“ปลอดประสพ” เย้ยอยู่มา 8 ปี ยิ่งแก้ น้ำยิ่งท่วมจาก 3 เหตุผล! แนะรัฐบาลเพิ่มบทบาทศูนย์เตือนภัยแห่งชาติ เผยว่าที่ ส.ส.กทม.-ส.ก.เพื่อไทย จับมือสำรวจท่อรอบกรุง เปิดทางรอระบายน้ำ
เมื่อวันที่ 2 ก.ย.65 นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานด้านนโยบายปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดการน้ำ พรรค พท. อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีต รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในปี 65 ภายใต้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รมว.กลาโหม และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกฯ บริหารประเทศมา 8 ปี ทำให้ประเทศตกอยู่ในสภาพ “ยิ่งแก้ น้ำยิ่งท่วม” สาเหตุเป็นเพราะ
1.กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท เน้นสร้างถนนให้สูงขึ้น เพื่อหนีน้ำ ทำให้ถนนกลายเป็นเขื่อนกั้นน้ำ ป้องกันไม่ให้น้ำท่วมข้างล่าง แต่ด้านบนท่วมหมด เป็นการมองเพียงมิติวิศวกรรม ไม่ได้มองในเรื่องของการระบายน้ำ 2.กรมโยธาธิการและผังเมือง เน้นทำกำแพงป้องกันตลิ่งจนเกิดปัญหา “ล้ำลำน้ำ” ทำให้คลองมีความแคบลง การระบายน้ำทำได้ยากขึ้น ทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่ท้ายน้ำ 3.ฝ่ายทหารขยันขุดลอกคลอง เอาดินที่ขุดออกมาเสริมกั้นหรือแปะสองข้างตลิ่ง ทำให้ตลิ่งแคบ คลองแคบลง การระบายน้ำจึงเป็นไปได้ยาก
นายปลอดประสพ กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลไม่ควรสร้างแหล่งน้ำและระบบชลประทานที่ไม่มีประสิทธิภาพ ต้องหยุดบริหารแบบสะเปะสะปะ เพราะจะทำให้เกิดสถานการณ์ เดี๋ยวท่วม เดี๋ยวแล้ง ควรบริหารแต่ละลุ่มน้ำให้ดีก่อน และผันน้ำอย่างเป็นระบบขอให้ระมัดระวังน้ำฟ้ามากกว่าน้ำท่าเป็นหลัก เวลานี้สภาพอากาศแปรปรวนมาก ยากต่อการคาดคะเน จึงเลี่ยงไม่ได้ที่ประเทศไทยจะเสี่ยงวิกฤติ ซึ่งการรับมือและการจัดการกับสถานการณ์ไม่ปกติแบบนี้ จะคิดแบบเดิมไม่ได้ เตือนไทยเตรียมรับมือสถานการณ์ขั้นเลวร้ายที่สุด เช่น ระเบิดฝน แบบที่ขึ้นแล้วในเกาหลีและปากีสถาน สามารถเกิดในไทยได้
ขณะที่การรายงานและเตือนภัยของรัฐบาล ควรปรับปรุงอย่างเร่งด่วน เพราะที่ผ่านมาทำแบบต่างคนต่างพูด การรายงานและการเตือนภัยเป็นไปคนละทิศคนละทาง กรมอุตุนิยมวิทยา พูดเรื่องอากาศ และน้ำฝน กรมชลประทาน พูดเรื่องน้ำท่า สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA พูดเรื่องภาพถ่ายทางอากาศ ทำให้ประชาชนเอาภาพมาต่อกันไม่ได้ ดังนั้น รัฐบาลมีความจำเป็นต้องเพิ่มบทบาทการรายงานและเตือนภัยให้กับศูนย์เตือนภัยแห่งชาติเพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนอย่างรอบด้าน หน่วยงานนี้ตนเองเป็นผู้ก่อตั้ง เพื่อทำหน้าที่สื่อสารให้ประชาชนเข้าใจ และจัดการมหาวิกฤติ 2554 มาแล้ว เสียดายที่หน่วยงานนี้ปัจจุบันไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร
“หากประเมินวันนี้ แม้สถานการณ์ไม่น่ากังวลเหมือนปี 54 แต่การที่พายุมาช้า กลับยิ่งเป็นสัญญาณอันตรายมากกว่าเดิม สถิติและธรรมชาติไม่เคยโกหกใคร จึงขอให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเตรียมรับมือ อย่าชะล่าใจ ควรวางแผนเตรียมการรับมือ เพื่อความปลอดภัยของชีวิตประชาชน หากเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ประเทศไทยจะไม่ท่วม ไม่แล้ง ประชนชนไทยจะต้องมีน้ำกินน้ำใช้ไม่ขาดแคลน” นายปลอดประสพ กล่าว
ทางด้านนายวิชาญ มีนชัยนันท์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการประสานงานด้านการเมืองพื้นที่กรุงเทพฯ พรรค พท. กล่าวว่า พายุที่ยังเหลืออยู่และอาจทำให้เกิดฝนตกหนักในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ใกล้พื้นที่ กทม. ซึ่งอาจจะกระทบกับ 11 จังหวัดในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เช่น ลพบุรี ปทุมธานี และ กทม. ทำให้คลองต่างๆ ใน กทม. อาจจะต้องรองรับน้ำต่อ เช่น คลองเปรมประชากร และฝั่งตะวันออกของ กทม. ประตูระบายน้ำแต่ละจุดอาจจะมีการเปิดประตูระบายน้ำไม่เท่ากัน ตามลักษณะพื้นที่แบบลอนกระเบื้องของ กทม.อาจทำให้เกิดน้ำท่วมขังในบางพื้นที่ได้
ดังนั้น ส.ส.กทม. รวมทั้งว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. และ ส.ก.ของพรรคเพื่อไทย ซึ่งทำงานใกล้ชิดประชาชนจะร่วมกันเฝ้าจับตา ประสานความร่วมมือกันเตรียมความพร้อมรับมืออย่างใกล้ชิด โดยจะได้ดำเนินการลอกท่อระบายน้ำเองในบางเขต ในวันที่ 3 ก.ย.65 เพื่อเปิดทางรอน้ำที่อาจจะไหลเข้าสู่ระบบการระบายน้ำใน กทม. ลดความเดือดร้อนกับพี่น้องประชาชนพร้อมกับได้มอบผลสรุปการศึกษาโครงการศึกษาการพัฒนาเมืองฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ให้กับรัฐบาล ซึ่งได้ทำการศึกษาการบริหารจัดการน้ำในกรุงเทพมหานครฝั่งตะวันออก ซึ่งมี 6 เขต ได้แก่ คลองสามวา คันนายาว มีนบุรี ลาดกระบัง สะพานสูง หนองจอก จัดทำโดยมูลนิธิคนรักเมืองมีน หอการค้าไทย-จีน กรุงเทพมหานคร ผู้แทนจากหน่วยราชการ นักวิชาการ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องแล้วเสร็จในปี 64 สามารถนำไปดำเนินการได้ทันที
“น้ำท่วมครั้งหนึ่ง ต้องใช้งบประมาณในการฟื้นฟูจำนวนมาก พรรคเพื่อไทยมีความเป็นห่วงสถานการณ์ จึงได้มอบผลการศึกษาเล่มนี้ ให้กับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ไปแล้ว หากท่านเอาผลการศึกษาไปเร่งจัดทำอย่างจริงจัง เราจะสามารถป้องกันน้ำท่วมได้” นายวิชาญ กล่าว