.2 จุด ตามลำดับ
นอกจากนี้ ความกังวลวิกฤติพลังงานที่อาจเกิดขึ้น หากรัสเซียยุติการส่งแก๊สธรรมชาติให้กับยุโรป ก็ยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันตลาดหุ้นยุโรป ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มพลังงานเช่นเดียวกันกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ นำโดย TotalEnergies +3.2%, Equinor +2.8%
ทางด้านตลาดบอนด์ ภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอลงมากขึ้น ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ตลาดกลับมาเผชิญความไม่แน่นอนของ แนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวน ก่อนที่จะแกว่งตัวใกล้ระดับ 3.06% ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยจากวันก่อนหน้า
ทั้งนี้ เรามองว่า หากตลาดเริ่มมั่นใจในแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด และมองว่า แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอตัวลงชัดเจนมากขึ้น ผู้เล่นในตลาดอาจรอจังหวะเพิ่มสถานะการลงทุนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว ซึ่งจะทำให้การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เป็นไปอย่างจำกัด ก่อนที่จะทยอยปรับตัวลดลงตามความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวลงที่จะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต
ด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลดลงใกล้ระดับ 108.5 จุด หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุดออกมาแย่กว่าคาด
อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์อาจยังคงแกว่งตัว sideways ไปก่อน เนื่องจากผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของประธานเฟดในงานประชุม Jackson Hole ทั้งนี้ การย่อตัวลดลงของเงินดอลลาร์ ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นสู่ระดับ 1,760 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อย่างไรก็ดี ราคาทองคำยังปรับตัวขึ้นต่อชัดเจนได้ยาก เนื่องจากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังปรับตัวขึ้น ตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่กังวลการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดฝั่งไทย จะรอจับประเด็นการเมืองของไทย เกี่ยวกับการพิจารณาวาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี ซึ่งอาจทำให้ตลาดการเงินผันผวนได้บ้างในระยะสั้น ส่วนในฝั่งข้อมูลเศรษฐกิจนั้น ตลาดประเมินว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะบรรดาเศรษฐกิจหลักที่ทยอยสะท้อนผ่านดัชนี PMI ที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องอาจกดดันให้ยอดการส่งออกไทยในเดือนกรกฎาคมโตราว +10%y/y ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า