วันเสาร์, กันยายน 28, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSรัฐบาลดันงบประมาณปี 2568 หวังเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจ???
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

รัฐบาลดันงบประมาณปี 2568 หวังเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจ???

การอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 วงเงินรวม 3.75 ล้านล้านบาท ในวาระแรก ระหว่างวันที่ 19-21 มิ.ย.นี้ แม้สุดท้ายแล้ว!! จะผ่านไปได้ด้วยดี จากการลงคะแนนเสียงของบรรดาสส.ที่เป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก ก็ตาม

แต่…ก็เป็นเรื่องที่น่าคิด!! น่าติดตาม!! เพราะจากข้อมูลของ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจจากพรรคก้าวไกล อย่าง “ศิริกัญญา ตันสกุล” ที่นำมาอภิปราย ก็เป็นเรื่องที่น่าตกใจไม่น้อย

เพราะอะไร? เพราะ…“ศิริกัญญา” ระบุว่า เป็นงบประมาณที่“ทำลายสถิติการคลังไทย” ทั้งการเป็นงบประมาณที่มีรายจ่ายสูงที่สุดในรอบ 14 ปี การเป็นงบประมาณที่มีการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลต่อจีดีพีสูงที่สุดในรอบ 36 ปี

ยังไม่พอ!! ยังเป็นงบที่มีสัดส่วนรายจ่ายการลงทุนสูงที่สุดในรอบ 17 ปี ที่สำคัญ… ยังเป็นการจัดทำงบประมาณที่มีสัดส่วนของหนี้สาธารณะต่อจีดีพีสูงที่สุดในรอบ 29 ปี อีกต่างหาก

หากกลับไปดูการจัดทำงบประมาณในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ก็ปรากฎว่า เป็นการจัดทำงบประมาณแบบ “ขาดดุล” มาโดยตลอด

นั่นหมายความว่า…รัฐบาลต้องกู้เงิน เพื่อนำมาบริหารประเทศ นำมาบริหารเศรษฐกิจ ท่ามกลางสารพัดปัจจัยเสี่ยงที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นหนทางที่ไม่สามารถปฏิเสธได้

ต่อให้…รัฐบาลการันตีว่า หลังจากปี 2569 เป็นต้นไป อัตราการขยายตัวของรายได้รัฐบาล จะมีมากกว่าอัตราการขยายตัวของรายจ่าย ส่งผลให้การขาดดุลทางการคลังลดลงตามลำดับ และแรงกดดันของหนี้สาธารณะจะค่อยๆ ลดลง ก็ตาม

แต่นั่นคือ…การคาดการณ์ คือ…การประมาณการ ที่ไม่มีใครการันตีได้ว่า สารพัดความเสี่ยงที่มีอยู่ในเวลานี้จะหมดไปเมื่อใด และไม่มีใครการันตีได้ว่า “ความเสี่ยงใหม่” จะไม่เกิดขึ้น!!

เมื่อวันที่ 28 พ.ค.67 รัฐบาลของ “เศรษฐา ทวีสิน” ได้ให้ความเห็นชอบกับแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ2568-2571) ฉบับทบทวนครั้งที่ 2

ตามแผนฯได้กำหนดไว้ว่า รัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณลดลงเรื่อยๆ โดยในปี 68 รัฐบาลคาดการณ์ว่า จะขาดดุลงบประมาณ 865,700 ล้านบาท หรือ 4.5% ของจีดีพี

ขณะที่ในปีงบประมาณ 69 จะขาดดุลงบประมาณที่ 703,000 ล้านบาท หรือ 3.5% ของจีดีพี ส่วนปี 70 จะขาดดุลงบประมาณที่ 693,000 ล้านบาท หรือ 3.3% ต่อจีดีพี และปี 71 จะขาดดุลงบประมาณ  683,000 ล้านบาท หรือ 3.1% ต่อจีดีพี

อย่างที่บอกนั่นคือ…การคาดการณ์ การประมาณการ !! ที่ไม่มีการการันตีได้ว่า รัฐบาลจะมีโอกาสหรือสามารถจัดทำงบประมาณแบบสมดุล คือมีรายได้ ที่เพียงพอกับรายจ่ายได้เมื่อใดกันแน่

แม้รัฐบาลจะมีสารพัดโครงการ ที่เป็นกลไกให้เศรษฐกิจสามารถเติบโต สร้างรายได้เข้าประเทศ เพิ่มเงินในกระเป๋าให้กับประชาชนคนไทย

ในความเป็นจริงแล้ว สถานการณ์ที่ว่า ยังไม่เคยเกิดขึ้น เพราะปัจจุบันรายได้ต่อหัวของคนไทยมีเพียง 255,868 บาทต่อปี

ขณะที่หนี้ครัวเรือนในปัจจุบันมีมากกว่า 90% ของจีดีพี หรือประมาณ 17 ล้านล้านบาท หรือเฉลี่ยต่อคนแล้ว มีมากกว่า 520,000 แสนบาททีเดียว

หนี้ต่อหัวที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่มาจากที่อยู่อาศัย และยานพาหนะ และยังมีแนวโน้มเป็นหนี้เสียเพิ่มมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจเติบโตน้อย ทำให้มีรายได้น้อยกว่ารายจ่าย

ปัญหาหนี้ ปัญหารายได้ เหล่านี้ จะบรรเทาเบาบางลงไปได้ ต้องมาจากการบริหารงานของรัฐบาล การบริหารงานของผู้นำประเทศ โดยเฉพาะรัฐบาลที่เข้มแข็งและต่อเนื่อง

หากผ่านพ้น!! ฝ่าฟัน ทะลุทะลวงไปได้ นั่นก็หมายความว่า ความเป็นอยู่ของประชาชนคนไทย ก็ย่อมดีขึ้นตามไปด้วย ฐานะประเทศก็เข้มแข็งตามไปด้วยเช่นกัน

แม้รัฐบาลจะผลักดันงบประมาณรายจ่ายประจำปี 68 ได้สำเร็จ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะทำให้เศรษฐกิจเข้มแข็งขึ้นมาในพริบตาได้

ที่สำคัญ!! หากการใช้งบประมาณยังเกินตัวต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่เห็นวี่แววของความสมดุล ก็เท่ากับว่า…ศักยภาพของประเทศกำลังเปราะบางลงไป จนหมดเสน่ห์ในสายตาของนักลงทุน!!

………………………….

คอลัมน์ : EC Focus by Virgo

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img