ในที่สุด “พรรคเพื่อไทย (พท.)” ก็หันกลับมาพึ่งกลไกตามกระบวนการรัฐสภาอีกครั้ง หลังเดินตามเครือข่าย “นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้ามาพักใหญ่ แถมยังเล่นบทเกาะหลัง “ม็อบร้อยชื่อ” แต่ในที่สุดเป้าหมายก็ไปไม่ถึงฝัน “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ยังอยู่ดีมีสุขในฐานะนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม
อาจเป็นไปได้ว่า ในช่วงความเคลื่อนไหวของเด็กและเยาวชนอยู่ในจุดพีค รวมทั้ง “คนเสื้อแดง” เข้าร่วมกิจกรรมกับบรรดาพวกปลดแอก มีมวลชนเข้าร่วมชุมนุมจนตัวเลขสูงแตระดับหมื่น นักการเมืองบางคนเลยเชื่อว่ารัฐบาลคงอยู่ต่อไม่ได้ แต่ด้วยความก้าวร้าวและไม่รู้จักที่ต่ำสูง เลยนำพานักเคลื่อนไหวเจ้าของสัญญลักษณ์ชู 3 นิ้ว ต้องติดกับดักตัวเองในที่สุด
โดยเฉพาะหนึ่งในข้อเรียกร้อง ที่นำมาสู่เสียงวิจารณ์ในด้านลบคือ ต้องปฎิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ นอกเหนือจากข้อเสนอให้พล.อ.ประยุทธ์ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ และให้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญ( รธน.)ฉบับใหม่ แต่พอแกนนำราษฎร2563 เล่นบทเลยเถิด ปราศรัยจาบจ้วงสถาบัน จัดกิจกรรมที่มีรูปแบบและเนื้อหาไม่เหมาะสม ส่งผลให้คนส่วนใหญ่ในสังคมรับไมได้ มวลชนจึงเริ่มถอยหนี บรรดาผู้ให้การสนับสนุนและมีส่วนรวมในฐานะ “บีไฮน์เดอะซีน” เลยต้องรีบปรับเปลี่ยนท่าที
ยิ่ง พท. ในฐานะแกนนำพรรคฝ่ายค้าน กำลังเผชิญปัญหาความขัดแย้งภายใน เคยล้มเหลวจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์มาแล้ว การกำหนดยุทธศาสตร์และท่าทีความเคลื่อนไหว จึงต้องเดินด้วยความระวัดระวัง ดังนั้นการหันมาใช้กลไกตามกระบวนการรัฐสภา เพื่อสร้างความบอบช้ำให้ฝ่ายบริหาร จึงดูจะเป็นหนทางที่ดีสุดในห้วงเวลานี้
มีข่าวว่าในเบื้องต้นพรรคร่วมฝ่ายค้าน จะนัดหารือในวันที่ 15 ธ.ค. เพื่อวางแนวทางในการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยเป้าหมายลำดับแรก ซึ่งจะถูกซักฟอกคงหนีไม่พ้น “พล.อ.ประยุทธ์” ในฐานะเป็นหัวใจฝ่ายบริหาร โดยเชื่อว่าถ้าใช้ยุทธวิธีตีให้ช้ำอัดให้น่วม ย่อมหมายถึงศรัทธาประชาชนที่มีต่อรัฐบาลจะถดถอยลงด้วย
ขณะที่ “นายสุทิน คลังแสง” ส.ส.พท. ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงาน(วิป) พรรคร่วมฝ่ายค้าน ให้สัมภาษณ์กรณีระบุว่า หากนายกฯรู้ว่าฝ่ายค้านจะอภิปรายเรื่องใด อาจจะช็อกได้เลยว่า เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการทุจริตในโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งไม่รู้ว่าพล.อ.ประยุทธ์จะทราบหรือไม่ แต่เรื่องดังกล่าวเกี่ยวข้องกับคนในคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคนใกล้ชิด หากพูดออกมาแล้วคงไม่เชื่อว่านายกฯจะไม่รู้ด้วย
