วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSเลือกตั้งท้องถิ่น...เงินสะพัดแสนล้าน ปั๊ม'ศก.รากหญ้า'
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เลือกตั้งท้องถิ่น…เงินสะพัดแสนล้าน ปั๊ม’ศก.รากหญ้า’

ขณะที่ บรรยากาศการเมืองในกทม.ร้อนระอุ แต่ที่ต่างจังหวัดตอนนี้บรรยากาศกลับเต็มไปด้วยความคึกคัก หลังจากที่รัฐบาลประกาศให้มี การเลือกตั้งสมาชิกและนายก อบจ. 76 จังหวัดทั่วประเทศ

โดยจะเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคมนี้ ปรากฏว่ามีนักการเมืองหน้าเก่า-หน้าใหม่ ระดับท้องถิ่น และอดีตนักการเมืองระดับชาติ เข้าลุยศึกครั้งนี้อย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ยอดผู้สมัครทั่วประเทศ รวมจำนวน 8,521 คน แบ่งออกเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. จำนวน 335 คน ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิก อบจ.จำนวน 8,186 คน

ฟันธงชนิดไม่กลัวต้องกลัวธงหัก การเลือกตั้งเที่ยวนี้น่าจะมีเงินสะพัดทั่วประเทศ กระจายลงสู่ท้องถิ่นรากหญ้าหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่น ให้คึกคักขึ้นมาทันทีในเรื่องนี้ “ดร.สมบัติ ชนะสิทธิ์” ที่ปรึกษาสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.) เปิดเผยสื่อมวลชนว่า การจัดการเลือกตั้ง อบจ. จะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจทั่วประเทศ เพราะก่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ เช่น มีคณะผู้หาเสียง คนทำอาหาร รถแห่ รถหาเสียง เวทีหาเสียง ติดป้าย ติดโปสเตอร์ หัวคะแนนจัดตั้งตามชุมชน หมู่บ้าน ซึ่งจะต้องจ้างแรงงานเป็นจำนวนมาก จะเกิดเงินหมุนเวียน สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ระยะหนึ่ง

“ทั้งนี้ แต่ละจังหวัดจะมีผู้สมัคร อบจ. ขั้นต่ำ 2 ทีม และ 3 ทีม และผู้สมัครอิสระ แต่โดยเฉลี่ยประมาณ 2 ทีมต่อจังหวัด ซึ่งมีระดับจังหวัดขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ จังหวัดขนาดใหญ่ไม่ต่ำกว่า 3 ทีม เช่น ทางภาคใต้ จ.นครศรีธรรมราช ภาคอีสาน เช่น จ.นครราชสีมา เป็นต้นจังหวัดขนาดเล็กจะต้องมีเงินทุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการไม่ต่ำกว่า 70-100 ล้านบาทต่อทีม จังหวัดขนาดกลางจะต้องมีเงินทุนขนาด 100 ล้านบาทขึ้นไปต่อทีม และจังหวัดขนาดใหญ่จะต้องมีเงินประมาณ 200-300 ล้านบาทต่อทีม จากจำนวน 76 จังหวัด มีเม็ดเงินกว่า 15,000 ล้านบาท และจะเกิดเงินหมุนเวียนถึง 6 รอบ ไม่ต่ำกว่า 90,000 ล้านบาท” ดร.สมบัติกล่าวทิ้งท้าย

นายธนวรรธน์ พลวิชัย

ขณะที่ “นายธนวรรธน์ พลวิชัย” อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การเลือกตั้งนายก อบจ. คาดว่าจะมีเม็ดเงินในการหาเสียงสู่ระบบประมาณ 30,000 ล้านบาท เนื่องจากมีการแข่งขันสูง พรรคการเมืองต่างจะส่งตัวแทนลงเลือกตั้ง เพราะ อบจ. เป็นฐานเสียงสำคัญ ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจปลายปีนี้ได้อีกทาง จากนั้นในช่วงต้นปี 2564 จะมีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) คาดว่าจะมีเงินสะพัดช่วงหาเสียงอีกประมาณ 30,000 ล้านบาท น่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปีหน้ามีโอกาสกลับมาเป็นบวกได้

