เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว ขณะการเมืองกำลังชุลมุนวุ่นวายจนฝุ่นคลุ้งไปหมด จนไม่ได้สนใจกับ ข่าวใหญ่ อย่าง กรณี “คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า” ซึ่งกรรมการเสียงข้างมาก มีมติอนุญาตให้รวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และ บริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด
ทั้งนี้ คณะกรรมการเสียงส่วนใหญ่ เห็นว่า การรวมธุรกิจ ดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ขออนุญาตรวมธุรกิจ ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาดในตลาดร้านค้าปลีกสมัยใหม่สินค้าอุปโภคบริโภคประเภทร้านค้าปลีกขนาดเล็ก จะมีอำนาจตลาดเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่เป็นการผูกขาด และ การรวมธุรกิจ ดังกล่าว มีความจำเป็นตามควรทางธุรกิจและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการส่งเสริมการประกอบธุรกิจเพิ่มมากขึ้น และอาจส่งผลให้การแข่งขันลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง รวมทั้งไม่ส่งผลกระทบต่อประโยชน์สำคัญอันควรมีควรได้ของผู้บริโภคส่วนรวม
ขณะที่ เสียงข้างน้อย ออกมาแถลงภายหลังว่า การรวมธุรกิจ ในครั้งนี้ จะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เนื่องจากการรวมธุรกิจมีโอกาสทำให้เกิดการผูกขาด หรือครอบงำทางเศรษฐกิจขึ้นได้ ทั้งนี้เพราะ ผู้ขออนุญาต มีสถานะเป็นผู้ผลิตสินค้าสำคัญหลายประเภท ทั้งในส่วนของสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูป สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพในชีวิตประจำวันตั้งแต่ระดับต้นน้ำถึงปลายน้ำ
“เมื่อผนวกรวมกับธุรกิจค้าส่งค้าปลีกสมัยใหม่ที่มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ในระดับสูงทุกรูปแบบการค้า ตั้งแต่ระดับค้าส่ง ค้าปลีกขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ซึ่งเป็นช่องทางการจำหน่ายสำคัญที่จะกระจายสินค้าไปสู่ผู้บริโภค ด้วยปัจจัยเหล่านี้ จะทำให้ผู้ขออนุญาตมีอำนาจเหนือตลาดสูงมาก จนสามารถครอบงำเศรษฐกิจการค้าของประเทศได้โดยง่าย”
น่าสนใจคณะกรรมการชุดเดียวกัน เห็นต่างกันแบบหน้ามือเป็นหลังมือ แบบเสียงก้ำกึ่ง 4 ต่อ 3 โดยพ่วงเงื่อนไขเพื่อผ่อนหนักเป็นเบา เช่น ให้ซีพี และเทสโก้ เพิ่มสัดส่วนยอดขายของ SME ประกอบด้วย OTOP และวิสาหกิจชุมชนในอัตราเพิ่มขึ้นปีละ 10% เป็นเวลา 5 ปี, ให้เทสโก้คงเงื่อนไขตามสัญญากับซัพพลายเออร์เดิม เป็นเวลา 2 ปีและให้ซีพีและเทสโก้กำหนดสินเชื่อการค้าระยะเวลา เครดิตเทอม เป็น 30-45 วัน เฉพาะสินค้าจาก SMEเป็นต้น แต่ความเป็นจริงไม่รู้ว่าจะทำได้หรือไม่
