วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTS“ลิซ่า”เอฟเฟ็ค....ถึงเวลาทะลาย“กรอบคิดเก่าๆ”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ลิซ่า”เอฟเฟ็ค….ถึงเวลาทะลาย“กรอบคิดเก่าๆ”

พลันที่กระแสของ “ลิซ่า แบล็กพิ๊งค์” ศิลปินเดี่ยวสาวไทยปล่อย MV ผ่าน YouTube ทำสถิติโลกยอดวิวสูงสุด ทำให้บรรดานักการเมืองต่างก็พากันโหนกระแสกันยกใหญ่

กระทั่ง “นายธนกร วังบุญคงชนะ” โฆษกรัฐบาล ก็เอากับเขาด้วย โดยบอกว่า “ลุงตู่” พร้อมผลักดันวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ ได้แก่ 1.อาหาร 2.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ 3.ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น 4.มวยไทย และ 5.การอนุรักษ์และขับเคลื่อน เทศกาล ประเพณีสู่ระดับโลก

ก็ได้แต่หวังว่า คงไม่ใช่แค่ออกมาโหนกระแสแบบไฟไหม้ฟาง พอกระแสหมด ที่เคยสัญญาไว้ก็เงียบหายไปกับสายลม อันที่จริงความคิดแบบนี้ ไม่ใช่ว่าเราคิดไม่ได้และคิดกันมานานแล้ว แต่ไปไม่ถึงไหน เพราะนักเมืองบ้านและข้าราชการบ้านเรา ไม่จริงจัง

ไม่เหมือนเกาหลีที่เริ่มผลักดันเรื่อง “วัฒนธรรม” ให้เป็น “สินค้าส่งออก” หลังเจอพิษต้มยำกุ้งจากบ้านเราเล่นงานเมื่อปี 40 เศรษฐกิจเกาหลีวิกฤติหนัก แต่เขาเห็นช่องทางว่า สินค้าวัฒนธรรมจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจได้และผลักดันอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็น ดนตรี ภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ สื่อบันเทิงต่างๆ, เกม, อาหาร, ท่องเที่ยว เป็นต้น

โดยเริ่มต้นจากการจัดตั้งหน่วยงาน Korea Culture and Content Agency (KOCCA) มาดูแลสนับสนุนอย่างเต็มที่ เราจะเห็นหนังและรายการทีวีเกาหลีเริ่มส่งออกไปตีตลาดต่างประเทศอย่างจริงจังเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว ซีรีส์ “แดจังกึม” ก็สร้างความนิยมอย่างถล่มทะลาย

อีก 10 ปีต่อมา กระแส “เค-ป็อบ” อย่างเพลงกังนัมสไตล์ ก็ดังกระหึ่ม ได้รับความนิยมจากทั่วโลก เที่ยวนี้เป็นคิวของ “LALISA” ติดลมบนไปแล้ว จากข้อมูลล่าสุดในปี ค.ศ. 2019 เกาหลีส่งออกสินค้าวัฒนธรรมมีมูลค่าถึง 64 พันล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว

ลิซ่า แบล็กพิ๊งค์

สำหรับกรณี LALISA ถือว่ายังดีที่มีโชว์ “เสน่ห์ไทย” ให้ได้อวดชาวโลกให้รู้จักบ้าง ก็ต้องชื่นชมโปรดิวเซอร์ของเกาหลี ที่เอาความเป็นไทยใส่เข้าไปใน MV ถือว่าใจกว้างมากๆ ทำให้คนที่ได้ชมมีการพูดถึงปราสาทหินพนมรุ้งเป็นอย่างมาก คาดว่าจะมีคนเดินทางมาเที่ยวพนมรุ้งตามรอยลิซ่ากันเป็นจำนวนมากอย่างแน่นอน

