วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
spot_img
หน้าแรกNEWSฉลุยมติวุฒิ 176 ผ่านงบฯ66 “อาคม”ยันรัฐบาลมุ่งบริหารอย่างยั่งยืน คุมเบิกจ่าย
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ฉลุยมติวุฒิ 176 ผ่านงบฯ66 “อาคม”ยันรัฐบาลมุ่งบริหารอย่างยั่งยืน คุมเบิกจ่าย

มติวุฒิฉลุย 176 ผ่านงบฯ66 “อาคม” ขอบคุณ พร้อมยันรัฐบาลมุ่งบริหารอย่างยั่งยืน คุมเข้มอัตราการเบิกจ่ายให้เป็นไปตามความจำเป็นและแผนยุทธศาสตร์ชาติ แจงงบฯเพิ่มขึ้น 85,000 ล้านบาทเป็นการขยายตัวของเศรษฐกิจและให้สอดคล้องกับงบดุลของประเทศ

วันที่ 30 ส.ค.65 เวลา 09.30 น. มีการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท ที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบ 23 สิงหาคม ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญ กำหนดให้วุฒิสภาต้องพิจารณาเห็นชอบภายใน 20 วันนับแต่วันที่ได้รับร่างพ.ร.บ. คือวันที่ 24 สิงหาคม โดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ฐานะตัวแทนของคณะรัฐมนตรีเข้าชี้แจงต่อที่ประชุมวุฒิสภา

โดยนายอาคม นำเสนอเนื้อหาตอนหนึ่งก่อนที่วุฒิสภาจะพิจารณา โดยยืนยันการจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยรับงบประมาสอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศ แผนปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ รัฐบาลขอขอบคุณวุฒิสภา ที่จะพิจารณาและพร้อมขอรับข้อสังเกตไว้ด้วยความขอบคุณ พร้อมจะนำไปพิจารณาปรับปรุงให้การจัดสรรงบประมาณคุ้มค่าเป้นประโยชน์สูงสุดกับประชาชนอย่างยั่งยืน

จากนั้นเป็นการชี้แจงรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ 66 วุฒิสภา โดย พล.อ.ชาตอุดม ติตถะสิริ ส.ว. ฐานะประธานกมธ.ฯ อภิปรายว่า การจัดสรรงบประมาณลงจังหวัดนั้นต่ำกว่ากรอบ ทั้งนี้รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับพื้นที่ เพิ่มกระจายอำนาจในการจัดสรรงบเชิงพื้นที่ตามความต้องการของจังหวัด และหน่วยงานในจังหวัดเพื่อลดความซ้ำซ้อน ความเหลื่อมล้ำการกระจายงบลงสู่พื้นที่ สำหรับประมาณการรายรับที่จะส่งให้ท้องถิ่น รวมถึงรายได้ของท้องถิ่นคาดว่ามียอดต่ำกว่า 10%- 20% ดังนั้นรัฐบาลควรเพิ่มอำนาจให้ท้องถิ่นในการจัดเก็บรายได้ โดยเฉพาะ อปท.ที่มีรายได้น้อยหรือไม่มีเงินสะสม

“ยกเลิกกำหนดสัดส่วนจังหวัดหรอกลุ่มจังหวัด ในงบลงทุน 70% แต่ควรพิจารณาลดเหลือ 30% ที่เหมาะสมกับความต้องการจังหวัด ขณะที่งบซ่อมถนน กระทรวงคมนาคมควรรับผิดชอบเสนอตามความต้องการจังหวัดในช่วงเวลาที่เหมาะสม ขณะที่การถ่ายโอน รพ.สต. ให้ท้องถิ่น อาจมีปัญหาเรื่องบุคลากรทั้งการบริหารบุคลากรและงบประมาณ ดังนั้นควรให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกำหนดมาตรการแก้ไขที่เหมาะสม” พล.อ.ชาตอุดม กล่าว

พล.อ.ชาตอุดม กล่าวว่า สำหรับการควบคุมค่าใช้จ่ายบุคลากรส่วนราชการที่พบว่ามียอดเพิ่มขึ้นทุกปี กมธ.จึงมีข้อเสนออัตรากำลังภาครัฐ ด้วยการทบทวนบทบาท กรอบอัตราที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่แปรเปลี่ยน รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

ขณะที่ พล.อ.ปัฐมพงศ์ ประถมภัฎ ส.ว. ฐานะกมธ.รายงานผลการศึกษาตอนหนึ่งว่า สาระโดยสรุปว่า โครงการสำคัญที่หน่วยรับงบประมาณขออนุมัติจาก ครม. หลายโครงการ ไม่สอดคล้องกับแผนแม่บทและแผนยุทธศาสตร์ชาติทั้งนี้พบว่าไม่ปฏิบัติตามมติ ครม. ทำให้ไม่สามารถติดตามการใช้จ่ายเงินของภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ ดังนั้นการแก้ไขควรมีหน่วยงานเจ้าภาพเพื่อขับเคลื่อนโครงการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติและมติ ครม.

