ในที่สุดคณะรัฐมนตรีของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ได้ตัดสินใจร่วมกันออกสารพัดมาตรการเยียวยาคนไทยทั้งประเทศที่กำลังเดือดร้อนอย่างหนักจากพิษของไวรัสโควิด-19 ในระลอกที่ 3
สารพัดมาตรการที่ออกมา ทั้งการเพิ่มเงินในโครงการ “เราชนะ-ม.33เรารักกัน” อีกคนละ 2,000 บาท ที่กำหนดให้ใช้จ่ายภายในวันที่ 30 มิ.ย.นี้
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการ “ลดค่าน้ำ-ลดค่าไฟ” ในเดือนพ.ค.-มิ.ย.นี้อีก 2 เดือน รวมไปถึงโครงการ “คนละครึ่ง เฟสที่ 3” ที่เบื้องต้นคาดกันว่าจะให้เงินใช้จ่ายคนละ 3,000 บาท โดยเริ่มเดือนก.ค.ไปจนถึงสิ้นปี
แถมยังมีโครงการใหม่เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของคนมีเงินออมผ่านโครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” โดยรัฐบาลจะให้อี-วอยเชอร์สูงสุดไม่เกิน 7,000 บาท
ขณะเดียวกันยังมีเรื่องของ “เงินกู้สู้ภัยโควิด 19” ซึ่งเป็นเงินกู้ฉุกเฉินที่ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) จะให้เงินกู้ตามเงื่อนไขคนละไม่เกิน 10,000 บาท คิดดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน ไม่เกิน 3 ปี รวมทั้งการขยายเวลาพักหนี้ให้กับลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ไปจนถึงสิ้นปี
รวม ๆ กันแล้ว สารพัดโครงการที่ออกมาในรอบนี้จะโอบอุ้ม ช่วยเหลือคนไทยที่เดือดร้อนได้ประมาณ 51 ล้านคน มีเงินไหลเข้าระบบ 473,000 ล้านบาท
ที่สำคัญ!!นอกจากจะช่วยเหลือเยียวยา ผู้ที่เดือดร้อนกันทั้งประเทศแล้ว ยังเป็นการโอบอุ้มประคับประคองไม่ให้เศรษฐกิจไทยหัวทิ่มลงไปอีก แม้จีดีพีไทยในปี 64 นี้หมดทางจะเติบโตได้ที่ 4% ตามความต้องการของ ผู้นำประเทศ ก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ประชาชนคนไทยที่ได้รับเงินช่วยเหลือ ซึ่งรวมถึงการจ่ายเงินให้กับผู้มีรายได้น้อยในบัตรคนจน และคนที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษเพิ่มอีกคนละ 200 บาท เป็นเวลา 6 เดือน คงยังต้องรอความชัดเจนอีกครั้งว่า เงินทั้งหมดจะเข้าสู่กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของเรา…เมื่อใดกันแน่
อย่าลืมว่า…โครงการเยียวยาที่ออกมา ไม่ใช่ว่าจะรับเงินกันทันที มีเพียง 2 โครงการคือ “เราชนะ-ม.33เรารักกัน” ที่คาดว่าจะเริ่มใช้เงินกันได้ภายในปลายเดือนพ.ค.นี้
ส่วนโครงการ “คนละครึ่ง เฟสที่ 3” ที่เป็นที่นิยมชื่นชอบกันถ้วนหน้านั้น กว่าจะได้เงินใช้จ่ายจริง ๆ เชื่อว่าน่าจะราวๆเดือนก.ค.เช่นกัน เพราะต้องรอทุกอย่างให้พร้อม เช่นเดียวกับบัตรคนจน และกลุ่มคนพิเศษ
ที่สำคัญ!! รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังเอง เค้าต้องการให้ความช่วยเหลือในโครงการนี้เพิ่มเติมอีก จากเดิมที่มีผู้ได้สิทธิอยู่แล้วจำนวน 15 ล้านคน ก็จะดำเนินการเพิ่มเติมอีก 16 ล้านคน ก็เพื่อขยายความช่วยเหลือให้ครอบคลุมจำนวนผู้ที่เดือดร้อนให้ได้ 31 ล้านคน
ทั้งนี้ทั้งนั้นคนที่ได้สิทธิ์โครงการนี้ ก็จะได้รับเงินคนละ 3,000 บาท ใช้จ่ายได้ในลักษณะรัฐร่วมจ่าย 50% วันละ 150 บาท จนครบจำนวน พร้อมกำหนดใช้จ่ายได้จนถึงสิ้นปี
แต่เงื่อนไขสำคัญต้องดูว่า…สถานการณ์โควิด จะบรรเทาเบาบางลงไปหรือไม่ เพราะหากมีการใช้จ่ายกันทุกวัน โอกาสการแพร่กระจาย น่าจะไม่ปลอดภัยเท่าใดนัก
เพราะกระบวนการซื้อการขาย การพูดคุยกับแม่ค้า-พ่อค้า ยังมีความใกล้ชิดกันอยู่ หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น แต่กลับให้ใช้โครงการ “คนละครึ่ง” กันอย่างคึกคัก ก็จะกลายเป็นว่า “ไม่คุ้ม”
จากนั้นรัฐจะจ่ายเงินคืนให้ประมาณ 10-15% ในเดือนถัดไปในรูปแบบของบัตรอี-วอยเชอร์ เพื่อนำไปซื้อสินค้าและบริการต่อ เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายต่อเนื่องเป็นทอด ๆ
ส่วนโครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” แม้เวลานี้ ยังไม่ชัดเจน ว่าเป็นอย่างไรกันแน่ จริง ๆ แล้วก็เหมือนๆกับโครงการ “ชอปดีมีคืน” นั่นแหล่ะ โดยเราจ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการตามเงื่อนไขไปก่อน
เดิมที!! เราจะคุ้นเคยกับการคืนภาษี การลดหย่อนภาษี แต่รอบใหม่ก็เป็นการคืนผ่านคูปองอิเล็กทรอนิกส์ ที่สำคัญ…ต้องลองคำนวณเงินให้ชัดเจนกันก่อน เพราะรัฐตั้งเงื่นไขคืนเงินให้ 10-15% ของเงินที่จ่าย
นั่นหมายความว่า…ต้องซื้อสินค้าตั้งแต่ 70,000 บาทขึ้นไป จึงจะได้เงินคืนผ่านคูปองฯ 7,000 บาท ซึ่งก็ตรงกับเป้าหมายที่รัฐบาลเค้าต้องการกระตุ้นให้คนรวยออกมาใช้จ่าย
ทั้งหลายทั้งปวง!! ก็ต้องมารอดูฝีมือรัฐบาลกันว่า ระหว่างมาตรการเยียวยาที่ออกมา กับปัญหาการจัดการเรื่องการฉีดวัคซีน จะลบล้างคำครหา กันได้มากน้อยเพียงใด!!!
…………………………
คอลัมน์ : EC Focus by Virgo