เห็นภาพที่บรรดาผู้เฒ่า…ผู้แก่…ทั่วประเทศ ยักแย่ยักยันเดินทางมายังสาขาของธนาคารกรุงไทยทั่วประเทศ เพื่อนำบัตรประชาชนมาลงทะเบียนรับสิทธิ “เราชนะ” แล้ว เชื่อได้ว่า ใครต่อใครคงเกิดคำถามในใจ?
1.จำนวนประชาชนชั้นรากหญ้าแบบแท้จริง ยังมีอีกเป็นจำนวนมาก ที่ไม่มีสมาร์ทโฟนใช้ แม้ยังไม่ชัดเจนชัด ๆ ว่ามีจำนวนเท่าใดก็ตาม เพราะล่าสุด เมื่อวันที่ 18 ก.พ.มีจำนวนกว่า 4.55 แสนราย แต่เชื่อได้ว่ายังคงมีคนกลุ่มนี้อีกเป็นจำนวนมาก โดยอาจเข้าหลักล้านคนด้วยซ้ำไป
2.ในความเป็นจริงแล้ว ประชาชนคนไทย ยังคงมีความเหลื่อมล้ำกันอยู่มากมายอย่างเห็นได้ชัด ใช่หรือไม่?
3.ขณะเดียวกัน ปัญหาที่เกิดขึ้น แสดงให้เห็นว่า ในความเป็นจริงแล้ว ประเทศไทย พร้อมเข้าสู่ “สังคมไร้เงินสด” อย่างแท้จริงหรือไม่?
อย่าลืมว่าประเทศไทย…กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างแท้จริง โดยมีอยู่ 12 ล้านคน หรือคิดเป็น 18% ของจำนวนประชากร และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
ด้วยโครงสร้างของประชากร ด้วยโครงสร้างของสังคม ที่ยังมีความแตกต่าง มีความไม่พร้อมอยู่เป็นจำนวนมาก ก็สะท้อนให้เห็นจากความโกลาหล ความวุ่นวาย ในการเดินทางมาลงทะเบียนโครงการเราชนะอย่างที่ว่า
แม้ว่า…วัตถุประสงค์ของรัฐบาลในการจัดทำสารพัดโครงการ เพื่อเยียวยา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนคนไทยทั้งประเทศก็ตาม
ขณะเดียวกันแต่ละโครงการที่รัฐบาลรังสรรค์ ออกมา ก็ไม่ใช่เพียงแค่ “แจกเงิน” ที่รัฐบาลก็คิดไกลไปยิ่งกว่า ทั้งในเรื่องของการขยายฐานภาษี หรือการพัฒนาพื้นฐานการใช้ระบบอี-เพย์เม้นท์
ด้วยผลลัพท์ที่คาดหวังออกมา ต้องมีอะไรที่ได้ประโยชน์มากกว่าการแจกเงินเฉย ๆ เหมือนเช่นอดีตที่เคยทำ ซึ่งสุดท้ายแล้วประชาชนคนไทยตาดำ ๆ ได้แต่รอความหวัง โดยที่ไม่มีการพัฒนาทักษะ ในด้านหนึ่งด้านใดเกิดขึ้น
การจัดทำมาตรการของรัฐบาลที่ออกมา ไม่ว่าจะเป็น “ยุคตู่ 1” “ยุคตู่ 2” หรือ “ยุคตู่ 3” ได้แฝงไว้ด้วยการพัฒนาทักษะ โดยเฉพาะการรับเงิน-โอนเงิน ผ่านแอพพลิเคชั่น
แม้ในระยะยาวแล้วถือว่า “คุ้มทุน” กับเงินงบประมาณที่ลงไปนับล้านล้านบาท แต่ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ต้องหันมา “ฉุกคิด” กันหน่อยว่า แท้ที่จริงแล้ว คนไทยทั้งประเทศมีความพร้อมหรือยังกับเทคโนโลยี
จึงไม่ต้องแปลกใจที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันหนักหนาว่า คนคิดคนออกแบบมาตรการ ไม่ได้รู้ซึ่งถึงความต้องการ ความพร้อมของคนที่เดือดร้อนอย่างแท้จริง ดั่งที่ว่า “คนคิดไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้คิด”
ดังนั้น…ทุกมาตรการที่รัฐบาลออกมา จึงไม่สามารถจบ ไม่สามารถครบถ้วนในกระบวนการเดียว ต้องมีเพิ่ม มีลด มีแก้ไข และอีกสารพัด เพื่อเอาใจคนเดือดร้อนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากด้วย
แม้ส่วนหนึ่งแล้ว ที่ปฎิเสธไม่ได้…ก็คือ การทำเพื่อเก้าอี้ เพื่อคะแนนเสียง เพื่อคะแนนความนิยม ของรัฐบาลด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้หากระบบ หากโครงสร้าง ที่รัฐบาลใช้เป็นเครื่องไม้เครื่องมือ อำนวยความสะดวกให้ กลับมีความไม่พร้อม รังก็จะเกิดแต่ปัญหาอย่างที่เห็น
สุดท้าย ก็ต้องใช้ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. เข้ามาร่วมด้วยช่วยแก้ปัญหาให้ด้วยกับผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟน
ไม่เพียงเท่านี้… ในเรื่องการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ที่มีหน้าที่อำนวยความสะดวก ให้กับผู้เฒ่าผู้แก่ ที่สายตาฝ้าฟาง หูไม่ดี แถมบางคนก็ขาดความเข้าใจในหลาย ๆ เรื่อง การพูด การแนะนำ เพียงครั้งเดียวอาจไม่เข้าใจ
เรื่องเหล่านี้ ก็ถือเป็นอีกส่วนหนึ่งที่สะท้อนให้รัฐบาลได้เห็นสารพัดสารพันปัญหา สารพันความไม่พร้อม ที่เกิดขึ้น ที่ทั้งรัฐบาล ทั้งบุคคลากรที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้คิด ผู้ออกนโยบาย ที่ต้องทบทวน ต้องคิดให้หนัก!!
อย่าลืมว่า ประชาชนคนไทย ยังมีอีกเป็นจำนวนมากที่เดือดร้อน ที่ไม่พร้อม ที่สำคัญ!! ยังขาดโอกาส เพราะช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวย นั้นแทบไม่เคยลดลงไปเลยด้วยซ้ำ!!
………………………
คอลัมน์ : EC Focus by Virgo