วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSหืดขึ้นคอ‘แอปฟู้ดดิลิเวอรี่’ ทุนไม่ถึงจริง ก็รอดยาก!!
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

หืดขึ้นคอ‘แอปฟู้ดดิลิเวอรี่’ ทุนไม่ถึงจริง ก็รอดยาก!!

ต้องยอมรับว่า…การปิดตัวของแอปพลิเคชั่น “โรบินฮู้ด” แอปพลิเคชันส่งอาหารดีลิเวอรีสัญชาติไทยแท้ ในวันที่ 31 ก.ค.67 นี้ จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของธุรกิจส่งอาหาร “ดิลิเวอรี” ในไทยแน่นอน

เพราะปัญหาที่เกิดขึ้น กลายเป็นปัญหาวงกว้าง ที่ส่งผลกระทบแบบโดมิโน ไปยังทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ผู้ให้บริการ แพลตฟอร์ม ร้านอาหาร ไรเดอร์ ไปจนถึงผู้บริโภคกันทีเดียว

แม้ทาง “เอสซีบีเอ็กซ์-SCBX” จะระบุว่า เป็นการ “บรรลุหน้าที่” เชิง CSR คืนกำไรให้สังคม อย่างเต็มรูปแบบแล้ว เพราะทั้ง “คนซื้อ-คนขาย-คนส่งสินค้า” ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่และเป็นธรรม

แต่เอาเข้าจริง เมื่อกางแก่นแท้ กางเหตุผล จริงๆ แล้ว ก็ไม่สามารถปฎิเสธได้ว่า “โรบินฮู้ด” ต้องเผชิญปัญหาขาดทุนมาโดยตลอด 4 ปี ตั้งแต่เปิดให้บริการเมื่อปี 63 จนถึง ปี 66 รวมแล้วขาดทุนสะสมสูงถึง 5,563 ล้านบาท

ด้วยการเข้ามาทำหน้าที่เพื่อสังคม ตามวิสัยทัศน์ที่ว่า “แอปฯเพื่อคนตัวเล็กที่ยั่งยืน” จึงไม่มีการเรียกเก็บค่า GP (Gross Profit) หรือพูดง่ายๆ ก็เป็นค่าส่วนแบ่ง หรือ ค่าคอมมิชชัน ที่ร้านค้าจ่ายให้แก่แอปพลิเคชัน ซึ่งปัจจุบันจะอยู่ที่ประมาณ 30-35%

ดังนั้น “โรบินฮู้ด” จึงมี “ร้านลับ-ร้านย่อย” ตามซอกตามซอยหมุนเวียนเข้ามาในระบบเป็นจำนวนมาก เพราะไม่ต้องเสียค่า GP ตามสโลแกน

ในเมื่อรายได้หลักที่ควรจะได้ กลับไม่มี แถมสายป่านก็ไม่ได้ยืดยาวเพียงพอ สุดท้าย!! ก็ต้องยกธงขาวไปโดยปริยาย!!

ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดของ “ฟู้ด ดิลิเวอรี่” ในไทยนั้น มี “แกร็บ ฟู้ด” ที่เป็นผู้นำตลาดโดยครองส่วนแบ่งการตลาดมากถึง 47% รองลงมาคือ “ไลน์แมน-วงใน” ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดที่ 36%

ส่วน “ฟู้ดแพนด้า” ตามมาเป็นอันดับ 3 ครองส่วนแบ่งตลาดที่ 8% อันดับ 4 คือ “ชอปปี้ฟู้ด” ครองส่วนแบ่งตลาด 6% ขณะที่ “โรบินฮู้ด” ครองส่วนแบ่งตลาดเพียงแค่ 3%

จึงไม่ต้องแปลกใจว่า ตั้งแต่เปิดกิจการในปี 63 “โรบินฮู้ด” จึงต้องเผชิญภาวะขาดทุน 87 ล้านบาท ต่อมาในปี 64 ยังขาดทุน 1,335 ล้านบาท ขณะที่ปี 65 ขาดทุน 1,986 ล้านบาท และปี 66 ขาดทุนที่ 2,155 ล้านบาท

