วันจันทร์, สิงหาคม 26, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSเหนื่อย!ดัน“ดิจิทัล วอลเล็ต” ไม่มีเงิน แต่ต้องรักษาคำมั่น
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เหนื่อย!ดัน“ดิจิทัล วอลเล็ต” ไม่มีเงิน แต่ต้องรักษาคำมั่น

ในที่สุด…รัฐบาลก็ต้องยอมถอย!! ที่จะดึงเงินจาก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ “ธ.ก.ส.” มาโปะ โครงการแจกเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัล วอลเล็ต

ขณะเดียวกันรัฐบาล ก็ยอมลดวงเงินงบประมาณที่ต้องใช้ลงไปอีกราว 50,000 ล้านบาท แล้วหันไปเกลี่ยงบประมาณปี 67 และ ปี 68 มาใช้แทนของเดิมที่กำหนดไว้

ตามมติครม.เมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบหลักการในโครงการแจกเงินฯนี้ โดยใช้จ่ายจาก 3 แหล่งเงิน คือ 1.การบริหารงบฯ ปี 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท 2.การดำเนิการผ่านหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท และ 3.งบฯ ปี 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท

ต้องยอมรับว่า…โครงการเรือธง แจกเงินหมื่นบาทของรัฐบาลครั้งนี้ ต้องเผชิญกับแรงคัดค้านมาจากทุกฝ่ายทุกด้าน ทั้งภาคเอกชน ทั้งนักวิชาการ ทั้งฝ่ายค้าน และอีกสารพัด

เพราะต่างฝ่ายต่างมองว่า ได้ไม่คุ้มเสีย!! แต่สุดท้าย ในเมื่อเป็น “คำมั่นสัญญา” รัฐบาลก็พยายามดิ้นในทุกทาง เพื่อให้โครงการนี้คลอดออกมาให้ได้ แม้ว่าจะเนิ่นนานมาเกือบ 1 ปีก็ตาม

ท่ามกลางปัญหา “รายได้” ของรัฐบาล ที่ไม่ได้มีมากพอที่จะสามารถปั้นแต่งโครงการแจกเงินได้ตามใจชอบ แถมยังถูกฝ่ายค้าน ฝ่ายตรงข้าม รอรุมขย้ำเข้าให้อีก

หากดื้อแพ่ง!! โดยที่ไม่มั่นใจ 100% ก็อาจเพลี่ยงพล้ำ!! เสี่ยงต่อการเป็นคดีความได้ไม่น้อย เพราะฝ่ายค้านก็พยายามแฉข้อมูลสารพัด โดยเฉพาะในเรื่องของการใช้เงินของ ธ.ก.ส.

จึงกลายเป็นที่มาของการลดงบประมาณของโครงการลงเหลือเพียง 4.5 แสนล้านบาท โดยยกเอาคำเตือนของ “สำนักงบประมาณ” และ “กระทรวงการคลัง” มาเป็นเหตุผล

โดยเฉพาะในเรื่องของโครงการต่างๆ ของรัฐบาลในการช่วยเหลือประชาชนนั้น ที่ประเมินว่า การขอรับความช่วยเหลือจะไม่เต็ม 100% เมื่อดูจากโครงการเดิมๆ ที่ผ่านมา

เช่นเดียวกัน…ในโครงการแจกเงินดิจิทัลฯ นี่ก็เหมือนกัน…ที่เชื่อว่าจำนวนผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ อาจต่ำกว่า 90% ของจำนวนผู้มีคุณสมบัติที่เข้าเงื่อนไข ที่ประเมินไว้ว่าจะมีมากกว่า 50 ล้านคน

อย่างที่บอก!! โครงการนี้ลุ้มลุกคลุกคลานมานาน หลังจากรัฐบาลพยายามล้วงควักหาเงินมาใช้ในโครงการ ตั้งแต่การขอออกเป็นเงินกู้หรือพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท โดยอ้างว่า เหตุผลความจำเป็นเรื่องของวิกฤติเศรษฐกิจ ที่พยายามด้นไปในทุกทาง

สุดท้าย…ก็ต้องยกธงขาว!! จากคำเตือนของ “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ” หรือ “ป.ป.ช.”

ในเมื่อออกพ.ร.บ.กู้เงินฯ ไม่สำเร็จ ก็ต้องมาจัด มาเกลี่ยเงินงบประมาณ นั้นแหล่ะ ทั้งจากงบฯปี 67 และปี 68

ยังไม่พอ!! ก็ต้องไปดึงสภาพคล่องส่วนเกินของธ.ก.ส. ตามมาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาร่วมวงด้วย

แต่เอาเข้าจริง การเกลี่ยงบฯปี 67 ก็ยังไม่พอ ไม่ลงตัว ก็ต้องไปตั้งงบประมาณเพิ่มเติมกลางปี เข้าให้อีก 1.12 แสนล้านบาท แถมกระบวนการก็ผ่านครม.ไปเรียบร้อย รอจ่อเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ตามลำดับต่อไป

มาล่าสุดเมื่อวันที่ 10 ก.ค.67 ก็มีการเปลี่ยนแปลงกันอีกรอบ เป็นครั้งที่ 4 ที่รัฐบาลยอมถอยที่จะใช้เงินสภาพคล่องของ ธ.ก.ส. วงเงิน 1.723 แสนล้านบาทออกไปก่อน

แล้วหันมาลดงบประมาณของโครงการลง พร้อมหันมาใช้วิธกีารบริหารจัดการงบประมาณ ปี 67 และ 68 แทน โดยจะมาจากงบฯปี 67 จำนวน 1.65 แสนล้านบาท

แยกเป็นงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม 1.22 แสนล้านบาท งบประมาณจากการบริหารจัดการทางการคลังและงบประมาณอีก 42,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังเป็นงบประมาณปี 68 จำนวน 2.85 แสนล้านบาท แยกเป็นงบประมาณเพิ่มเติม 152,700 แสนล้านบาท และ การบริหารจัดการ 1.323 แสนล้านบาท

ขณะเดียวกัน “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี เตรียมชี้แจงแถลงไขรายละเอียดทั้งหมดในวันที่ 24 ก.ค.นี้ เพื่อสรุปโครงการ ก่อนให้เกิดการใช้จ่ายจริงในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้

ทั้งหลายทั้งปวง…ก็อดทนรอกันอีกนิด ว่าจะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ตามที่เคยให้คำมั่นสัญญากับกว่า 10.96 ล้านคะแนนเสียง แค่ไหน?

………………..

คอลัมน์ : EC Focus by Virgo

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img