สงคราม “หั่นราคา” รถยนต์ไฟฟ้า หรือ “รถอีวี” ในเวลานี้…กำลังส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบต้องพังพินาศ!! เพราะการหั่นราคาครั้งนี้ไม่ใช่เพียงแค่…กลยุทธ์ทางการตลาดที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถซื้อรถยนต์อีวีในราคาที่ถูกลงได้
การลดราคาสินค้า!! ถือเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่ช่วยกระตุ้น “ต่อมอยาก” ให้บรรดาผู้บริโภคยอมควักเงินออกมาซื้อสินค้า เพื่อให้ยอดขายสินค้านั้นๆ เพิ่มมากขึ้น แม้อาจต้องขาดทุนกำไรลดลงไปบ้างก็ตาม
ในภาวะที่เศรษฐกิจยังไม่เฟื่องฟู ยังอยู่ในอาการเซื่องซึม การลดราคาสินค้าในบางประเภท ก็อาจช่วยผู้ประกอบการให้ขายสินค้าได้ และช่วยให้ผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าในราคาที่ถูกลงได้ โดยไม่มีผลกระทบเป็นวงกว้าง
แต่การหั่นราคารถอีวีในรอบนี้ กลับกลายเป็นว่าได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง
อย่างแรก…ทำให้บรรดาเจ้าของรถอีวี ที่ยอมควักเนื้อจ่ายเงินจำนวนมาก เพื่อเป็นผู้นำเทรนด์ตลาด ต้องรู้สึกเหมือนถูกทำร้ายจิตใจ!!
เพราะ…กลายเป็นว่าคนที่ควักเงินซื้อทีหลัง กลับต้องจ่ายเงินในจำนวนน้อยกว่า หากไปเทียบกับเรื่องของมือถือ ที่เวลาตกรุ่น ก็ต้องมีราคาลดลงเป็นเรื่องธรรมดา!!
อย่างไรก็ตาม “ราคารถยนต์” กับ “ราคาโทรศัพท์มือถือ” คงนำมาเปรียบเทียบกันไม่ได้ หลักพันบาท กับหลักแสนบาท มันก็แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดอยู่แล้ว
แม้จะเป็นเรื่องดี เพราะการหั่นราคาของค่ายรถอีวี ได้ส่งผลให้คู่แข่ง ต้องปรับลดราคาตามไปด้วยเช่นกัน เพราะหากไม่ยอมปรับลดราคาลงมาย่อมทำให้แรงซื้อลดน้อยหายไปแน่นอน
สุดท้าย!! คนที่ได้ประโยชน์คือ ..ผู้บริโภคที่ต้องการจะซื้อรถยนต์อีวีไว้ใช้อยู่แล้ว แต่ในเรื่องนี้ก็กลายเป็น “ดาบสองคม” เพราะทำให้ผู้บริโภคกลับคิดว่า อีกหน่อย รถอีวีรุ่นอื่นๆ ก็ต้องลดราคาตามไปด้วยเช่นกัน
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ตลาดรถยนต์เกิดภาวะ “ช็อก” ทำให้เกิด “ช่องว่าง” ของเวลา หรือ “ภาวะสุญญากาศ” คือผู้บริโภคยังไม่ตัดสินใจซื้อรถทันที แต่ขอรอไปอีกระยะ เผื่อว่ารถรุ่นที่ต้องการ…อาจลดราคาลง
เมื่อเกิดช่องว่าง เมื่อเกิดการทอดเวลา เพราะคาดหวังว่า ซื้อทีหลังอาจประหยัดกว่า ก็ทำให้แรงซื้อหรือกำลังซื้อหายไปจากที่ควรจะมีหรือควรจะเป็น ยิ่งส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศลดลงต่อเนื่องตามไปด้วย
