การประกาศซื้อหุ้น “เอสโซ่ ประเทศไทย” ของ “บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น” มูลค่ากว่า 55,500 ล้านบาท กำลังกลายเป็น “ทอลค์ออฟเดอะทาวน์” ในแวดวงธุรกิจอยู่ในเวลานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแวดวงพลังงาน เพราะถือเป็น ดีลแรกดีลใหญ่รับปีกระต่ายกันทีเดียว
ก่อนหน้านี้ เมื่อต้นเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC อีกหนึ่งธุรกิจโรงกลั่นของไทย ได้ประกาศควักเงิน 5,500 ล้านบาท เข้าซื้อธุรกิจปั๊มน้ำมันคาลเท็กซ์ ต่อจากผู้ถือหุ้นเดิมอย่าง เชฟรอน ลูบริแคนท์ (ประเทศไทย) โดยเตรียมขออนุมัติจากผู้ถือหุ้นในเร็ว ๆ นี้ เช่นกัน
การปิดดีลใหญ่ของทั้ง 2 ยักษ์ใหญ่ ในแวดวงธุรกิจพลังงานครั้งนี้ ถือเป็นการพลิกบทบาทที่สำคัญในการแสวงหาความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับธุรกิจ ที่สำคัญยังเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับประเทศควบคู่กันไปด้วย
เมื่อกระบวนการควบรวมกิจการ ซื้อกิจการแล้วเสร็จ จะทำให้ “บางจาก” กลายเป็นบริษัทน้ำมัน ที่มีโรงกลั่นน้ำมันที่มีกำลังการกลั่นมากที่สุดในประเทศ ด้วยกำลังการกลั่นรวมถึงวันละ 294,000 บาร์เรล มียอดขายเป็นอันดับสอง ในสัดส่วน 29.1% และมีปั๊มน้ำมันเป็นอันดับสาม
การเดินหน้าซื้อกิจการด้านพลังงานของบางจาก ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ก่อนหน้านี้บางจากได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท OKEA ASA ประเทศนอร์เวย์ ผู้ประกอบธุรกิจสำรวจและผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ออสโล มาแล้ว
บรรดาผู้คนในแวดวงธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันมองว่า บางจากต้องการกระจายความเสี่ยงในธุรกิจโรงกลั่น เป็นเพียงรายเดียวที่มีโรงกลั่นน้ำมันอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ
หากเกิดอุบัติเหตุอะไรที่คาดไม่ถึง จะมีความเสี่ยง ทำให้สามารถบริหารจัดการได้ค่อนข้างยากกว่ าเมื่อเปรียบกับโรงกลั่นอื่น ที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งมีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรองรับในการทำธุรกิจที่มากกว่า
ขณะเดียวกันยังเป็นการต่อยอดในธุรกิจน้ำมันอากาศยาน เพราะการซื้อเอสโซ่ ได้ส่งผลให้บางจาก กลายเป็นผู้ถือหุ้นทางอ้อมใน บมจ.บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ หรือ บาฟส์ ซึ่งเอสโซ่ ถือหุ้นในสัดส่วน 7.06%
ทั้งนี้ บาฟส์ เป็นผู้ประกอบการรายเดียวที่ให้บริการระบบจัดเก็บ และเติมน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานในสนามบินของประเทศไทย ดังนั้นเป็นโอกาสสำคัญที่จะขยายตลาดในธุรกิจน้ำมันอากาศยาน
หากมาย้อนดูผลประกอบการ 3 ปี ของทั้งบางจากและเอสโซ่ จะพบว่า ในส่วนของ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น นั้น ในปี 2563 มีรายได้ 136,982 ล้าน ขาดทุน 6,967 ล้าน ขณะที่ในปี 2564 รายได้ 200,695 ล้าน กำไร 7,623 ล้าน และในช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ของปี 2565 มีรายได้ 228,895 ล้าน กำไร 12,102 ล้านบาท
ขณะที่รายได้ปี 2563 ของ บมจ.เอสโซ่ ประเทศไทย มีจำนวน 126,739 ล้าน ขาดทุน 7,911 ล้าน ส่วนปี 2564 มีรายได้ 172,907 ล้าน กำไร 4,443 ล้าน และในช่วง 9 เดือนของปี 2565 มี รายได้ 199,381 ล้าน กำไร 11,072 ล้านบาท
ในช่วง 2 ปีนี้ หรือภายในปี 2566-2567 แบรนด์ “เอสโซ่” ยังคงอยู่และยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร และยังคงสามารถทำการตลาดภายใต้แบรนด์เอสโซ่ได้ตามปกติ
แต่!!ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป “ปั๊มเอสโซ่” ในไทยจะไม่มีให้เห็นอีกต่อไป แต่กลายเป็น “ปั๊มบางจาก” รวมทั้งหมด 2,100 สาขา ขณะที่ “ร้านกาแฟอินทนิล” ในปั๊มบางจาก จะมีสาขาไปอยู่ในปั๊มของเอสโซ่อีก 700 สาขา จากที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 1,000 สาขา
ส่วนธุรกิจที่ไม่รวมในการซื้อขายกิจการครั้งนี้ คือ ธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หล่อลื่นและการจำหน่ายเคมีภัณฑ์ของเอสโซ่ โดย เอ็กซ์ซอนโมบิล ยังคงเป็นผู้จัดหาผลิตภัณฑ์หล่อลื่นและผลิตภัณฑ์เคมีในประเทศไทย
เมื่อดีลยักษ์นี้สำเร็จสมบูรณ์ คงต้องมาดูว่าบางจากได้ใช้เงินจำนวนเท่าใด ในการซื้อกิจการครั้งนี้ ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์ต่างฟันธงไปในทิศทางเดียวกันว่า เป็นราคาที่ซื้อเป็นราคาที่ต่ำกว่าตลาดแน่นอนอยู่แล้ว แม้ว่าได้ตั้งต้นซื้อขายที่ 55,500 ล้านบาทก็ตาม เพราะต้องขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันที่ยังมีความผันผวน
ที่สำคัญ!! เรื่องของคุณภาพน้ำมันก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญ เพราะอย่าลืมว่าทุกวันนี้!! บรรดาผู้ใช้รถผู้ใช้น้ำมันต่างยกให้น้ำมันของปั๊มเอสโซ่นั้น มีคุณภาพดีกว่าแบรนด์อื่นมาก
ทั้งหลายทั้งปวง… จากนี้ไปก็ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า “ดีลยักษ์” นี้ จะให้คุณประโยชน์กับประชาชนคนไทยอย่างไร?
……………………….
คอลัมน์ : EC Focus by Virgo
สนับสนุนคอลัมน์ โดย E@ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)