ย้อนอดีตไปยุคก่อน “วิกฤติต้มยำกุ้ง” กลุ่มซีพี. มีธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกอยู่ในมือเกือบครบวงจร ตั้งแต่ แมคโคร ที่เป็นธุรกิจค้าส่งขาย เทสโก้ โลตัส เป็นธุรกิจค้าปลีกเรียกกันว่า “ดีสเคาท์สโตร์” และ 7-11 เป็นร้านสะดวกซื้อ หลังเกิดวิกฤติจำเป็นต้องตัดอวัยวะรักษาชีวิตโดยขายแม็คโครและเทสโกโลตัสทิ้งยังคงเหลือไว้แต่ 7-11 กระทั่งในปี 56 ซีพี.ก็ซื้อแมคโครกลับ และเมื่อต้นปีก็ซื้อเทสโก้ โลตัส
คุณธนินท์ เจียรวนนท์ เคยให้สัมภาษณ์สื่อว่า “เทสโก้ โลตัส เป็นลูกของผม ตอนวิกฤตผมขายไป ฝากคนอื่นไปเลี้ยง ทีนี้คนที่เลี้ยงจะขายลูกผมออกมา ผมต้องซื้อ แต่ซื้อแล้วต้องเป็นประโยชน์….“แม็คโคร คือ ค้าส่ง” ขายให้โชห่วย ขายให้ภัตตาคาร ส่วน “เทสโก้ โลตัส เป็นค้าปลีก” ขณะที่ “เซเว่นอีเลฟเว่น เป็นร้านสะดวกซื้อ” คือ ใกล้บ้าน และว่า 3 ธุรกิจนี้ทั่วโลกไม่เอามาบวกกัน”
”เซเว่นอีเลฟเว่นขายสะดวก แม็คโครขายส่ง ผมจะผูกขาดได้อย่างไร เพราะว่าบิ๊กซี กับเทสโก้ โลตัส แข่งกันอยู่ ถ้าผมไม่ซื้อ เขาก็แข่งกันอยู่อย่างนี้ ผมซื้อเทสโก้ โลตัส มา ก็เป็นคู่แข่งกันเหมือนเดิม แทนที่จะอยู่ในมือของอังกฤษ มาอยู่ในมือคนไทย …ข้างนอกคิดอย่างไรไม่รู้ แต่ผมวิเคราะห์ให้ฟังว่า มันแข่งกันอยู่แล้ว ถ้าผมซื้อมาหมด ไม่มีใครแข่ง นี่อีกเรื่องหนึ่ง …ความจริง เทสโก้ โลตัส เป็นของผมมาก่อน ที่ทำตอนนั้น บิ๊กซียังไม่มีเลย แล้ววันนี้ผมซื้อกลับมา ก็ไม่ใช่ว่าผมไม่เคยทำธุรกิจตัวนี้”
หลายคนก็คงจะถามว่า ก่อนปี 40 ทำไมไม่มีการตีความกรณีผูกขาด ก็ต้องบอกว่า ตอนนั้นกฏหมายไม่เข้มแข็ง คณะกรรมการฯไม่สนใจเรื่องพวกนี้ แต่ทุกวันนี้คณะกรรมการแข่งขันทางการค้ามีความเป็นอิสระมากขึ้นจึงหยิบเรื่องนี้มาพิจาณา
อย่างไรก็ตามในระยะสั้น คงจะไม่กระทบผู้บริโภค แต่ที่น่าห่วงคือ “ซัพพลายเออร์” ที่เป็น SME ของคนไทย อำนาจต่อรองยิ่งจะน้อยลงกว่าเดิม และในการรวมกัน ยิ่งทำให้ช่องทางจำหน่าย ทั้งเซเว่นอีเลฟเว่น แม็คโคร ซีพีเฟรชมาร์ท และเทสโก้ โลตัส มีสาขามากกว่า 2,000 สาขา นั่นเท่ากับว่าค่ายซีพีขึ้นแท่นเบอร์ 1 ธุรกิจค้าปลีกอย่างเต็มตัวทำให้ยิ่งมีอำนาจการต่อรองมากขึ้นอย่างมหาศาล
และนี่คือสิ่งที่ซัพลลายเออร์ที่เป็นคนไทยโดยส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการ SME กำลังวิตกกังวลกับอนาคตของตัวเอง
…………………………..
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง
โดย “ทวี มีเงิน”