ล่าสุด…ยอดขายรถยนต์ในประเทศเดือนพ.ค.67 มีเพียง 49,871 คัน ลดลงมากถึง 23.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ยอดขายโดยรวม 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) มียอดขายรวม 260,365 คัด ลดลง 23.8%
นอกจากนี้ในแง่ของภาพรวมตลาดโดยรวมแล้ว มูลค่ารถยนต์ก็จะหดหายไปด้วยอย่างน้อย 20-30% ซึ่งก็ส่งผลให้เงินในมือของ “เจ้าของ” ก็มีน้อยลง
ปกติแล้วในแต่ละปีจะมียอดขายรถยนต์ในประเทศเฉลี่ย 7 แสนคัน-1 ล้านคัน ซึ่งปัจจุบันรถยนต์ในบ้านเราน่าจะมีอยู่ประมาณ 40 ล้านคัน และใช้งานจริงเพียง 50%
เมื่อมูลค่าของรถยนต์หดหายไป ก็ทำให้เงินของผู้บริโภคหายไปด้วย จากเดิมที่ต้องการเปลี่ยนรถคันใหม่ โดยเอาคันเก่าไปเทิร์น ก็ยังมีส่วนต่างเพื่อไปดาวน์รถคันใหม่ได้
ขณะที่รถป้ายแดง เมื่อมีราคาลดลง นอกจากเจ้าของรถไม่มีเงินไปดาวน์แล้ว ยังต้องหาเงินเพิ่มเพื่อไปคืนไฟแนนซ์เข้าให้อีก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากจะชะลอการซื้อขายออกไปก่อน
ส่วนรถยนต์มือสองไม่ต้องพูดถึง เมื่อป้ายแดงราคาลดลง ย่อมต้องทำให้รถยนต์มือสองร่วงลงตามไปด้วย ขณะเดียวกันการขายรถมือสองก็ยากขึ้น เพราะเทียบราคาแล้วไม่แตกต่างกันมากนัก
นอกจากนี้เมื่อมูลค่ารถลดลง การจะใช้รถยนต์ที่เป็นทรัพย์สินไปตึ๊งกับแบงก์ กับไฟแนนซ์ ไปขอสินเชื่อ ก็ยิ่งได้เงินลดลง เผลอๆ อาจไม่มีมูลค่าพอจนขอสินเชื่อได้ด้วยซ้ำไป
ไม่เพียงเท่านี้…ในแวดวง “ประกันภัย” ก็ต้องปั่นป่วนไปด้วย ทั้งที่ก่อนหน้านี้เบี้ยประกันรถอีวี ก็แพงกว่ารถยนต์ปกติอยู่แล้ว เมื่อราคารถยนต์อีวีลดลงอีก ราคาทุนประกันก็ต้องลดลงตามไปด้วย ขณะที่ “ค่าเบี้ย” จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น เพราะอัตราความเสี่ยงยังคงมีอยู่
ที่สำคัญ!! “ราคารถอีวี” ลดลงจริง แต่ “ค่าซ่อม-ค่าแบตเตอรี่” ไม่ได้ลดลงตามราคารถไปด้วย ดังนั้นการเลือกที่จะปรับขึ้นเบี้ยประกันรถอีวีเพิ่มขึ้น ก็มีอยู่ให้เห็น และบริษัทประกันภัยหลายรายก็เลือกที่จะยอมถอยออกจากแคมเปญแถมประกันฟรี
ในอนาคต!! ยิ่งน่ากลัวมากขึ้น เพราะจำนวนรถอีวีจะเพิ่มมากขึ้นจากรุ่นใหม่ๆ หรือยี่ห้อใหม่ที่เข้าสู่ตลาด และมีบางส่วนที่เริ่มต้นการผลิตในไทย ตามเงื่อนไขมาตรการส่งเสริมการใช้งานอีวี 3.0
นั่นหมายความว่า…ย่อมมีผลต่ออุตสาหกรรมรถยนต์รายเดิมในตลาด เพราะยอดผลิต ยอดขาย ย่อมลดลง ขณะที่รถอีวีก็เพิ่งเริ่มต้นผลิตยังเสียภาษีไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ส่วยรายเดิม รายได้ก็ลดน้อยถอยลงไป บางค่ายต้องยกเลิกการผลิต ก็ทำให้ภาษีที่เคยเก็บได้มากลดตามไปด้วย สุดท้ายก็หนีไม่พ้นที่จะกระทบเศรษฐกิจในภาพรวม!!
……………………….
คอลัมน์ : EC Focus by Virgo