โลกกำลังก้าวกระโดด!! ด้วยเทคโนโลยี นวตกรรม ความล้ำ สารพัด แต่การก้าวกระโดดที่เกิดขึ้น กลับทำให้การโจรกรรมทางออนไลน์ การฉ้อโกง การหลอกลวง การล่อลวง ได้แทรกตัวเข้ามาอย่างง่ายดาย…จนกลายเป็นการ “ระบาด”
ที่สำคัญ…ยังเกิดขึ้นทุกวัน ทั้งในรูปแบบซ้ำ ๆ รูปแบบใหม่ ๆ จนไล่กันแทบไม่ทัน!! โดยเฉพาะในเมืองไทย ซึ่งปรากฎเป็นข่าวในทุกสื่อ ในทุกช่องทาง ขณะที่การแจ้งเตือนจากสารพัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ออกข่าวเตือนกันในทุกช่องทางเช่นกัน
สุดท้าย การตกเป็น “เหยื่อ” ก็ยังคงเกิดขึ้นให้เห็น เอาเข้าจริงสถานการณ์เช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าทุกคน “ไม่โลภ” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการลงทุน หรือแม้แต่การชอปปิง โดยใช้ “มูลค่า” เป็นตัวตัดสินใจ
ทั้งที่ตามธรรมชาติ!! ของดีราคาถูก หรือลงทุนน้อยได้ผลตอบแทนระทึกใจ เป็นไปได้น้อยมาก หรือแทบไม่มีทางเป็นไปได้เลยด้วยซ้ำ อะไรที่สวยหรูเกินจริง ก็ไม่ใช่ “ของจริง”
แต่ในเมื่อ “มูลค่า” ล่อตาล่อใจ ก็อดหวั่นไหวไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง…ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังตกสะเก็ด ช่องทางไหนได้ผลตอบแทนดีก็ต้องคว้าไว้ก่อน จะ…เพื่อดำรงชีพ หรือ เพื่อความอยากรวย ก็แล้วแต่
เหตุการณ์…ที่พิสูจน์เรื่องนี้ได้ชัดเจนก็คงหนีไม่พ้นคดีดังอย่าง “ฟอเร็กซ์ 3ดี” ที่ไม่ต้องแปลความหมายของการลงทุนไปเป็นอย่างอื่นได้เลย นอกจากความต้องการผลตอบแทนสูง ก็เท่านั้น
เพราะ!! ผู้ลงทุนสามารถลงทุนได้โดยไม่ต้องมีความรู้เกี่ยวกับการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ เพราะจะมี คนกลาง (จำเลยทั้งสิบเก้ากับพวก) เป็นผู้ทำการซื้อขายให้ นักลงทุนเพียงแค่ฝากเงินเข้ามา ก็สามารถรอรับเงินปันผลได้เลย
แถมยังโฆษณาการันตีกำไรที่มากเกินกว่าการซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศโดยทั่วไป ด้วยผลกำไรเดือนละ 15% และจะมากยิ่งขึ้น แปรผันตามการลงทุน ซึ่งปกติแล้วการซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนฯ จะได้กำไรประมาณ 7-8 % ต่อปีเท่านั้น
ที่น่าสนใจ ยังมีการประกันเงินต้น 100% ไม่มีการร่วมลงทุนใด ๆ โดยอ้างว่าจะนำเงินลงทุนไปซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ แต่เอาเข้าจริง เงินที่ได้มานั้น กลับนำไปใช้อย่างอื่นแทนการเทรดเงิน
กรณี “ฟอเร็กซ์ 3 ดี” กำลังแผ่วงกระจายเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งสุดท้ายแล้วจะลงเอยอย่างไร ก็ต้องตามติดกันต่อไป โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเทคแอคชั่นมากน้อยเพียงใด
ล่าสุด…ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงก์ชาติ ก็ออกมาย้ำเตือนว่า ตามกฎหมายควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน การทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับเงินตราต่างประเทศ ต้องทำกับผู้ได้รับอนุญาตจาก “รมว.คลัง” เท่านั้น เช่น ธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทหลักทรัพย์
ขณะเดียวกันแบงก์ชาติ ยังไม่เคยให้ใบอนุญาตแก่บุคคลหรือนิติบุคคลที่ไม่ใช่ธนาคารและบริษัทหลักทรัพย์ ในการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศทางอินเทอร์เน็ต
นั่น!! หมายความว่า หากผู้ใดให้บริการดังกล่าวในประเทศไทย จะมีความผิดตามกฎหมายควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินแน่ๆ
นอกจากนี้แบงก์ชาติ ไม่อนุญาตให้โอนเงินไปต่างประเทศเพื่อชำระธุรกรรมซื้อขายเงินตราต่างประเทศ ในเว็บไซต์ต่างประเทศ การฝ่าฝืนจะเป็นความผิดตามกฎหมายควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน เช่นเดียวกัน
สุดท้าย ใคร? ที่แนะนำหรือโฆษณาเชิญชวน ให้ประชาชนเข้ามาซื้อขายเงินตราต่างประเทศ โดยไม่ได้รับอนุญาต อาจมีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน
ขณะที่…กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส จะใช้ระบบ social listening หรือ การกวาดเก็บข้อมูลรวบรวมชื่อเว็บหรือโซเชียล ที่มีพฤติกรรมเชิญชวนลงทุนเก็งกำไรค่าเงิน หรือลงทุนในหลักทรัพย์ เพื่อจัดส่งไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งแบงก์ชาติ ทั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ก.ล.ต. ไปตรวจสอบว่าเป็นผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตหรือไม่
หากเป็นเว็บหรือโซเชียลผิดกฎหมาย ก็จะดำเนินขั้นตอนประสานขอคำสั่งศาลเพื่อปิดเว็บหรือโซเซียลเหล่านั้นทันที โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และเดินหน้ากระบวนการตรวจสอบและสืบสวนสอบสวนต่อไป
แม้เวลานี้ทุกหน่วยงานได้พยายามระดมสรรพกำลัง เพื่อแก้ไข เพื่อป้องกัน เพื่อเอาผิด บรรดา การหลอกลวง ในทุกรูปแบบ แต่คำถาม? คือ เมื่อไหร่? ที่การหลอกลวงจะหมดไปจากสังคม
…………..
คอลัมน์ : EC Focus by Virgo
สนับสนุนคอลัมน์ โดย E@ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)