รวมถึงประเด็นการวางแผนกับกลุ่มผู้ชุมนุม หากเผยเปิดข้อมูลออกมาจะเป็นเรื่องร้ายแรง ที่คนในประเทศและต่างประเทศจะไม่สามารถยอมรับได้ เนื่องจากไร้มนุษยธรรม ทั้งนี้ยังมีเรื่องบางเรื่องที่เขาทำแล้วเป็นการปูพื้นฐาน ทำให้เกิดความขัดแย้งลงลึก และจะกลายเป็นวิกฤตใหญ่ได้ในวันข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม 6-7 ปีที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีบอกจะเข้ามาแก้ปัญหา แต่พบว่ากลับทำให้เกิดความขัดแย้งลงลึกมากขึ้น โดยเป็นความขัดแย้งในเชิงโครงสร้าง และเกี่ยวข้องกับสถาบันที่ยากจะหาทางออก ซึ่งปฎิเสธไม่ได้ว่าพล.อ.ประยุทธ์ เป็นต้นเหตุ และหากทำเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ จะเป็นเรื่องใหญ่ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาเศรษฐกิจ ที่ฝ่ายค้านจะนำเรื่องเหล่านี้มาอภิปรายในสภาฯ
คำให้สัมภาษณ์ของประธานวิปฝ่ายค้าน ทำให้หลายคนตั้งคำถามถึงโครงการทุจริตที่จะนำมาตรวจสอบฝ่านบริหาร เกี่ยวข้องกับเรื่องอะไร แต่ก่อนหน้านั้น แกนนำพรรคฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาลอย่าง “ภูมิใจไทย (ภท.)” ซึ่งดูแลกระทรวงคมนาคม ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการต่อสัญญาสัปทานรถไฟฟ้าสีเขียวให้ “บีทีเอส” เนื่องจากเห็นว่า ทำให้รัฐเสียเปรียบ และเอื้อประโยชน์กับเอกชน
เช่นเดียวกับ “นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร” ส.ส.มหาสารคาม พรรคพท. ซึ่งเคยนำเรื่องการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ไปอภิปรายไม่ไว้วางใจ “พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” รมว.มหาดไทย ในศึกซักฟอกครั้งแรก ได้ออกมาระบุว่า การต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเดิม ซึ่งตนก็ไม่ทราบว่าทำไมนายกฯ จึงต้องดึงดันเอาเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมครม. หลายครั้ง ทั้งที่เรื่องนี้ทำให้เสียรัฐมนตรีคลังไปถึง 2 คนแล้ว
พร้อมทั้งยังกล่าวอีกว่า วันนี้รัฐบาลมีหน่วยงานคือ รถไฟฟ้ามหานคร (รฟม.) จึงไม่ควรเอามาแบ่งว่าช่วงไหนเป็นของกระทรวงมหาดไทยของอะไร แต่ควรจะเป็นของหน่วยงานเดียวไปเลย เช่น ให้ รฟม. ลงทุน ก็ให้เขาดำเนินการไปเลย เมื่อหมดสัญญาก็เปิดประมูลฯ เพื่อที่คนจะได้เข้ามาประมูลแข่งขันได้ เพราะค่ารถไฟฟ้ายิ่งได้ถูกเท่าไหร่ ยิ่งเป็นผลดีต่อประชาชน นี่เป็นบริการสาธารณะของรัฐจะเอากำไรกับประชาชนหรืออย่างไร
อีกทั้งกรณีที่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ไปจ้างบีทีเอสวิ่งรถ ก็ส่อว่าจะไม่โปร่งใสด้วย เพราะเป็นการจ้างวิ่งรถโดยไม่มีการเปิดประมูล ซึ่งอาจผิดข้อบัญญัติของกทม. ว่าด้วยเรื่องการพัสดุปี 2538 ข้อ 22 เรื่องการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ และยังไม่ได้เข้าพ.ร.บ.ร่วมทุนเพื่อตีมูลค่าว่ารัฐและเอกชนจะต้องได้รายได้เท่าใดด้วย
โดยประเด็นนี้จะต้องมีการตรวจสอบต่อไป อย่างไรก็ตาม ต้องถามพล.อ.ประยุทธ์ว่ารีบไปไหน และถ้าพล.อ.ประยุทธ์ ยังดึงดันต่อขยายสัมปทานฯ ตนได้เตรียมเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่องนี้ ในสภาฯ ต่อไปด้วย
คำให้สัมภาษณ์ของ “นายยุทธพงศ์” เลยถูกตีความว่า การทุจริตในโครงการใหญ่ของรัฐบาล อาจเกี่ยวข้องกับการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งส.ส.พรรคพท.ที่ใครเรียกกันติดปากว่า “โจ้” เคยนำไปอภิปรายไม่ไว้วางใจ “พล.อ.อนุพงษ์” มาแล้ว แต่ไม่ส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จึงน่าจับตามองว่า ถ้าจะนำเรื่องเก่ามาฉายใหม่ มีข้อมูลอะไรเป็นทีเด็ดอีกหรือไม่
