หลายคนอาจไม่สมอารมณ์หมายกับกรณีที่ “เฟด”…หรือ “ธนาคารกลางสหรัฐฯ” ที่ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% หลังจากอัตราเงินเฟ้อยังไม่ลดต่ำลงได้ตามเป้าหมาย
นั่น!! หมายความว่า เป็นการเปิดช่องให้เห็นว่า แนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ยังคงมีอยู่ต่อไป เพราะตามข้อมูลที่ออกมาเฟดได้ย้ำว่า จะกดเงินเฟ้อลงให้ได้ตามเป้าหมายที่ 2%
ที่สำคัญ…เวลานี้สถานการณ์ของสถาบันการเงินบางแห่งของสหรัฐฯ ยังอยู่ในอาการวิกฤติและน่าติดตามต่อเนื่อง หลังมีสถาบันการเงินหลายแห่งของสหรัฐฯที่มีปัญหา
สถานการณ์เช่นนี้ ย่อมส่งหางเลขมาที่ไทยแน่นอน โดยเฉพาะเรื่องของอัตราดอกเบี้ย ที่ต้องรอดูด้วยว่า “คณะกรรมการนโยบายการเงิน” หรือ “กนง.” ของไทย จะตัดสินใจอย่างไรต่อไป
บรรดานักวิเคราะห์-นักเศรษฐศาสตร์ ได้ประเมินกันว่า กนง.จะหยุดการขึ้นดอกเบี้ยไว้ที่ 2% ในปีนี้ โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา กนง.ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 1.5% เป็น 1.75%

โดย กนง.ให้เหตุผลว่า แม้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน และการส่งออกสินค้าก็เริ่มฟื้นตัว แต่เศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น จากแนวโน้มเงินเฟ้อที่ยังสูงและสถานการณ์ปัญหาสถาบันการเงินในสหรัฐฯ
ขณะที่เงินเฟ้อทั่วไปในประเทศ มีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงกลางปีนี้ แต่!! ในแง่ของเงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัวในระดับสูง
ดังนั้น…การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องจึงยังมีความจำเป็น ถือว่าเป็นไปตามที่คาดหมายไว้ก่อนหน้านี้ เนื่องจากแบงก์ชาติจำเป็นต้องรักษาเถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวไว้ก่อน
สัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยที่ยังไม่ยุติ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก อาจส่งผ่านมายังประเทศไทย แม้ว่าแนวโน้มของราคาพลังงานอาจอ่อนตัวลงไปแล้วก็ตาม
อย่าลืมว่า!! ที่ผ่านมา ต้นทุนสารพัดต่างปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนไม่น้อย การขึ้นราคาสินค้าที่ผ่านมา ยังไม่มีให้เห็นตรงๆ ว่าเป็นการผลักภาระมาให้ผู้บริโภคจากต้นทุนแพง

แต่ขณะเดียวกันผู้ผลิตสินค้า ก็ใช้หนทางทางอ้อมในการขึ้นราคาสินค้า ทั้งเรื่องของการยกเลิกการจัดโปรโมชั่น ประเภท ลด-แลก-แจก-แถม หรือการปรับขนาดบรรจุภัณฑ์ การเปลี่ยนสูตรสินค้า การลดปริมาณสินค้า และอีกมากมาย
ด้านหน่วยงานกำกับดูแล แม้ ณ ช่วงเวลาหนึ่ง อาจขอความร่วมไม้ร่วมมือ ให้คงราคาสินค้ากันไปก่อน ให้ช่วยกันแบกรับภาระต้นทุนกันไปก่อน แต่เชื่อเถอะความอดทนย่อมมีขีดจำกัด
อย่างล่าสุด…ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน หรือ “กกร.” ก็มีรายงานออกมาให้เห็นว่า บรรดาผู้ประกอบการถึง 75% มีแนวโน้มขึ้นราคาสินค้าในระยะข้างหน้า
ไม่เพียงเท่านี้ มีข้อมูลจาก “สมาคมค้าปลีกไทย” และ “แบงก์ชาติ” ที่มีการประเมินต้นทุนที่เพิ่มขึ้นต่อการปรับราคาสินค้า โดยพบว่า มีผู้ประกอบการผลักภาระต้นทุนไม่เกิน 40% โดยมีสัดส่วนเพียง 40% ขณะที่ส่งผ่านต้นทุนไปแล้ว 10-20% มีสัดส่วนประมาณ 31% ขณะที่ส่งผ่านต้นทุนสู่ราคาสินค้าแล้ว 21-30% มีสัดส่วนประมาณ 7%
อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลด้วยว่า แนวโน้มการปรับราคาในอีก 3 เดือนข้างหน้า บรรดาผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะปรับขึ้นราคาสินค้าไม่เกิน 5% จะมีสัดส่วนประมาณ 43% ขณะที่ขอปรับขึ้นราคา 6-10% มีสัดส่วนประมาณ 26%
ส่วนบรรดาผู้ประกอบการไม่ปรับขึ้นราคาสินค้าเลยนั้น…ก็มี แต่มีสัดส่วนที่ประมาณ 24% ขณะที่พวกที่ขอขึ้นราคาในอัตรา 11-20% หรือขอขึ้นราคาค่อนข้างสูงนั้น มีอยู่ประมาณ 7%
ณ เวลานี้ ต้องยอมรับว่า “เงินสะพัด” ในช่วงฤดูกาลเลือกตั้ง มีการประเมินกันไว้ว่าจะสะพัดราวๆ 1.2 แสนล้านบาท ขณะที่บรรดาสถาบันวิจัยต่างๆ คาดการณ์กันว่า เศรษฐกิจไทยเวลานี้แม้มีแนวโน้มดีขึ้น แต่ต้องรอดูในไตรมาสที่ 3 ที่เกิดรัฐบาลชุดใหม่ ที่เชื่อกันว่าเศรษฐกิจจะเริ่มผงกหัวให้เห็นอย่างชัดเจน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรอคอยมาตรการใหม่ๆ ตามที่บรรดาพรรการเมืองต่างหาเสียงกันไว้ ว่าจะดำเนินการกันออกมาอย่างไร จะมีจริงหรือไม่ หากมีออกมาชัดเจนก็ยิ่งเท่ากับว่ามีเงินเติมเข้าในระบบเศรษฐกิจอีกไม่น้อย
นั่น!! ก็หมายรวมถึงนโยบายการดูแลราคาสินค้าด้วยเช่นกัน ว่าจะปล่อยเฮโลให้สินคร้าปรับขึ้นจากต้นทุน หรือจะแตะเบรกเพื่อรักษาหน้ารัฐบาลเอาไว้ก่อน ตรงนี้ต้องรอดูและติดตามกันต่อไป
……………………….
คอลัมน์ : EC Focus by Virgo
สนับสนุนคอลัมน์ โดย E@ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)
