ใกล้งวดเข้ามาทุกขณะ!! กับสถานการณ์การเลือกตั้งรัฐบาลชุดใหม่ของไทย หลายคน!!คงมีคำตอบ ว่าอยากได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ อยากได้พรรคไหน? เข้ามาบริหารบ้านเมือง
แต่อีกหลายคน!! ก็ยังคิดไม่ตก ว่าจะเลือกพรรคไหน? หรืออยากได้ใครเป็นนายกฯคนใหม่ เพราะอาจยังมองไม่เห็นแสงสว่างที่ชัดเจนแจ่มว๊าว ที่ใช่เลย!! คนนี้!! พรรคนี้!!
เอาเป็นว่า… ณ เวลานี้ ไม่มีใครเดาถูกหรอกว่า…แกนนำจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นใคร? นายกรัฐมนตรีคนใหม่จะเป็นใคร? อย่าลืมว่า!! เรื่องของ “การเมือง” เป็นเรื่องการประสานผลประโยชน์ ถ้า “ลงตัว” ก็จบ ไร้ปัญหา
ดังนั้น!! คุณๆ ท่านๆ จึงได้เห็นการย้ายพรรค การเปลี่ยนขั้ว เปลี่ยนสี ให้เห็นกันอยู่ทุกวัน พรรคการเมืองที่เข้าเค้าหน่อย หรือที่คิดว่ามีโอกาสมากหน่อย มักจะมีบรรดา “ท่านผู้ทรงเกียรติ” เข้าไปขออาศัยใบบุญ ก็ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา
ส่วนเรื่องที่ไม่ค่อยธรรมดาสักเท่าใด? น่าจะเป็นเรื่องของการรวมตัวกันจัดตั้งรัฐบาล นั่นแหล่ะ ที่ ณ เวลานี้ บรรดาภาคเอกชน บรรดาหน่วยงานทางวิชาการ ต่างออกมาเรียกร้องให้ตระหนักในเรื่องนี้กันมาก
ด้วยเพราะ…หากจัดตั้งรัฐบาลได้ช้า ปัญหาก็จะบังเกิดตามมา โดยเฉพาะในช่วงสุญญากาศทางการเมือง หากยิ่งช้า ยิ่งเนิ่นนาน ก็จะส่งผลกระทบต่อการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567
อย่าง “ดนุชา พิชยนันท์” เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ที่แสดงความห่วงใยเรื่องนี้ไม่น้อย เพราะเป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขที่ทำให้เศรษฐกิจสะดุดได้
เมื่อมีการเลือกตั้ง ก็ย่อมทำให้การจัดทำงบประมาณฯปี 67 ล่าช้าออกไปอยู่แล้ว อย่างเร็วก็เดือนครึ่ง หากล่าช้า ก็อาจกระทบไปถึง 3 เดือน หรือ หนึ่งไตรมาส
แม้กฎหมายได้เปิดโอกาสให้ใช้งบประมาณปีเก่า หรือปี 66 ไปพลางก่อนก็ ตาม แต่การใช้งบประมาณไปพลางก่อน ก็มีข้อจำกัดที่อาจทำให้ไม่มีเงินลงทุนในโครงการใหม่เกิดขึ้นมาได้
เช่นเดียวกับ “สนั่น อังอุบลกุล” ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่เรียกร้องให้มีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่โดยเร็วที่สุด เพื่อให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจยังเดินหน้าต่อไปได้โดยไม่สะดุด
หรือแม้แต่ “เฟทโก้” หรือ “สภาธุรกิจทุนไทย” เอง ก็ระบุไว้ชัดเจนว่า ในไตรมาส 2 และไตรมาส 3 นี้ประเทศไทยจะไม่มีความสามารถในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากนัก เพราะอยู่ในกระบวนการของการเลือกตั้ง การจัดตั้งรัฐบาลใหม่
ที่สำคัญ!! อย่าลืมว่า พิษเศรษฐกิจโลก ที่ส่งผ่านมายังเศรษฐกิจไทย ทำให้เกิดการหดตัวในไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และถ้าไทยยังมีช่องว่างจากทางการเมืองเข้ามาสำทับเข้าด้วย ก็จะกลายเป็นอุปสรรคไม่น้อยเช่นกัน
เพราะถ้ายิ่งจัดตั้งรัฐบาลได้ช้า ก็จะทำให้การใช้เงินงบประมาณสะดุด อะไรๆ ที่คาดหวังไว้ โดยเฉพาะการเดินตามนโยบายที่หาเสียงไว้อาจไม่ราบรื่นก็เป็นไปได้
ด้วยเหตุนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเตรียมการเศรษฐกิจไทยให้ขับเคลื่อนได้มากขึ้น ในช่วงก่อนเดินหน้าเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการลงทุนกับการท่องเที่ยวให้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะการดึงนักท่องเที่ยวจีนและเอเชีย
เช่นเดียวกับการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้มากที่สุด โดยต้องทำบรรยากาศของการลงทุนในสะดวกสบาย มัดใจ ดึงดูดนักลงทุน เพราะภาพนโยบายการลงทุนที่ชัดเจน เป็นสิ่งที่สร้างความมั่นใจ มากกว่านโยบายของพรรคการเมือง
ที่ขาดไม่ได้!! ก็เป็นเรื่องของค่าเงินบาท ที่ช่วงนี้กำลังผันผวนอย่างหนัก และต้องไม่แข็งค่าเกินไปจนกลายเป็นว่าทำให้สินค้าไทยแข่งขันไม่ได้
อย่างที่บอก เรื่องของงบประมาณ นั้น เป็นจุดใหญ่ใจความสำคัญ ที่ทำให้สะดุด ดังนั้นจึงต้องเตรียมการให้เหมาะสม เพื่อให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้
ก่อนหน้านี้ ครม.ของ “บิ๊กตู่” เมื่อวันที่ 10 ม.ค.66 ได้ให้ความเห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ไว้ที่ 3.35 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5.18%
ที่สำคัญ งบประมาณฯปี 2567 นี้ ยังคงเป็นการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลอย่างต่อเนื่อง โดยขาดดุลอยู่ที่ 5.93 แสนล้านบาท แม้จะลดลงจากปีก่อนมากถึง 14.68% ก็ตาม
เชื่อได้ว่า… ณ เวลานี้ คนไทยทั้งประเทศ กำลังเอาใจช่วยให้รัฐบาลชุดใหม่เกิดขึ้นโดยเร็ว ท่ามกลางความกังขาที่ว่า… การเลือกตั้งจะมีหรือเปล่า? หรือเสียงข้างมากจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้จริงหรือ? นับจากนี้ ก็จับตากันอย่ากระพริบแล้วกัน!!
……………….
คอลัมน์ : EC Focus by Virgo
สนับสนุนคอลัมน์ โดย E@ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)