วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSแก้รธน.ส่อเค้าไม่ผ่านด่าน ส.ว.
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

แก้รธน.ส่อเค้าไม่ผ่านด่าน ส.ว.

ก่อนลงคะแนนโหวต พอจะฟันธงได้ว่า ญัตติแก้รัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับมีแนวโน้มจะไม่ผ่านการพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภา ด้วยสัญญาณบอกเหตุดังนี้

1. ความผิดพลาดของม็อบกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุมที่ท้องสนามหลวงเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 ยังวนเวียนอยู่กับการต่อต้านสถาบันฯ นอกจากนี้ยังมีการระดมกลุ่มเสื้อแดงเข้ามาร่วมชุมนุมที่ท้องสนามหลวงจำนวนมาก ในทางตรงกันข้ามกลับมองไม่เห็นความเคลื่อนไหวกลุ่มนักเรียนนิสิตนักศึกษา จึงเกิดข้อสรุปของสังคมที่ว่า นี่เป็น”ม็อบจัดตั้งของพรรคการเมือง” มีเป้าหมายเพื่อโค่นล้มและชิงอำนาจมากกว่ามุ่งเปลี่ยนแปลงสังคม ฉะนั้นการชุมนุมดังกล่าวเพื่อสร้างแรงกดดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 24 กันยายน 2563 กลับย้อนมาบั่นทอนเป้าหมายของตัวเอง

2. การสร้างบรรยากาศก่อนถึงวันโหวตผิดพลาด เพราะฝ่ายสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมุ่งโจมตีด้อยค่า ส.ว. แทนที่จะเกลี้ยกล่อมประสานงานขอความร่วมมือ กลับสร้างเงื่อนไขความขัดแย้ง ดังนั้นผลลัพธ์ที่เห็นจึงมีแต่ปฏิกิริยาโต้กลับของ ส.ว. เมื่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภาบอกว่า วิป ส.ว.มีมติให้ฟรีโหวต เพื่อลดข้อครหามีใบสั่ง พร้อมกับเปิดไฟเขียวให้ ส.ว.โหวตได้อย่างเสรี ซึ่งเสียงส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะโหวตค้านอยู่แล้ว เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญสร้างผลกระทบต่อสถานะของ ส.ว.อย่างรุนแรง จึงเป็นเหตุผลที่ ส.ว.จะไม่ร่วมมือและเลือกไปยืนอยู่ฝั่งตรงข้าม

ถ้า ส.ว.โหวตสนับสนุนให้แก้รัฐธรรมนูญไม่ถึง 84 เสียง หรือมากกว่า 1 ใน 3 ของ ส.ว.ทั้งหมด ตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนด ญัตติแก้รัฐธรรมนูญก็จะตกไปทันที เหตุสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การดำรงตำแหน่ง ส.ว.มีระยะเวลา 5 ปี และเป็นได้ครั้งเดียว ไม่สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก ฉะนั้น ส.ว.ส่วนใหญ่จึงไม่สนใจต่อแรงกดดันของฝ่ายตรงข้ามหรือกระแสสังคม ต่างจาก ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง ที่ต้องระมัดระวังกระแสสังคม การสร้างกระแสกดดันและมุ่งโจมตี ส.ว.จึงเป็นยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาด

3. ปัญหาเศรษฐกิจและโควิด กำลังกัดกินชีวิตประชาชนอย่างรุนแรง พรุ่งนี้จะมีข้าวกินหรือเปล่ายังไม่รู้ อีกทั้งการปลุกกระแสให้ประชาชนร่วมกดดันรัฐบาลให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะหน้า ด้วยเหตุนี้ประชาชนจึงไม่ให้ความสนใจเท่าที่ควร

4. พรรคร่วมรัฐบาลแสดงท่าทีร่วมมือแก้รัฐธรรมนูญ ไม่คัดค้านต่อต้าน เป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่า การแก้รัฐธรรมนูญส่อเค้าแท้งตั้งแต่ยังไม่ปฏิสนธิ เพราะความร่วมมือดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อถอดชนวนลดทอนกระแสการต่อต้าน หากพรรคร่วมรัฐบาลปฏิเสธไม่ร่วมแก้รัฐธรรมนูญ ก็จะเกิดเงื่อนไขให้กลุ่มต่อต้านใช้ปลุกระดมม็อบให้เข้าร่วมได้เป็นจำนวนมาก ท้ายสุดอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ แต่เมื่อพรรคร่วมรัฐบาลถอดชนวนแล้ว การเคลื่อนไหวของฝ่ายต่อต้านจึงไม่มีพลัง

5. รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ผูกปมไว้ไม่ให้แก้ไขได้โดยง่าย อีกทั้งมีหลายประเด็นต้องผ่านการลงประชามติ เช่นการปิดสวิทช์ ส.ว.ไม่ให้โหวตนายกรัฐมนตรี เนื่องจากประเด็นนี้เคยเป็นคำถามพ่วงในขั้นตอนการลงประชามติครั้งก่อน และผู้ลงประชามติเสียงข้างมากก็เห็นชอบ หากต้องการแก้ไขก็ต้องกลับไปขอประชามติซึ่งใช้เวลานานและมีความยุ่งยาก

จากข้อวิเคราะห์ 5 ประการข้างต้น บ่งชี้ให้เห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจล้มเหลว แต่ไม่ได้หมายความว่า เมื่อฝ่ายต่อต้านพ่ายแพ้แล้ว การเมืองจะสงบ จนกว่าสังคมไทยจะเปลี่ยนผ่านอย่างราบรื่นและสมบูรณ์

………………

#ดินสอโดม

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img