“แผนการใช้จ่ายเงินงบประมาณ คลาดเคลื่อนจากรางานการเงินของหน่วยรับงบประมาณและมีเงินสะสมคงเหลือ เช่น องค์กรมหาชน องค์กรกำกับของรัฐมีเงินคงค้างจำนวนมาก และพบว่ามียยอดสะสมอของเงินนอกงบประมาณสูงถึง 2.8ล้านล้านบาท ดังนั้นสำนักงบประมาณต้องเคร่งครัดนำข้อมูลนอกงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณที่ถูกต้องประกอบการพิจารณาต่อสภา เพื่อให้รักษากรอบการเงินการคลังของรัฐตามกฎหมาย” พล.อ.ปัฐมพงศ์ กล่าว

พล.อ.ปัฐมพงศ์ กล่าวด้วยว่าสำหรบความคืบหน้าการขับเคลื่อนกิจกรรมปฏิรูปประเทศ ที่จะสิ้นสุดการเบิกจ่ายในวันที่ 30 กันยายน 65 พบว่าหลายโครงการต้องกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปี และจะ เร่งรัดเบิกจ่ายให้เสร็จในวันที่ 31 ธันวาคม 2565

ขณะที่การอภิปรายของส.ว. นั้น เบื้องต้นมีส.ว. ลงชื่ออภิปราย รวม 19 คน โดยนายพรเพชร กำหนดให้อภิปรายเรียงตามลำดับมาตรา คนละ 10 นาที

ทั้งนี้ ส.ว. ได้ให้ความสนใจอภิปรายอย่างกว้างขวาง เพื่อเสนอแนะการจัดสรรงบประมาณให้ครอบคลุมทั่วถึง
โดยนพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกวุฒิสภา ท้วงติงไปยังการจัดสรรงบประมาณกระทรวงสาธารณสุขที่ปรับลดลง เพื่อให้สอดคล้องกับการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล หรือ รพ.สต. 3,263 แห่ง ไปสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ อบจ. โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ของสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการแปรญัตติปรับลดลง เพราะต้องให้ถ่ายโอน รพ.สต.เพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยกำหนดไว้ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาในการบริหารจัดการ รพ.สต.ขึ้น เพราะไม่เคยมีการถ่ายภารกิจดังกล่าวมาก่อน พร้อมกันนี้ การถ่ายโอนก็ยังไม่มีการสอบถามความคิดเห็นจากเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งหลายแห่งไม่ต้องการให้ถ่ายโอนไป ทั้งนี้ หากยังจะเดินหน้าที่จะถ่ายโอนจะกระทบกับการให้บริการประชาชนหรือไม่

ขณะที่ นายวันชัย สอนศิริ ส.ว.เห็นว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้มีหลักการและเหตุผล ตลอดจนการชี้แจงของหน่วยงานมีความชัดเจนครบถ้วน พร้อมตั้งข้อสังเกตถึงงบประมาณหน่วยงานของศาล โดยเฉพาะกรณีการฟ้องร้องเกี่ยวกับคดีข้อพิพาทต่าง ๆ เพื่อลดการเสียงบประมาณโดยใช่เหตุ พร้อมยกตัวอย่างกับกรณีเมื่อเกิดคดีพิพาทของหน่วยงานเอกชนสามารถทำการประนีประนอมยอมความได้ แต่เมื่อเทียบกับหน่วยงานของรัฐ หากเกิดข้อพิพาทขึ้นต้องมีการฟ้องร้องกันจนถึงที่ขั้นอุทธรณ์ เพราะผู้มีอำนาจในหน่วยงานนั้น ๆ ไม่สามารถติดสินใจเองได้ ทำให้รัฐต้องสูญเสียงบประมาณต่อการถูกฟ้องร้องโดยไร้ประโยชน์ ดังนั้น ขอให้รัฐบาลกลั่นกรองในเรื่องดังกล่าวด้วย เพื่อช่วยลดการสูญเสียงบประมาณของประเทศได้อย่างมหาศาล

นายมณเฑียร บุญตัน ส.ว. เห็นว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและกระทรวงศึกษาธิการ ไม่มีแผนงานและโครงการที่ครอบคลุมกับความต้องการของคนพิการเท่าที่ควร ไม่มีการจัดให้ยืมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างสะดวก ตามที่กฎหมายกำหนดภาระหน้าที่เอาไว้ เนื่องจาก ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอ อีกทั้ง อุปกรณ์บางรายการที่เคยจัดซื้อไว้แล้ว กลับไม่กระจายไปยังประชาชนให้ทั่วถึง ทำให้อุปกรณ์และเทคโนโลยีต่างๆ ล้าสมัย ซึ่งถึงว่าเป็นการใช้จ่ายงบประมาณ อย่างสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ ดังนั้น ต้องเปลี่ยนวิธีการจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ สมาชิกวุฒิสภาบางส่วน ยังได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับงบประมาณที่ต้องจัดสรรให้กับเด็กและเยาวชนผู้ด้อยโอกาสอีกกว่า 4 ล้านคน เพื่อให้จบการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีอาชีพ มีรายได้ มีศักยภาพที่จะสร้างครอบครัว ผลิตสินค้าและบริการ เพื่อช่วยผลักดันให้ GDP ของประเทศเพิ่มขึ้น รวมทั้ง ควรมีแนวทางลดการกู้เงินอีก 4 แสนล้านบาทหรือ 4% ของ GDP เพื่อปิดงบดุลของประเทศ อีกทั้ง เห็นควรให้เพิ่มงบประมาณให้กับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมให้มากกว่านี้

หลังเสร็จสิ้นการอภิปรายของสมาชิกวุฒิสภา นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ชี้แจงว่า รัฐบาลมุ่งบริหารงบประมาณอย่างยั่งยืน ซึ่งรายได้จัดเก็บส่วนใหญ่มาจากการจัดเก็บภาษีต่างๆ ขณะเดียวกันก็มีการเข้มงวดทั้งเรื่องอัตราการเบิกจ่ายให้เป็นไปตามความจำเป็นและแผนยุทธศาสตร์ชาติ ส่วนงบประมาณที่เพิ่มขึ้น 85,000 ล้านบาทนั้น เป็นการขยายตัวของเศรษฐกิจและให้สอดคล้องกับงบดุลของประเทศ

จากนั้นที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท ด้วยคะแนนเสียง 176 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 3 เสียง

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img