ขณะที่เจ้าตลาดอย่าง “แกร็บ ฟู้ด” ที่มีกำไรอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 65 ที่มีกำไร 576.13 ล้านบาท ขณะที่ปี 66 ก็มีกำไรอยู่ที่ 1,308.46 ล้านบาท

ด้านเจ้าอื่นๆ ก็หนีไม่พ้นสภาพตลาดเช่นกัน ต้องผจญกับภาวะขาดทุนเช่นกัน !!

ด้วยโมเดลธุรกิจของธุรกิจ “ฟู้ด ดิลิเวอรี่” ต้องอาศัยเงินทุนจำนวนมหาศาล เพื่ออัดโปรโมชั่น สร้างฐานลูกค้าให้มีขนาดใหญ่ และครองส่วนแบ่งตลาดให้ได้มากที่สุด เพื่อหวังสร้างกำไรในอนาคต

บรรดา “ผู้เล่น” จึงต้องกลืนเลือดกลืนเนื้อตัวเอง เพื่อแข่งขันและก้าวต่อไปให้ได้ แต่จะก้าวได้ไกล อยู่ได้ยาวแค่ไหน เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดต่อไป

แม้ธุรกิจดีลิเวอรีจะหอมหวาน เติบโตได้ดีในโลกยุคดิจิทัล แต่ความหอมหวานนี้ ก็เริ่มลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ ตามความจำเป็นในการสั่งที่ลดลง ที่สำคัญราคาอาหารที่สั่งมีราคาสูงขึ้นมาก

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินไว้ว่า ในปี 67 นี้ ตลาดฟู้ด ดิลิเวอรี่ของไทยจะหดตัวลงจากปีที่แล้วประมาณ 1% โดยมีมูลค่าตลาดประมาณ 86,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกันยังมีการคาดการณ์กันว่า ปริมาณการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชั่น หรือ ฟู้ด ดิลิเวอรี่ น่าจะลดลงประมาณ 3.7% จากปี 66 เป็นผลจากความจำเป็นในการสั่งผ่านแอปฯลดลง

เหตุผลหลักมาจากผู้บริโภคต่างกลับไปรับประทานอาหารที่ร้าน ตามการออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน ขณะที่ส่วนใหญ่ก็ได้กลับมาทำงานเต็มสัปดาห์ตามปกติ

ไม่เพียงเท่านี้!! หากเราไถๆ ลื่นๆ กดๆ ดูในแอปฯ ก็จะพบว่าราคาอาหารในแอปฯแพงขึ้น ทำให้ปริมาณการสั่งลดลง ยิ่งทำให้ต้นทุนสะสมสูงขึ้น ผสมโรงไปกับภาวะเศรษฐกิจที่มีต้นทุนแพงขึ้นในทุกด้าน

จึงเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ธุรกิจฟู้ด ดิลิเวอรี่” เป็นธุรกิจที่ยาก ที่ต้องอัดเงินโปรโมชั่นแบบรัวๆ ในปีแรกๆ หากไปได้ดี…ก็ทำเงินได้มาก!! แต่ถ้าเพิ่มฐานลูกค้าได้ไม่มาก ก็เหนื่อยขาดใจเหมือนกัน

สุดท้าย…ถ้าสายป่านไม่ยาวจริง ก็ต้องถอยทัพ เพราะอย่าลืมว่า ธุรกิจนี้ต้องทำให้ทั้งลูกค้า ร้านอาหาร และไรเดอร์ “พอใจ” จึงจะสมประโยชน์ได้!! ก็ต้องตามติดกันต่อไปว่าบรรดาผู้ประกอบการจะเหลือกี่เจ้า!!

…………………………….

คอลัมน์ : EC Focus by Virgo

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img