ที่น่าสนใจ เงินทั้งหมดนี้จะกระจายลงสู่ประชาชนรากหญ้าโดยตรงทุกจังหวัด ถึงมือประชาชนแม่นยำกว่านโยบายโปรยเงินแบบ “เฮลิคอปเตอร์มันนี่” ของรัฐบาลเสียอีก ดังนั้นถ้าจะประเมินการเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศที่จะมีขึ้นในปีหน้า รวมทุกระดับตั้งแต่ อบจ. เทศบาล อบต. กทม. และเมืองพัทยา รวม 7,850 แห่ง สมมติค่าใช้จ่ายเฉลี่ยแห่งละ 100 ล้านบาท จะมีเม็ดเงินลงสู่เศรษฐกิจรากหญ้าจำนวนมหาศาลมากกว่างบประมาณประจำปีของรัฐบาลเลยทีเดียว

แต่นั่นก็เป็นการรดน้ำใส่ปุ๋ยให้เศรษฐกิจฐานรากในชุมชนมีชีวิตชีวาแค่ระยะสั้นๆ เท่านั้น แต่ถ้าจะให้เศรษฐกิจท้องถิ่นมีความมั่นคงยั่งยืน จะต้องให้อำนาจของท้องถิ่นบริหารจัดการกันเอง เหมือนอย่างที่หลายๆ ประเทศที่เจริญแล้วเขาทำกัน ด้วยการโอนอำนาจการจัดเก็บภาษีบางส่วน ให้ท้องถิ่นดำเนินการได้ เช่น ภาษีนิติบุคคล ธุรกิจที่เข้าไปลงทุนในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น โรงงานอุตสาหกรรม ห้างโมเดิร์นเทรด ที่ไปลงทุนต่างจังหวัด แต่บริษัทแม่เสียภาษีให้กับส่วนกลาง ทั้งที่ในความเป็นจริง ใครลงทุนที่ไหน ก็ควรจะเสียภาษีที่นั่น ทำให้ท้องถิ่นมีงบประมาณใช้ในการบริหารจัดการ นำไปพัฒนาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่นได้

กระทั่งการขออนุญาติการลงทุน ก็ควรให้ไปขออนุญาตลงทุนในท้องถิ่น เหมือนต่างประเทศ เพื่อความคล่องตัว อย่างกรณีอิตาลี แม้รัฐบาลกลางอ่อนแอ แต่ก็เจริญได้เพราะรัฐบาลท้องถิ่นและเศรษฐกิจท้องถิ่นเข้มแข็ง

โมเดลการบริหารจัดการท้องถิ่นในบ้านเราที่น่าสนใจ อย่างกรณี “บุรีรัมย์โมเดล” อย่างที่ทราบกันดี เมื่อสักสิบกว่าปีก่อน จังหวัดบุรีรัมย์ถูกจัดอันดับเป็นจังหวัดที่ยากจนจังหวัดหนึ่ง เมื่อ “คุณเนวิน ชิดชอบ” กลับไปพัฒนาด้วยการวางคอนเซ็ปให้บุรีรัมย์เป็น “มหานครกีฬา” สร้างทีมฟุตบอล “บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด” เป็นแม่เหล็กให้เข้ามาเที่ยว ต่อมามีกิจกรรมกีฬา ทั้งวิ่งมาราธอน จัดแข่งมอเตอร์ไซค์ เป็นอีเวนต์ระดับโลก มีการวางโปรแกรมแข่งขันตลอดทั้งปี คนหลั่งไหลไปท่องเที่ยว ไปลงทุนทำธุรกิจในบุรีรัมย์กันอย่างคึกคัก

ดังนั้นการเลือกตั้งท้องถิ่นจะต้องไม่ใช่แค่จัดให้มีการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ต้องกระจายอำนาจในการตัดสินใจให้ท้องถิ่นด้วย และจะต้องสร้างรูปแบบการลือกตั้งให้ได้นักการเมืองท้องถิ่นที่มีความคิดแบบ “ผู้ประกอบการ” เหมือนอย่างที่คุณเนวินสร้างบุรีรัมย์จนประสบความสำเร็จ

นักการเมืองท้องถิ่นที่มีการศึกษาสูงๆ มีความคิดดีๆ มีจิตใจเสียสละมีวิสัยทัศน์แบบผู้ประกอบการอยู่มากมาย เพียงแต่รัฐบาลกลางต้องไม่หวงอำนาจและต้องให้โอกาสท้องถิ่นปกครองตัวเอง
……………………….
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง
โดย “ทวี มีเงิน”



- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img