ณ เวลานี้ ไม่ว่าจะเป็น “โจ ไบเดน” หรือ “โดนัลด์ ทรัมป์” มาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา ผลกระทบต่อทั้งโลก รวมถึงผลกระทบที่ส่งตรงมาถึงประเทศไทยนั้น ก็ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฝ่ามือใด ๆ
เพราะอย่าลืมว่า สหรัฐฯ ก็คือ สหรัฐฯ ที่ยังคงมีความเป็นชาตินิยมในตัวเองสูงมาก ดังนั้น…นโยบายของ “ประธานาธิบดีคนใหม่” ย่อมต้องคำนึงถึง “สหรัฐฯ” เป็นอันดับแรกเช่นกัน
แต่ความแตกต่างของ “ไบเดน” และ “ทรัมป์” เชื่อได้ว่า หลายคนคงรับรู้รับทราบกันอยู่แล้ว แต่ผลที่มาถึงไทยนั้น เชื่อได้ว่า…ไม่แตกต่างอะไรจากเดิม!!
ที่ไม่แตกต่าง…ใช่ว่าเป็นเรื่องของผลกระทบจากสหรัฐ แต่กลายเป็นว่า “ไทย” เองต่างหาก ที่ไม่ได้ปรับตัว ที่ไม่ได้เตรียมตัว รองรับกับการค้าโลกอย่างเต็มที่
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การวางกลยุทธ์ หรือ นโยบายการค้าระหว่างประเทศ ในเชิงรุก หากจำกันได้ นับตั้งแต่ สถานการณ์การส่งออกของไทยเริ่มทรุดตัวลงจากสถานการณ์การค้าโลก แทบจะไม่เคยเห็นนโยบายการค้าระหว่างประเทศที่เฉียบคมด้วยซ้ำ

เรื่องนี้สามารถสะท้อนได้จากความเห็นของ “ดร.นก-เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ที่ระบุว่า นโยบายการค้าระหว่างประเทศของเราไม่ชัดเจนมาระยะหนึ่งแล้ว ตอนนี้ยังไม่เคลียร์ว่า เราจะเอาอย่างไรกับข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ หรือเอฟทีเอกับประเทศต่าง ๆ
หรือจะเป็นเรื่องของ ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) เราจะทำอย่างไร หรือ ความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ปต์) เพราะถ้าเทียบกับเวียดนามแล้วจะเห็นว่า เขามีกลยุทธ์ทางการค้าชัดเจน ตอนนี้เขามีเอฟทีเอ มากกว่าไทยถึง 3 เท่า
แล้วก็ไม่ใช่เพียงแค่เสียงจากผู้ดูแลนโยบายการเงินเท่านั้น ในแง่ของภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะลบหรือบวกแบบเต็ม ๆ ต่างก็คิดเห็นไม่ต่างจากผู้ว่าการแบงก์ชาติเช่นกัน
อย่างล่าสุด…คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน ที่มีทั้งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทยเอง ต่างเห็นชอบที่จะส่งเสียงไปยัง “บิ๊กตู่” ให้รัฐบาลหันกลับมาให้ความสำคัญกับเรื่องการเจรจาการค้าระหว่างประเทศโดยเร็ว

โดยแนวทางที่ออกมาควรเป็นไปในรูปแบบของการจัดตั้ง “คณะทำงานร่วม” ในเรื่องของเขตการค้าเสรีหรือเอฟทีเอ รวมไปถึงในเรื่องของกรอบการเจรจาอื่น ๆ ควบคู่กันไปด้วย
เพราะ!! หากรัฐบาลยังปล่อยให้เรื่องของการเจรจาการค้าไม่เดินหน้า โดยเฉพาะในระดับ “นโยบาย” ชักช้าอยู่อย่างนี้อีกต่อไป ประเทศไทยก็จะ “ตกขบวน” ที่สำคัญ…อาจตกขอบเวทีการค้าโลกไปด้วยซ้ำ
เหตุผล…ที่ภาคเอกชนให้น้ำหนัก เพราะเรื่อง การค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ ไม่ได้เพิ่งมี หรือเพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิดขึ้นมาแล้ว แถมยังสำคัญกับประเทศไทย แต่พอไปกางแผน ไปรื้อแนวนโยบายกลับพบว่า…ในกรอบเจรจา หลายกรอบยังอยู่ระหว่างเตรียมการ ไม่มีการเดินหน้า อยู่นิ่ง ๆ แบบเพล์เซฟ ให้มากที่สุด

เรียกได้ว่า อาจเป็นเพราะกระแสไวรัสโควิด ที่ทำให้ทุกอย่าง “หยุด” ไม่สามารถเดินหน้าไปไหนได้ เพราะมี “ความเสี่ยง” ซึ่งเป็นเรื่องของทั้งโลก ที่สามารถเข้าใจได้
แต่การ “หยุด” ไม่ได้หมายความว่า…ในเชิงปฏิบัติต้องหยุดหรือไม่ทำอะไรเลย หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ ประเทศไทยจะไม่มีวันรับมือกับสถานการณ์การค้าโลกได้ทัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “โลกในยุคโควิด” ที่มีบริบทเปลี่ยนไป
อย่าลืมว่า ทุกวันนี้โครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทย ยังพึ่งพารายได้จากการส่งออก มากถึง 60-70% ซึ่งในแง่ของเอกชนเชื่อได้ว่า “เก่ง” อยู่แล้ว ปรับตัวรับปัญหาได้แน่
ขณะเดียวกัน…ถ้าภาครัฐ ไม่ทำตัวเป็นอุปสรรค แต่ทำหน้าที่ประคับประคอง ช่วยเหลือ อำนวยความสะดวกในเรื่องที่สมควร โดยเฉพาะการ “นำพา” นโยบายที่ชัดเจนเพื่อเป็นใบเบิกทาง เชื่อได้ว่า ต่อให้ “วิกฤติ” อะไร ไทยก็สามารถรับมือได้แน่นอน!!
……………………………………..
คอลัมน์ : Ec Focus By Virgo