หันมาจับตาท่าทีรัฐบาล “นายธนกร วังบุญคงชนะ” เลขานุการ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงกรณีที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเตรียมอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในช่วงเดือนก.พ.64 ว่า รัฐบาลพร้อมที่จะชี้แจงในสภาฯ ไม่ได้วิตกกังวลอะไร เพราะมั่นใจว่าไม่ได้ทำอะไรผิดพลาด ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่พรรคร่วมฝ่ายค้าน ใช้กลไกรัฐสภาในการตรวจสอบรัฐบาล ดีกว่าการสนับสนุนม็อบชุมนุมปิดถนน ซึ่งทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน
ส่วนกรณีที่นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน ระบุว่า ประเด็นที่เตรียมไว้อภิปรายพล.อ.ประยุทธ์ จะทำให้พล.อ.ประยุทธ์อาจจะช็อกได้นั้น เห็นว่าคงแค่จะโหมโรงให้ดูน่ากลัว ตนมั่นใจว่าพล.อ.ประยุทธ์สามารถชี้แจงได้หมด เพราะที่ผ่านมาก็ทำงานให้กับพี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่ ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ยิ่งการทุจริตคอร์รัปชั่นยิ่งไม่มีอย่างแน่นอน
นายธนกร ยังสวนกลับอีกว่า เป็นห่วงพท. เพราะช่วงนี้คงช็อกอยู่ เกรงว่าอาจจะไม่สมราคาคุย เพราะกำลังมีปัญหาความขัดแย้งภายในพรรค แกนนำหลายคนลาออกจากพรรคไป ไม่ว่าจะเป็นคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรค นายโภคิน พลกุล นายวัฒนา เมืองสุข จนนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องออกโรงมาทวิตเรียกขวัญภายในพรรคติดต่อกันหลายครั้ง ไม่รู้สมาชิกพรรคจะมีกะจิตกะใจอภิปรายหรือไม่ จริงๆ แล้วตนอยากจะให้นายสุทินเอาเวลาไปช่วยประสานรอยร้าวภายในพรรคก่อนจะดีกว่า ที่สำคัญการบริหารงานของรัฐบาลโปร่งใสตรวจสอบได้
เช่นเดียวกับ “นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ” ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล ที่ออกมาให้ความเห็นว่า ขอเป็นกำลังใจให้ฝ่ายค้านทำหน้าที่ตรวจสอบ เพราะถ้าการตรวจสอบมีความเข้มแข็ง ก็ทำให้ระบอบประชาธิปไตยมีความเข้มเข็งด้วย แต่การตรวจสอบต้องอยู่บนพื้นฐานตามข้อมูลที่มีเหตุผลให้ส.ส.ได้รับฟังและเห็นด้วย ที่สำคัญ ในที่สุดเสียงข้างมากชนะแน่นอน แต่รัฐบาลจะอยู่ได้หรือไม่ได้นั้น อยู่ที่ความน่าเชื่อถือในข้อมูลของฝ่ายค้าน
จากนี้ไปคงต้องจับตาบทบาทความเคลื่อนไหวแต่ละฝ่าย โดยเฉพาะพรรคฝ่ายค้านที่เชื่อมั่นว่า ตนเองจะมีสถานะเป็นฝ่ายรุก กรณีการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งถือว่าเป็นมาตรการตรวจสอบที่ทรงพลัง และมีความหมายทางการเมือง แต่ต้องไม่ลืมว่า พรรคฝ่ายค้านเคยล้มเหลวจากศึกซักฟอกรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์มาแล้ว แถมยังมีข่าวส.ส.พรรคฝ่ายค้านบางคน เล่นบทมวยล้มต้มคนดู
พออภิปรายเสร็จ…ดันไปปรากฎกายในหน่วยงานราชการบางแห่ง จนเป็นที่กล่าวขานกันว่า มีขบวนการตบทรัพย์เพื่อแลก กับการทำข้อสอบรั่ว ยิ่งสภาพของพท.วันนี้แตกเป็นเสี่ยงๆ ไม่รู้ว่าในอนาคตใครจะอยู่ใครจะไป งานนี้ถึงต้องบอกว่า เดิมพันพรรคฝ่ายค้านสูงมากจริงๆ
คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก
โดย ”แมวสีขาว”