นอกจากนี้กระแส LALISA ก็น่าจะช่วยกระตุ้นยอดขายกำลังซื้อ เสื้อผ้า งานศิลปะ สินค้าวัฒนธรรมไทยได้ไม่น้อย เชื่อว่าอย่างน้อยๆ ก็น่าจะทำให้คนทั่วโลกรู้จักแบรนด์ไทยอย่างน้อย 3 แบรนด์ เริ่มจาก “ชุดสไบ” เป็นผลงานของแบรนด์ ASAVA “เครื่องประดับศีรษะ” จากแบรนด์ Hook’sByPrapakas ส่วน “ต่างหูและสร้อยสังวาล” เป็นของแบรนด์ SARRAN

ปรากฏการณ์ “ลิซ่า” ได้ประจาน “กึ๋น” ของรัฐบาลไทยและข้าราชการไทยกับเกาหลีนั้น ต่างกันราวฟ้ากับเหว

อันที่จริงบ้านเรามี “วัตถุดิบวัฒนธรรม” มากมายไม่แพ้ใคร เมื่อเร็วๆ นี้เฟซบุ๊กเพจ Asian SEA Story โพสต์คอนเทนต์การจัดอันดับประเทศที่มีมรดกวัฒนธรรมที่ดีที่สุดประจำปี 2021 โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับ 1 ของอาเซียน ด้านเว็บไซต์ U.S. News ได้จัดอันดับประเทศที่มีมรดกวัฒนธรรมที่ดีที่สุดในโลก ประจำปี 2021 ไทยก็ได้อันดับ 7 ของโลก จากทั้งหมด 78 ประเทศ

แต่ถ้าจะให้ “ไทย-ป็อบ” วิ่งไล่ตาม “เค-ป็อบ” ตอนนี้เราคงตามไม่ทัน เพราะเรายังห่างไกลเขาหลายขุม แต่เราก็มีสินค้าวัฒนธรรมหลายอย่างที่น่าสนใจ และยังมีช่องว่างในตลาดโลกที่จะทำเราสามารถผลักดันไปสู่ระดับโลก สร้างรายได้ให้ประเทศไทยอย่างมหาศาล เพียงแต่เราจะหยิบตัวไหนขึ้นมาผลักดัน อันนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเลือกให้ถูก

วัฒนธรรมเด่นๆบ้านเราอย่างเช่นมวยไทยก็เป็นวัฒนธรรมที่คนทั่วโลกทุกวันนี้ มวยไทยไม่ใช่เกมกีฬาต่อสู้เท่านั้นแต่เป็น “สินค้าวัฒนธรรม” สามารถแตกไลน์ไปยังธุรกิจเกี่ยวเนื่องอีกมากมาย เช่น ของที่ระลึก กางเกงมวย ที่รัดแขนนักมวย นวม เป้าซ้อมมวย ฯลฯ เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ คาดว่าทั้งมวยไทยและสินค้าเกี่ยวเนื่อง มีมูลค่านับแสนล้านบาทเลยทีเดียว

อย่าง “อาหารไทย” ก็เป็นสินค้าวัฒนธรรมที่เป็นที่นิยมทั่วโลก ไม่แพ้อาหารอิตาลีและอาหารญี่ปุ่น หลายๆเมนู ไม่ว่าจะเป็นผัดไทย, ส้มตำ, ต้มข่าไก่, พะแนง หรือลาบหมู ล้วนแต่เป็นที่นิยมของชาวต่างชาติ

“นวดแผนไทย” ก็เป็นอีกหนึ่งสินค้าวัฒนธรรมที่ขายได้ในตลาดโลก ถ้ามีการพัฒนาและยกระดับให้เป็นสินค้าวัฒนธรรมเพื่อสุขภาพอย่างจริงจัง

แต่ทั้งนี้จะต้องทะลาย “กรอบคิด” ของระบบราชการและนักการเมืองที่ยังตีความวัฒนธรรมแบบแคบๆ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญ ให้ได้เสียก่อน…นับว่าน่าเสียดายอย่างมาก ทั้งที่สินค้าวัฒนธรรมบ้านเรามีความหลากหลายและจะเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจของประเทศไทยในยุคใหม่

…………………….

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย…“ทวี มีเงิน”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img