เชื่อได้ว่า…ช่วงสายของวันนี้ (20 พ.ย.63) “แบงก์ชาติ” หรือ ธนาคารแห่งประเทศไทย จะประกาศมาตรการดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวน ไม่ให้แข็งค่า ออกมาอย่างชัดเจน
ก่อนหน้านี้ซุ่มเสียงของบรรดาภาคเอกชน ต่างส่งเสียงเรียกร้องกันแบบสนั่นหวั่นไหว ถึงความแข็งค่าของ “ค่าเงินบาท” ที่แข็งค่าขึ้นมากจนกลายเป็นอุปสรรคซ้ำเติมบรรดาผู้ส่งออก
เพราะอย่าลืมว่า ก่อนหน้านี้ผู้ส่งออกต่างทุกข์ระดม จากสถานการณ์การค้าโลก สงครามการค้าของ 2ประเทศมหาอำนาจ และอีกสารพัดปัจจัยลบ รวมถึงผลกระทบจากไวรัสร้ายโควิด-19 อยู่แล้ว
ผ่านมา 2-3 เดือนสถานการณ์การส่งออกเริ่มดีขึ้น เริ่มผงกหัวดีขึ้นมาได้บ้างแล้ว แต่จากกระแสข่าวต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อตลาดเงิน ก็ทำให้ค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าเพิ่มมากขึ้นถึง 8.2% ในช่วง 8 เดือน คือ นับตั้งแต่ 1 เม.ย. 63 เรื่อยมาจนถึง 16 พ.ย.ที่ผ่านมา
การแข็งค่าของค่าเงินบาท ย่อมเป็นอุปสรรคสำคัญ ที่ผู้ส่งออกมักเรียกร้องมาโดยตลอด เพราะหากค่าเงินบาทแข็งค่ามากกว่าคู่แข่ง มากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ก็จะทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยด้อยลงไปทันที
พูดง่าย ๆ ก็คือ ทำให้สินค้าไทยแพงขึ้น!! นั่นหมายความว่า โอกาสในการขายสินค้าในเวทีโลก ก็จะลดลงเรื่อย ๆ และทำให้คู่แข่งโดยเฉพาะอย่าง “เวียดนาม” สามารถแซงหน้าไทยไปโดยไม่เห็นฝุ่นก็เป็นไปได้
โดยเวลานี้ค่าเงิน “ดอง” ของเวียดนาม แข็งค่าขึ้นเพียง 1.66% เท่านั้น ขณะที่ค่าเงิน “เรียล” ของ กัมพูชา แข็งค่า 0.49% เงิน “เปโซ” ของมาเลเซีย 4.43% ส่วนเงิน “เยน” ของญี่ปุ่น แข็งค่า 3.25%
ทั้งหมด…ถือว่าเป็นการแข็งค่าที่น้อยกว่าไทย หากผู้กำกับดูแล คือแบงก์ชาติ ไม่เข้ามาแทรกแซง หรือทำอะไรให้มากกว่าที่เป็นอยู่ โอกาสของการส่งออกของไทย อาจริบหรี่มากขึ้น
นั่น!! หมายความว่า โอกาสทางเศรษฐกิจ ก็หายไปด้วยเช่นกัน !!
การแข็งค่าของค่าเงินบาท ในช่วงนี้ ต้องยอมรับว่า เป็นเพราะกระแสข่าวเรื่อง วัคซีน ที่มีความคืบหน้า มีความชัดเจน ทะยอยออกมาติดต่อกันเรื่อย ๆ จึงทำให้เกิดความมั่นใจในเรื่องของการท่องเที่ยว รวมไปถึงการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่มีมากขึ้น
และที่ไม่สามารถขจัดออกไปจากความความเป็นจริงได้อีกเรื่องหนึ่ง ก็คงหนีไม่พ้น เรื่องของการ “เก็งกำไร” จาก “เงินร้อน” ที่เข้ามาผสมโรงควบคู่เข้าไปด้วย จนทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วเกินไปจนเกือบต่ำกว่า 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
โดยเรื่องนี้รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงานอย่าง “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” ออกมาย้ำสถานการณ์ของค่าเงินบาทว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีเงินทุนระยะสั้นเข้ามาหากำไรในช่วงปลายปี เพราะไทยถือเป็น “เซฟเฮฟเว่น” ที่ดี
“ดร.นก-เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการแบงก์ชาติ จะอธิบายเหตุผลว่า แบงก์ชาติไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ เพราะที่ผ่านมาตลอดเวลา 5 ปี ก็ได้เข้าแทรกแซงเงินบาท จนทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นถึง 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยก็กว่า 3 ล้านล้านบาท
ขณะเดียวกันก็เตรียมออกมาตรการ เพื่อดูแลค่าเงินบาทในภาพรวมให้เคลื่อนไหวอย่างเหมาะสม นอกเหนือจากเข้าแทรกแซงเงินบาทในระยะสั้น ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม…ด้วยการแข็งค่าของเงินบาทในเวลานี้ หากไม่เร่งรีบ หากไม่มีมาตรการออกมาช่วยพยุงช่วยดูแล ได้ทันเวลา อาจทำให้โอกาสทางเศรษฐกิจของไทยยิ่งลดน้อยหรือแทบไม่เหลือลงก็เป็นไปได้
ข้อเรียกร้องของภาคเอกชนที่ต้องการให้การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอยู่ในระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์ น่าจะเป็นระดับที่เหมาะสม เพราะอย่าลืมว่า คนที่ทำงาน คนที่เห็นของจริง รับผลดี รับกำไร รับขาดทุน คือ ภาคเอกชน
ดังนั้น การทำงานของภาครัฐจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสอดคล้อง สอดรับไปกับความเห็นของเอกชน เป็นหลัก ที่สำคัญอย่างยิ่งยวด คือต้องเร็ว ต้องไว และทันกับสถานการณ์
การประกาศมาตรการของแบงก์ชาติ ในวันนี้… จะถูกใจ จะโดนใจมากน้อยเพียงใด คงต้องรอดูผลที่ออกมา แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสังเกตไว้คือ…ความรวดเร็วของการออกมาตรการ ส่วนจะเป็นที่น่าพอใจหรือไม่ ก็รอดูกันต่อไป!!
……………………………….
คอลัมน์ : Ec Focus by Virgo