วันจันทร์, กันยายน 16, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSลุ้น!“นายกฯอิ๊งค์”คืนภาษีคนจน ด้วย “ระบบ NIT” ลดเหลื่อมล้ำ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ลุ้น!“นายกฯอิ๊งค์”คืนภาษีคนจน ด้วย “ระบบ NIT” ลดเหลื่อมล้ำ

กลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นฮอต!! ประเด็นฮิต!! หลัง “ทักษิณ ชินวัตร” ได้โชว์วิสัยทัศน์ โดยหยิบยกเรื่องของ Negative Income Tax (NIT) เพื่อดึงคนไทยทุกคนเข้าสู่ระบบภาษี

โดยใครที่มีรายได้น้อย ก็ไม่ต้องเสียภาษี แต่จะได้คืนภาษี ส่วนใครที่มีรายได้สูง ก็ต้องเสียภาษีตามระบบ แต่ต้องเป็นการเสียภาษีที่เป็นธรรมและถูกต้อง

เอาเข้าจริง เรื่องของ NIT ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร เพราะ กระทรวงการคลัง โดย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เคยทำการศึกษาไว้เมื่อปี 57 แต่ยังไม่มีการหยิบยกหรือนำมาโยนหินถามทางเพื่อนำไปสู่การใช้อย่างจริงจังใดๆ

ว่ากันว่า…แนวคิดของการจัดเก็บภาษีในรูปแบบนี้ เป็นความพยายามที่จะสร้างระบบการจัดเก็บภาษีให้ง่าย ไม่ว่าจะรวย หรือจะจน ก็ตาม หากมีรายได้ก็ต้องเสียภาษี ซึ่งแตกต่างจากระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปัจจุบัน

โดยภาษี NIT นี้ กำหนดให้ประชาชนทุกคนที่มีรายได้ ต้องยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือ ภงด. เมื่อตรวจสอบแล้ว มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ รัฐบาลจะโอนเงินสดช่วยเหลือให้ในรูปของระบบสวัสดิการแทน

ทั้งหลายทั้งปวง… ก็เพื่อสร้างแรงจูงใจในเชิงบวก ให้คนไทยเข้าสู่ระบบภาษีครบถ้วน เป็นธรรม ไม่ใช่วิ่งหนีภาษีเหมือนที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ ที่เมื่อมีช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นช่องทางธรรมชาติ หรือช่องทางที่ปรุงแต่งขึ้นมา ก็หาทางวิ่งหลบ วิ่งซุก กันถ้วนหน้า

ในเรื่องของการช่วยเหลือ จะแบ่งเป็นขั้นตามสถานะรายได้ โดยภาษีระบบนี้ สามารถใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการจัดสวัสดิการของรัฐบาล โดยระบุตัวผู้ที่สมควรได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลได้อย่างถูกต้อง

พูดง่ายๆ ก็คือหากรัฐบาลต้องการจัดระบบรัฐสวัสดิการ หรือทำนโยบายประชานิยม ก็จะทำให้การดูแลนั้น ตรงทิศตรงเป้า ตรงจุดหมาย ทำให้สามารถดูแลคนจนอย่างเป็นระบบ

ไม่ใช่!! เป็นการ “เหวี่ยงแห” ช่วย อย่างที่เราๆ ท่านๆ เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน ที่หากต้องการรักษาเก้าอี้ รักษาตำแหน่ง ต้องการครองใจคะแนนเสียงไว้ให้นานเท่านานเท่าที่จะทำได้ ก็ใช้วิธีการ “แจก”

การแจก!! ในแต่ละครั้ง ต่างใช้เงินงบประมาณจำนวนมหาศาล กลายเป็นภาระทางงบประมาณจำนวนไม่น้อย แบบชนิดที่เรียกว่า แม้จะมีรายได้เพียงน้อยนิด ก็ต้อง “กู้” มาแจกให้ได้

แต่หากรัฐบาลปฎิรูประบบภาษีใหม่ ให้เข้าไปสู่ระบบ NIT นี้ ก็จะรู้ว่าประชาชนคนไหน ที่ควรได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างแท้จริง ช่วยให้รัฐบาลประหยัดเงินงบประมาณ และยังสามารถใช้จ่ายเงินงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก

อย่างเช่น…หากรัฐบาลกำหนดเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำต่อปีที่ 200,000 บาท ดังนั้นผู้มีรายได้เท่ากับหรือมากกว่าปีละ 200,000 บาท ก็ต้องเสียภาษี

ขณะที่ใครไม่มีรายได้เลย หรือมีรายได้ต่ำกว่าปีละ 200,000 บาท ประชาชนกลุ่มนี้รัฐบาลจะจ่ายเงินชดเชยให้แทน โดยเป็นการจ่ายตามสัดส่วนที่กำหนด

ส่วนเงินที่นำมาจ่ายชดเชยให้กับผู้ที่มีรายได้น้อย ก็เป็นรายได้จากภาษีของคนรวย หรือคนที่มีรายได้สูงๆ นั่นแหล่ะ ก็เหมือนกับว่าเป็นการนำเงินจากคนรวยมาช่วยคนจนนั่นแหล่ะ!!

ระบบภาษีแบบ Negative Income Tax นอกจากไม่ใช่เป็นแนวคิดใหม่ของประเทศไทยแล้ว ในหลายๆ ประเทศก็ใช้ระบบภาษีนี้อยู่แล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา สวีเดน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อิสราเอล หรือ เกาหลีใต้

ส่วนไทยถ้าจะมีการปฏิรูประบบภาษีจากเดิมไปสู่ระบบภาษีแบบ Negative Income Tax จะสามารถทำได้จริงไหม แล้วใครที่จะได้ประโยชน์มากที่สุด

เมื่อแนวคิดนี้…ถูกโยนออกมา แม้ยังไม่เกิดขึ้น แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้เช่นกันว่า เมื่อ “พ่อคิด” แล้ว “ลูก” อย่าง “นายกฯ อิ๊งค์” ก็ต้องนำไอเดียไปใช้ เพราะตามหลักการแล้วถือว่าเป็นระบบภาษีที่ดีมาก

ขณะเดียวกัน บรรดานักเศรษฐศาสตร์ บรรดากูรู ต่างขานรับ “ไอเดีย” ของ “ทักษิณ” เป็นจำนวนไม่น้อย ทีเดียว เพราะเป็นหลักการที่ดี และทำให้ช่วยคนจนที่จนจริงๆ ได้มากขึ้น ทำให้เห็นสัดส่วนรายได้ของประชากรอย่างชัดเจน และลดการปลอมแปลงรายได้เพื่อขอรับสวัสดิการของคนบางกลุ่ม

แต่ปัญหา? อยู่ที่ว่า คนไทยอยู่ในระบบน้อยเกินไป เมื่อเทียบกับสัดส่วนของประชากรทั้งประเทศ โดยข้อมูลจากสภาพัฒน์ระบุว่า คนไทยมากกว่า 64.3% ทีเดียว ที่ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ด้วยสารพัดเหตุผล ที่การยื่นแบบเสียภาษีไม่เป็นไปตามที่ควรจะเป็น หรือพูดง่ายๆ ก็ไม่อยากเสียภาษี ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่า ระบบภาษีแบบ Negative Income Tax นี้จะถูกหยิบยกอย่างจริงจังในรัฐบาลของ “นายกฯอิ๊งค์” หรือไม่!!

……………

คอลัมน์ : EC Focus by Virgo

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img