การเมืองยังไม่จบ!! แม้ความพยายามเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลใหม่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ภายใต้ สลายขั้วทางการเมือง เพื่อ สลายความขัดแย้ง ให้หมดสิ้น โดยแกนนำพรรคเพื่อไทยระบุไว้ชัดเจนว่า จะยุติทั้งหมดภายในสัปดาห์นี้
พร้อมเดินหน้าเข้าถ้ำพรรคก้าวไกล เดินหน้าหาบรรดาสว. บรรดา สส. เพื่อขอความร่วมมือให้ยกมือสนับสนุนรายชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่นำเสนอ
ที่สำคัญ…ยังเปิดหน้าขอความเห็นใจจากคนไทยทั้งประเทศ ให้ช่วยกันสนับสนุนให้การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำนั้นสำเร็จลุล่วงไปได้โดยเร็ว
ไม่เช่นนั้น การเมืองไทยจะติดล็อก เดินหน้าพัฒนาประเทศต่อไปไม่ได้ สุดท้าย!! คนไทยทั้งประเทศจะไม่สามารถหลุด “บ่วงกรรม” ที่ไม่ได้ก่อ ออกไปได้แน่นอน
เอาเป็นว่า…ก็ต้องมารอดูกันต่อไปว่า การเดินหน้าจัดตั้ง “รัฐบาลพิเศษ” ของ พรรคเพื่อไทย ในครั้งนี้ สุดท้ายจะสามารถทะลุทะลวงและพาประเทศไทยเดินหน้าต่อไปได้มากน้อยเพียงใด
เพราะอย่าลืมว่า ณ เวลานี้ ปัญหาสารพัดกำลังถาโถมเข้าสู่ประเทศไทยไม่น้อยทีเดียว หากปล่อยให้เศรษฐกิจไทยส่วนหนึ่งต้องรับชะตากรรมจากปัญหาการเมืองในประเทศเข้าไปด้วย ก็มีแต่…มืดมิดและมืดมิด
ตราบใด…ที่เศรษฐกิจไทยไม่สามารถเติบโตหรือกระเตื้องได้ตามศักยภาพของตัวเองคือที่ระดับ 4-5% ต่อปี ความก้าวหน้า ความยั่งยืน ก็เริ่มลดน้อยถอยลงไปทุกนาที ทุกวินาที
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเพิ่มเงินในมือ-ในกระเป๋า ของประชาชน หากมีน้อยไปกว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น นั่นก็หมายความว่า…การเป็นหนี้ก็จะเริ่มถามหา
ที่สำคัญ หากชักหน้าไม่ถึงหลังเข้าให้ด้วย สะสมหนี้เป็นดินพอกหางหมู ก็จะยิ่งกลายเป็นปัญหาที่คอยถ่วงการเติบโตทางเศรษฐกิจเข้าให้อีก
อย่าลืมว่า เวลานี้แบงก์ชาติต้องการคลี่ปมของการเป็นหนี้ให้เปิดเผยออกมาให้มากที่สุด จึงได้ปรับข้อมูลหนี้ครัวเรือนไทยให้ครอบคลุมถึงหนี้ของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ “หนี้ กยศ.” ที่มีอยู่ประมาณ 4.85 แสนล้านบาท
รวมถึง หนี้ของสหกรณ์อื่นๆ ที่ไม่รวมสหกรณ์ออมทรัพย์ ที่มีอยู่กว่า 2.65 แสนล้านบาท มีหนี้พิโกไฟแนนซ์ 6,000 ล้านบาท และหนี้การเคหะแห่งชาติหรือกคช. อีก 1.1 หมื่นล้านบาท
การรวมหนี้ในครั้งนี้ เพื่อทำให้ภาพของหนี้ครัวเรือนสะท้อนความเป็นจริงให้ได้มากที่สุด จึงทำให้ หนี้ครัวเรือนไทยล่าสุด ไปอยู่ที่ 17.62 ล้านล้านบาท หรืออยู่ที่ประมาณ 90.6% ของจีดีพีไทย
จำนวนหนี้ครัวเรือน จะไม่หยุดอยู่แค่นี้แน่ หากกลไกของภาคเศรษฐกิจยังไม่สามารถเดินหน้า หรือสามารถกระตุกความเติบโตให้เพิ่มมากขึ้นกว่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขาดผู้นำรัฐบาล และรัฐบาลในการสนับสนุน
