วันพฤหัสบดี, กันยายน 5, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSปฎิรูปเศรษฐกิจ!!...ไม่ยาก รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ปฎิรูปเศรษฐกิจ!!…ไม่ยาก รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ

ทุกวันนี้…เศรษฐกิจไทยยังไม่พ้นจากปากหลุม สารพัดความเสี่ยงยังฉุดรั้งศักยภาพของเศรษฐกิจไทยไม่แข็งแรงโดยเฉพาะเศรษฐกิจในประเทศ ที่นับวันยิ่งหมดแรง ยิ่งอ่อนแรง

แม้บรรดาสำนักวิจัยต่างเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว แต่เป็นการฟื้นตัวแบบเฉพาะกลุ่ม แบบกระจุกตัว ธุรกิจไหน ใครจับทางถูก โดยเฉพาะการค้าออนไลน์ ก็ยังสามารถต่อลมหายใจให้เดินหน้าต่อไปได้

แต่ในแง่ของเศรษฐกิจที่แท้จริง โดยเฉพาะ “ภาคการผลิต” กำลังอ่อนระโหยโรยแรง เพราะไม่มีน้ำทิพย์มาหล่อเลี้ยงให้โงหัวขึ้น ทั้งต้นทุนการผลิตในทุกด้านที่ทะยานขึ้นเป็นเงาตามตัว ทั้งค่าแรง และอีกสารพัด

ขณะที่การเข้าถึงแหล่งเงินทุน ก็ยากแสนเข็ญ แม้รัฐบาลได้ออก มาตรการซอฟต์โลน หรือ “สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ” ผ่านธนาคารออมสิน ออกมาช่วยต่อลมหายใจให้กับบรรดาเอสเอ็มอี มีแหล่งเงินที่จะทำมาหากินต่อไปได้

แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจ ที่ยังมีอาการของ “ลอง โควิด” ให้เห็นอยู่ ยิ่งซ้ำเติมให้เศรษฐกิจไทยยังโตต่ำกว่าศักยภาพที่ควรจะเป็น โดยมีการประเมินกันว่าหากเศรษฐกิจไทยยังไม่มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง โอกาสการเติบโตคงมีให้เห็นต่ำกว่า 2% ก็เป็นไปได้

ในเรื่องนี้ สำนักวิจัยเคเคพี ในกลุ่มของเกียรตินาคินภัทร ให้เหตุผลไว้อย่างน่าสนใจว่า มาจาก 3 ปัจจัยสำคัญ ทั้งจากความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง เพราะการแข่งขันจากต่างที่เข้มข้นเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” อย่างเต็มรูปแบบ ยิ่งทำให้กำลังแรงงานที่ลดลง แถมยังแก่ตัวลงไปทุกวันทุกวัน รวมไปถึงการขาดการลงทุนที่ช่วยเพิ่มผลิตภาพ

ที่สำคัญ!! “คุณภาพของการศึกษา” ที่นำไปสู่ปัญหา “คุณภาพแรงงาน” และการขาดการลงทุนไม่ว่าจะเป็นจากภาคเอกชนในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการขาดนโยบายสนับสนุนนวัตกรรม หรือแม้แต่การเพิ่มผลิตภาพแรงงาน

ปัจจัยที่ว่า… เป็นประเด็นสำคัญอย่างยิ่งที่มีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะตราบใดที่ไม่มีการลงทุนที่จะยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีที่สำคัญต่อเศรษฐกิจในอนาคตและทุนมนุษย์

จึงกลายเป็นว่า… เป็นเรื่องที่ยากที่จะทำใผ้ผลิตภาพเพิ่มขึ้นจนไปทดแทน ไปชดเชยแรงงานหรือทุนที่ลดลงไป หาก “ผู้บริหารประเทศ” ไม่เร่งเพิ่มขีดความสามารถให้กับภาคผลิตของประเทศ นั่น!! ก็หมายความว่าศักยภาพเศรษฐกิจจะยิ่ง…หดหาย ยิ่ง…ถดถอย น้อยลงไป

ไม่เพียงเท่านี้ ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับปัญหา “หนี้ครัวเรือน” ที่ยังกดไม่ลง และกำลังจะกลายเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่จะทำลายร้างเศรษฐกิจฐานรากที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ของประเทศ

จำนวนหนี้สินที่อยู่ภายใต้เครดิตบูโรมีมากกว่า 13.6 ล้านล้านบาท และได้กลายเป็นหนี้เสียไปแล้ว 1.09 ล้านล้านบาทหรือราวๆ 8% แถมยังเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างน่าตระหนก

ขณะที่ “หนี้ภาคเอกชน” เอง ก็ยังมีเพิ่มขึ้น ตามภาระจากเศรษฐกิจที่ซึมกระทือ จึงทำให้เอกชนหลายแห่ง ถูกหั่นเครดิตลงไปไม่น้อย และถ้าเศรษฐกิจยังไม่สามารถโงหัวขึ้นมาให้ได้แบบแข็งแกร่ง

ดังนั้น…ประเทศไทยก็มีความเสี่ยงที่อาจถูกลดเรทติ้งลงไปด้วยเช่นกัน!!

สำนักวิจัยเคเคพี ระบุว่า การปฎิรูปเศรษฐกิจ!! หลายฝ่ายอาจมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่ถ้าไม่เกิดขึ้น!! ก็มีโอกาสเห็นเศรษฐกิจโตต่ำกว่า 2% เช่นกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากจะทำให้ประเทศไทยกลับมาเนื้อหอม เต็มไปด้วยเสน่ห์ เพื่อดึงดูดการลงทุน ก็เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องปฎิรูปเรื่องของการศึกษา เพื่อเพิ่มแรงงานทักษะสูง

นอกจากนี้ไทยต้องให้ความสำคัญกับ การเปิดเสรีภาคบริการ โดยเฉพาะการส่งเสริมและเพิ่มการแข่งขันในภาคบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เพราะเวลานี้ “ภาคบริการ” ได้กลายเป็นภาคเศรษฐกิจที่ใหญ่และมีผลต่อศักยภาพของเศรษฐกิจไทยที่สุด

เช่นเดียวกับการเพิ่มผลิตภาพของ “ภาคการเกษตร” ที่ต้องยอมรับว่า ณ เวลานี้ เป็นภาคเศรษฐกิจที่มีผลิตภาพที่ต่ำ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเพิ่มมูลค่าให้กับภาคเกษตร ซึ่งจะมีผลต่อศักยภาพเศรษฐกิจไทยได้ไม่น้อย

ท้ายที่สุด…คือเรื่องของ “ภาคการคลัง” เพราะค่าใช้จ่ายเรื่องของสังคมสูงวัยกำลังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อฐานะทางการคลังไม่น้อย เพราะการที่มีฐานภาษีในระดับต่ำ โดยมีสัดส่วนรายได้ต่อจีดีพีไม่ถึง 15% แต่รายจ่ายด้านสาธารณสุขกลับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงกลายเป็นข้อจำกัดในการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจอย่างจริงจัง

ข้อเสนอแนะเหล่านี้… หากผู้บริหารประเทศให้ความสำคัญ ให้ความสนใจ แล้วดำเนินการอย่างจริงจัง ก็เชื่อว่าการที่เศรษฐกิจจะกลับมาเติบโตได้ในระดับ 4-5% คงไม่ยากเกินเอื้อม!!!

………………………………..

คอลัมน์ : EC Focus by Virgo

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img