มติครม.เมื่อวันที่ 28 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่รับทราบนโยบายการตรวจเงินแผ่นดินประจำปีงบประมาณ 64 ของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ถือเป็นเรื่องที่น่าจับตามองยิ่งนัก
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง… ในเรื่องของทิศทางและเป้าหมายในการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ตามประกาศของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ชัดเจนว่า ต้องเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลมาตรฐานทางจริยธรรม และหลักเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดิน
ที่สำคัญ!! การตรวจสอบยังให้ความสำคัญในเรื่องดังต่อไปนี้ (1) การใช้จ่ายเงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
(2) การใช้จ่ายเงินตามแผนงานหรือโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (3) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในโครงการขนาดใหญ่ หรือโครงการพีพีพี
และ (4) การจัดหารายได้ การใช้จ่าย และการบริหารการเงินการคลังของหน่วยรับตรวจที่เป็นเงินนอกงบประมาณ รวมถึงเงินสะสมหรือเงินอื่นใดที่มีอยู่ หรือสามารถนำมาใช้จ่ายได้
นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ กฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพในการใช้จ่ายเงินของหน่วยรับตรวจ รวมถึงการป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐ
จะว่าไปแล้วแนวทางการตรวจสอบการใช้เงินของแผ่นดินในปีนี้ อาจไม่ได้แตกต่างไปจากเดิมตามที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินดำเนินการอยู่แล้ว แต่ด้วยความที่ว่าประเทศไทยต้องกู้เงินเพื่อมาดูแลมาเศรษฐกิจถึง 1 ล้านล้านบาท หลังจากได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของไวรัสโควิด-19
ขณะเดียวกัน งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ก็มีมากถึง 3.285 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่า เป็นงบประมาณก้อนโต ที่การจัดสรรปันส่วนให้กับบรรดาส่วนราชการ บรรดาหน่วยรับงบประมาณต่าง ๆ ก็เป็นจำนวนไม่น้อยทีเดียว
ในฐานะของผู้ตรวจสอบ ก็มีความจำเป็นที่ต้องตรวจสอบการใช้จ่ายเงินกู้ทุกบาททุกสตางค์ให้โปร่งใส ไม่รั่วไหล ไปเข้ากระเป๋าใคร หรือกระเป๋าผู้มีอำนาจ
เพราะอย่าลืมว่า ณ เวลานี้ประเทศไทยก็ตกอยู่ในภาวะยากลำบากอยู่แล้ว หากมีการกระทำที่ไม่ถูกต้องเกิดขึ้น หรือเล่นเล่ห์ แปรธาตุอะไรขึ้นมา ก็เท่ากับว่า ซ้ำเติมประเทศให้บอบช้ำมากขึ้นไปอีก
แม้เวลานี้ ถือว่าเป็นการเริ่มต้นของการใช้เงินงบประมาณรายจ่ายก้อนใหม่ แต่ในแง่ของเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ก็ได้ใช้จ่ายกันไปแล้ว โดยเฉพาะในกรณีของการช่วยเหลือ การเยียวยา ผ่านสารพัดมาตรการ ที่ตั้งวงเงินไว้ในก้อนแรก 5.5 แสนล้านบาท แต่การใช้จ่ายจริง ๆ มีเพียง 3.03 แสนล้านบาท
ส่วนในกรณีของโครงการทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข ที่กันเงินไว้ 45,000 ล้านบาท และอนุมัติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแล้ว 2,555.49 ล้านบาท แต่จนถึง ณ วันนี้ ยังไม่ได้มีการเบิกจ่าย
ขณะที่ในส่วนของการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่กันวงเงินกู้ไว้ 4 แสนล้านบาท และมีคณะกรรมการพิจารณาเงินกู้ ที่มีเลขาฯสภาพัฒน์เป็นประธานนั้น ก็อนุมัติในระยะแรกไปแล้ว 186 โครงการ วงเงิน 92,400 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามในเรื่องนี้ ในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบดูแลโดยตรง สภาพัฒน์ ได้การันตีว่า ได้ดำเนินบนหลักการที่จะใช้จ่ายแผนฟื้นฟูฯนี้ตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในช่วงเวลานั้น ๆ
แต่การการันตีโครงการ ยังเป็นขั้นตอนแรกในการพิจารณาเพื่อใช้เงินกู้เท่านั้น แต่เมื่อใดที่แต่ละโครงการได้รับเงินกลับส่งกลิ่นคละคลุ้ง!! เชื่อได้ว่า…ดาบของคณะกรรมการตรวจเงินที่รับทราบเรียบร้อยแล้วนั้น ก็จะเริ่มต้นทำงานอย่างเต็มที่เช่นกัน!
……………………………
คอลัมน์ : Ec Focus By Virgo