แม้แบงก์ชาติได้พยายามเปิดหน้าตักให้เห็นภาพรวมของหนี้ครัวเรือนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่จำนวนหนี้ที่เห็นเหล่านี้คิดเป็นสัดส่วนเพียงแค่ 70% ของหนี้ทั้งระบบเท่านั้น ขณะที่หนี้อีก 30% ถือว่าเป็นหนี้ที่ไม่ได้อยู่ในกำกับดูแลของแบงก์ชาติ
ขณะเดียวกันยัง ออกมาตรการเพื่อแก้หนี้ให้ตรงจุดและยั่งยืน ทั้ง หนี้เสีย ก็ต้องแก้ไขได้ หรือจะเป็น หนี้เรื้องรัง ก็ต้องมีทางเลือกเพื่อปิดจบหนี้ได้ ขณะที่ การก่อหนี้ใหม่ ก็ต้องเป็นหนี้ที่มีคุณภาพไม่กลายเป็นปัญหาในอนาคต
หรือ!! แม้แต่ หนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ และกำลังลุกลามบานปลาย ด้วยเพราะ คนกู้ไม่มีโอกาสเข้าถึงระบบการกู้ในระบบ คนเหล่านี้ก็ต้องมีโอกาสเข้ามากู้ในระบบได้ด้วยเช่นกัน
ความพยายามในการแก้ ในการดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือนยังคงต่อเนื่อง แม้มาตรการหลักในการดูแลหนี้ของแบงก์ชาติจะหมดอายุในสิ้นปีนี้ แต่แบงก์ชาติก็ได้ออกมาตรการเพื่อแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนออกมาสวมต่อ
ขณะเดียวกันบรรดาสถาบันการเงิน ก็พากันออกมาตรการของแต่ละแบงก์ เพื่อดูแลลูกหนี้ของตัวเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ลูกหนี้เหล่านี้ต้องตกชั้น หรือกลายเป็นหนี้เสียหรือเอ็นพีแอล ซึ่งจะยิ่งเพิ่มภาระให้กับแบงก์ให้กับระบบเศรษฐกิจมากขึ้น
แต่จากฐานข้อมูลของ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือ เครดิตบูโร พบว่า เมื่อกลางปี 66 ที่ผ่านมาพบว่า หนี้เสียได้กลับมายืนอยู่ที่ 1 ล้านล้านบาทอีกครั้ง หลังเคยไต่ระดับขึ้นไปอยู่ที่ 1.1 ล้านล้านบาท เมื่อกลางปีที่แล้ว
หนี้เสีย หนี้เน่า หรือเอ็นพีแอล ทั้ง 1 ล้านล้านบาท ในครั้งนี้ มีทั้งหนี้เสียรถยนต์ 2 แสนล้านบาท หนี้เสียเงินกู้บ้าน 1.8 แสนล้านบาท หนี้เสียจากสินเชื่อบุคคล ที่กู้เป็นก้อนแล้วผ่อนเป็นรายงวด 2.5 แสนล้านบาท หนี้จากการกู้ไปก่อนแล้วค่อยผ่อนทีหลัง รวมไปถึงหนี้เกษตรกรอีกประมาณ 60,000-80,000 ล้านบาท
ไม่เพียงเท่านี้… ยังหมีหนี้ที่กำลังจะเสียทับถมเข้ามาอีก โดยเฉพาะที่มาจากเงินกู้รถยนต์ เงินกู้บ้าน และเงินกู้ส่วนบุคคล รวมๆแล้วก็อีกกว่า 4 แสนล้านบาท
เอาเป็นว่า!! เห็นตัวเลขเหล่านี้ บรรดาผู้กำกับดูแล ผู้บริหารหน่วยงาน ผู้บริหารประเทศอาจดูเฉยๆ แต่ถ้าหันกลับมาในมุมของคนเป็นหนี้เชื่อเถอะ “ขนลุก” แน่ เพราะมองไม่เห็นทางว่าจะแก้หนี้ของตัวเองได้อย่างไร หากเศรษฐกิจไม่เดินหน้า
ทั้งหลายทั้งปวง…ก็หนีไม่พ้นรัฐบาลใหม่ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ครม.ชุดใหม่ ที่ต้องมาโชว์ฝีมือกำกับดูแลและแก้ไขปัญหา “หนี้” ให้ลดลงให้ได้โดยเร็วที่สุด ให้สมกับราคาที่คนไทยยอมแลก!!
…………………………
คอลัมน์ : EC Focus by Virgo
สนับสนุนคอลัมน์ โดย E@ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)