ไม่น่าแปลกใจ!! หากเวลานี้ บรรดาภาคเอกชนจะหยิบยกกระแสสินค้าจีนราคาถูก เข้ามาไล่ถล่มตลาดไทยในทุกรูปแบบ มาตีฆ้องร้องป่าวประกาศให้หน่วยงานกำกับดูแลออกอาการ สะดุ้งสะเทือนกันสักหน่อย
โดยเฉพาะล่าสุดจีนส่งแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ชื่อดังอย่าง Temu เข้ามารุกคืบในกลุ่มประเทสอาเซียน หลังบุกตลาดสหรัฐจนทำให้ Amazon อีคอมเมิร์ซรายใหญ่ในสหรัฐยอดขายลดลง
Temu เข้ามาเปิดตลาดในประเทศไทย เป็นประเทศที่ 3 ในชาติอาเซียน ต่อจากฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย โดยขายสินค้าจากโรงงานตรงสู่ผู้บริโภคในราคาถูก ที่ถือว่าป็นการค้ารูปแบบใหม่ของจีน
เรื่องนี้…บรรดาภาคเอกชนต่างมีมุมมองเหมือนกันว่าจะกลายเป็น “สนามรบ” ของสงครามการค้ารอบใหม่ ที่หนักที่สุดอีกรอบหนึ่ง
อย่าลืมว่าที่ผ่านมาในเรื่องของการค้าอีคอมเมิร์ซ เอกชนไทยโดยเฉพาะรายเล็กรายน้อยก็ถูกแพลตฟอร์มรายใหญ่ อย่าง ลาซาด้า TikTok มาตีตลาดจนช้ำไปก่อนหน้านี้แล้ว
แต่!! ก็ยังไม่หนักหนาเท่ากับการเปิดตลาดในไทยของ Temu เพราะมีสินค้าจากโรงงานผลิตสินค้าโดยตรงจากจีนเป็นแสนแห่ง หากสามารถเจาะตลาดเข้ามาในไทยได้ทุกประเภทอุตสาหกรรม
ก็เชื่อได้ว่าอุตสาหกรรมไทย “เจ๊ง” กันหมดแน่นอน เพราะถูกซ้ำเติมจากปัญหาที่ทุกวันนี้สินค้าจีน ก้เข้ามาทุ่มตลาดในไทยเป็นจำนวนมาก
แม้รัฐบาลแก้ปัญหาด้วยการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มหรือแวต กับสินค้านำเข้าทุกชิ้นที่มีราคาต่ำกว่า 1,500 บาท ก็ตาม แต่อย่าลืมว่าสินค้าจีนมีต้นทุนที่ถูกมาก
เรียกได้ว่า…ความวัวไม่ทันหายความควายก็เข้ามาแทรกอีกแล้ว!! สุดท้ายบรรดาเอสเอ็มอี ที่ต่อสู้ไม่ไหว ในสภาพที่สารพัดพายุบีบรัด เช่นนี้ ก็เท่ากับว่า “อัตราเร่ง” ไปสู่หายนะ ยิ่งเร็วเพิ่มมากขึ้นไปอีก
เอกชนทั้ง 3 สถาบัน ทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ต่างออกอาการกังวล พร้อมส่งเสียงดัง ๆ
พร้อมทั้งแสดงความกังวลถึงการค้าระหว่างไทยกับจีน เพราะไทยขาดดุลการค้ากับจีนมาอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมาในครึ่งปีแรก ของปี 67 นี้ ไทยนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นถึง 7.12% คิดเป็นมูลค่ากว่า 37,569.89 ล้านดอลลาร์
การนำเข้าเป็นจำนวนมากเช่นนี้ ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้าจากจีนถึง 19,967.46 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 15.66% หรือคิดเป็นเงินไทยก็กว่า 7.2 แสนล้านบาทไปแล้ว
นั่นเท่ากับว่า….ได้ส่งผลกระทบกับภาคการผลิตกว่า 23 กลุ่มอุตสาหกรรม เผลอ ๆ หากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลายก็อาจบานปลายกระทบไปถึง 30 อุตสาหกรรม ทีเดียว!!
ที่สำคัญ!! การขาดดุลการค้าที่เกิดขึ้น เป็นการขาดดุลติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง โดยปี 66 ไทยขาดดุลการค้าจีนที่ 1.29 ล้านล้านบาท ใกล้เคียงกับปี 65 ที่ไทยก็ขาดดุลการค้าจีนกว่า 1.29 ล้านล้านบาท ขณะที่ในปี 64 ไทยขาดดุลการค้าจีนกว่า 9.54 แสนล้านบาท
ไม่ใช่แค่เรื่องการถล่มราคาของสินค้าจีนเท่านั้น ภาคการผลิตของไทยในเวลานี้ ก็แผ่วลงอย่างต่อเนื่องติดต่อกัน ซึ่งในครึ่งปีแรกยังมีโรงงานปิดตัวไปแล้วกว่า 667 แห่ง เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 86.31% หรือเฉลี่ยเดือนละ 111 แห่ง
บรรดาโรงงานที่ปิดตัว ต่างมีเงินทุดลดลงเหลือเฉลี่ยเพียงโรงงานละ 27.12 ล้านบาท นั่นสะท้อนให้เห็นว่า การปิดตัวที่เกิดขึ้นต่างเป็นเอสเอ็มอี หรือโรงงานขนาดเล็ก
แม้ว่าข้อมูลของบีโอไอ จะระบุว่ามีโรงงานเปิดตัวในช่วงครึ่งปีแรกกว่า 1 พันแห่ง เพิ่มขึ้นกว่า 122% ก็ตาม แต่ส่วนใหญ่แล้วเป็นบริษัทต่างชาติข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนในไทย
ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าเอสเอ็มอีไทย จำนวนมากที่ยังอยู่ในโลกแบบเก่า ที่เรียกกันว่า Brown และยังไม่สามารถก้าวทันไปสู่โลกสีเขียว ตามเมกะเทรนด์โลกในเวลานี้ได้
ดังนั้นการแก้ไขปัญหา แม้ต้องขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการที่ต้องปรับตัว ก้าวข้ามโลกเก่าเพื่อเข้าสู่โลกใหม่ให้ได้ด้วยตัวเองก่อนเป็นหลัก
ขณะเดียวกันหน่วยงานกำกับดูแล ก็ต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือแบบจริงใจ เต็มใจ เข้าใจปัญหา และเข้าใจบริบทของประเทศไทยอย่างแท้จริง
ปัญหาเอสเอ็มอีเป็นปัญหาใหญ่ เพราะเป็นกระดูกสันหลังในภาคอุตสาหกรรม หากละเลย หรือได้แต่บอกว่า ช่วยแล้ว ช่วยอยู่และช่วยต่อไป อาจไม่เพียงพอ!!
……………………………..
คอลัมน์ : EC Focus by Virgo