ประเทศไทยอยู่ยากขึ้นทุกวัน!! โดยเฉพาะอย่างยิ่ง…การถูกบรรดา แก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกลวงกันทุกวี่ทุกวัน แถมยังมาในทุกรูปแบบอ้างสารพัดหน่วยงานราชการอีกต่างหาก
อย่างที่เคยบอก เพียงแค่ “โลภ” อยากได้ของฟรี (ซึ่งไม่มีในโลก) อยากได้เงินเยอะ แบบไม่ต้องลงแรงลงทุน (ซึ่งก็ไม่มีในโลก อีกเช่นกัน) สุดท้ายยอม “กดลิงค์” เงินในบัญชีก็สูญสิ้นทันที
ทั้งที่ข่าวคราวก็มีให้เห็นอย่างดาษดื่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกมาป่าวประกาศแจ้งเตือนกันทุกวัน แต่ก็ยังมี “เหยื่อ” เกิดขึ้นทุกวันเช่นกัน
ข้อมูลของ www.ThaiPoliceOnline.com ระบุว่า ตั้งแต่เริ่มระบบการแจ้งความคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีทางออนไลน์ตั้งแต่ 1 มี.ค.-31 ธ.ค.65 รวม 10 เดือน มีผู้เข้ามาแจ้งความแล้ว 163,091 คดี มีมูลค่าความเสียหายถึง 27,305 ล้านบาท
หาก…ดีดลูกคิดคำนวณกันเป็นรายวัน ก็เท่ากับว่า…มีเหยื่อแจ้งความออนไลน์เฉลี่ยวันละ 10,000 คดี กันทีเดียว
แล้ว…บรรดา “เหยื่อ” ที่แจ้งความมาทางออนไลน์ ปรากฎว่า เป็นพวกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงคนไทย ผ่านออนไลน์จากสารพัดวิธี มีมูลค่าความเสียหายมากที่สุดถึง 51% หรือคิดเป็นเงินราว 15,800 ล้านบาท
ส่วนพวกที่ถูกหลอกลวง ประเภทการซื้อขายสินค้าหรือบริการผ่านทางออนไลน์ แต่ไม่รับสินค้า การปล่อยกู้ผ่านแอพฯ นอกระบบ การลงทุนแบบแชร์ลูกโซ่ เป็นต้น มีสถิติการรับแจ้งอยู่ที่ 40.5% ของคดีทั้งหมด ความเสียหายราว 1,230 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีพวกอื่น ๆ อีก ประมาณ 8.5% เช่น พวกแฮ็กระบบคอมพิวเตอร์ พวกเรียกค่าไถ่ทางคอมพิวเตอร์ การคุกคามทางเพศ หลอกให้ไปทำงานต่างประเทศ เป็นต้น
ปัญหาพวกนี้…หนักหนากันมากขึ้นทุกวัน ที่สำคัญ!! เมื่อเงินถูกดูดจนเกลี้ยงบัญชี แต่ปรากฎว่า บรรดาสถาบันการเงินที่เหยื่อฝากเงินไว้และโหลดแอพฯไว้บนมือถือ ก็ไม่สามารถอายัดบัญชีได้ทันท่วงที สุดท้าย!! ก็หมดตัว
ล่าสุด!! รัฐบาลโดยครม.ของ “ลุงตู่” ได้ไฟเขียวออก พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพื่อหวังสะกัดกั้น แก้ปัญหาให้ดีขึ้น
การออกกฎหมายครั้งนี้ ได้ออกเป็นพ.ร.ก.!! ก็จะมีผลบังคับใช้โดยเร็ว ไม่เหมือนกฎหมายปกติ โดยขณะนี้อยู่ในชั้นการพิจารณาของกฤษฎีกา ว่ากันว่า…ภายในเดือนก.พ.นี้ กฎหมายฉบับนี้ก็จะเดินหน้าได้อย่างเป็นทางการ
สาระสำคัญ…ของกฎหมายฉบับนี้ น่าจะอยู่ที่เรื่องของสถาบันการเงิน ที่พ.ร.ก.ให้อำนาจสถาบันการเงิน แบงก์ หรือผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งอาจเป็นการสงสัยเอง หรือได้รับแจ้งจากเจ้าพนักงาน ให้ระงับการทำธุรกรรมได้ แล้วค่อยแจ้งให้ธนาคารที่รับโอนปลายทางระงับการทำธุรกรรมทันทีเป็นการชั่วคราว หาก…ตรวจสอบแล้วไม่พบว่ามีอะไรผิดปกติ ก็เดินหน้าทำธุรกรรมต่อไปได้ !!
ที่สำคัญยิ่งกว่า!! หากได้รับแจ้งจากผู้เสียหาย ให้ธนาคารระงับธุรกรรมและแจ้งให้ธนาคารปลายทางที่รับโอนระงับธุรกรรมเป็นการชั่วคราว เพื่อให้ผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนภายในเวลา 48 ชั่วโมง และให้พนักงานสอบสวนดำเนินการเกี่ยวกับบัญชี และกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ภายในเวลา 7 วัน นับแต่วันได้รับแจ้ง
ไม่เพียงเท่านี้…การแจ้งข้อมูลต่าง ๆ หรือ บรรดาหลักฐานต่าง ๆ ตามพ.ร.ก. ก็กำหนดให้สามารถแจ้งผ่านทางโทรศัพท์ หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ เช่นกันด้วย
ต้องยอมรับว่า…ทุกวันนี้ปัญหาอยู่ที่การโอนบัญชีข้ามแบงก์ พอมีปัญหา ทำให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลทำได้ช้า ต้องใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปตรวจสอบแทน กว่าจะเดินเรื่อง เงินก็ไหลปรื้ดไปไหนต่อไหนหมดแล้ว
ขณะเดียวกันพ.ร.ก.ฯฉบับนี้ ยังกำหนดบทลงโทษพวก บัญชีม้า หรือ บรรดาซิมผี ที่ไม่ใช้เพื่อตัวเอง แล้วนำไปทำผิดกฎหมาย โทษคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
หากจัดหาเพื่อให้มีการซื้อหรือขายบัญชี กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือซิม ก็มีโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2 แสนบาท ถึง 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อีกต่างหาก!!
ทั้งหมดคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า เมื่อกฎหมายออกมามีผลบังคับใช้ แล้วคนไทยจะอยู่รอดปลอดภัยจากมหันตภัยหลอกลวงนี้ได้ดีแค่ไหน?
……………………….
คอลัมน์ : EC Focus by Virgo
สนับสนุนคอลัมน์ โดย E@ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)