แทบจะเรียกได้ว่าเป็นเรื่องปกติของสังคมไทย ที่ทุกครั้งที่ภาวะเศรษฐกิจสะดุดหรือชะลอตัว…ก็จะเกิดปัญหาเรื่อง “เงินกู้นอกระบบ” ตามมาเป็นเงาตามตัวกันตลอด
ด้วยเพราะเป็นช่องทางที่หาเงิน ที่เข้าถึงแหล่งเงินได้ง่าย แม้ต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงแสนแพงก็ตาม!! แต่ในเมื่อ “เข้าตาจน” ไม่มีเงิน ไม่มีทอง ไม่มีรายได้ ก็ต้องจำยอมเพื่อขอใช้บริการ
ที่สำคัญ…ไม่ใช่เพียงแค่ถูกโขกเรื่องดอกเบี้ยเท่านั้น ยังมีปัญหา “ทวงหนี้” ตามมาอีกสารพัด บางครั้งบางกรณีถึงกับ “เสียชีวิต” ก็มีให้เห็นอยู่มากมาย
นอกจากนี้สังคมไทยอยู่ในยุคของสังคมไร้เงินสด อยู่ในยุคของโลกออนไลน์ ดังนั้นการใช้ “เทคโนโลยี” เพื่ออำนวยความสะดวก เพื่อพัฒนาการ “ใช้เงิน” ของคนไทยได้เปลี่ยนแปลงไปมาก เพราะทุกอย่าง…ของการใช้ชีวิตในเวลานี้ ขึ้นอยู่กับ “สมาร์ทโฟน” เป็นหลัก
ดังนั้น “แอปพลิเคชั่นเงินกู้” ก็เกิดขึ้นกันเป็นดอกเห็ด เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า ลูกหนี้ และถ้าตัดสินใจผิดพลาด ไม่ได้ตรวจสอบเจ้าของแอปฯให้แน่ใจ การตัดสินใจพลาดเพียงแค่ชั่ววินาที ก็อาจทำให้ชีวิตหายนะได้เช่นกัน
สารพัดแอปฯเงินกู้ ที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ใช่ว่าจะเป็นแอปฯที่ถูกต้องไปซะทั้งหมด ประเภท “แอปฯเถื่อน” ก็มีอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย โดยสามารถพินิจพิเคราะห์ได้ไม่ยากนัก
โดยเฉพาะอะไรๆ ที่ให้ง่าย ๆ หรือโฆษณาชวนเชื่อเกินจริง ดึงดูดสารพัด ผ่านมาทางเอสเอ็มเอส สมาร์ทโฟน ไลน์ เฟซบุ๊ก หรือยูทูป และอีกมากมายสารพัดช่องทาง
ดังนั้น!!ใครก็ตามที่กำลังเข้าตาจน แล้วกำลังจะหันไปพึ่งพาแอปฯเงินกู้แบบออนไลน์ ก็ต้องศึกษารายละเอียด ที่ไปที่มาให้รอบคอบ ก่อนตัดสินใจ
“ธนา โพธิกำจร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด บอกว่า เวลานี้แอปฯเงินกู้ที่ไม่ถูกกฎหมาย มีอยู่จำนวนมาก เห็นได้จากกระแสข่าวที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เช่น กรณีของการบุกทลายแก๊งแอปพลิเคชันเงินกู้ทุนต่างชาติรายใหญ่ ที่มีแอปพลิเคชันเงินกู้นอกระบบที่อยู่ในเครือข่ายจำนวนมาก
สุดท้าย!! แก๊งนี้ถูกจับไป ถูกกวาดล้าง แต่มักมีการ กลับมาเปิดดำเนินการซ้ำ ในชื่ออื่น ในรูปแบบใหม่ ๆ อยู่เสมอ และหลอกลวงให้หลายคนหลงเชื่อกลายเป็นเหยื่อซ้ำ ๆ
การกู้เงินออนไลน์ ในปัจจุบัน มีสิ่งที่น่าคิดคือ เป็นการให้บริการและติดต่อผ่านแอปที่ลูกหนี้ไม่รู้จักเจ้าหนี้ ในทางกลับกันเจ้าหนี้กลับรู้ตัวตนทั้งหมดของลูกหนี้ ผ่านการกรอกข้อมูล ชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ บัตรประจำตัวประชาชนและข้อมูลผู้ติดต่อ แถมยังมีการขอเข้าถึงข้อมูลรูปภาพ และรายชื่อผู้ติดต่อในมือถือทั้งหมดอีกต่างหาก
“ธนา” บอกว่า ส่วนใหญ่แล้วลูกหนี้แทบไม่ทันคิดว่า ข้อมูลเหล่านี้ นำมาสู่การคุกคามในภายหลังได้ ถ้าไม่ชำระหนี้ให้ตรงเวลา ทั้งการใช้วิธีส่งข้อความทวงหนี้ ส่งข้อความข่มขู่ การเข้าไปโพสต์หน้าเฟซบุ๊กลูกหนี้ ประกาศตัวเป็นเจ้าหนี้
รวมไปถึงการสุ่มรายชื่อผู้ติดต่อในโทรศัพท์มือถือของผู้ใช้บริการ ที่มีทั้งครอบครัว ญาติ และที่ทำงาน เพื่อประจานให้อับอายและขายหน้า บางคนบางรายต้องถูกพักงานจากผลกระทบทวงหนี้เงินกู้ผ่านแอปฯนั้น ๆ ด้วยซ้ำไป
ด้วยความสบายในเรื่องการให้กู้เงินที่ง่ายจนน่ากลัว จึงน่าจะเป็นข้อคิดที่ดีกับคนที่กำลังเข้าตาจน ในเวลานี้ ต้องตรวจสอบ ต้องเช็กข้อมูลแอปฯกู้เงินออนไลน์ ให้ชัดเจนก่อน ทั้งความน่าเชื่อถือของบริษัทที่เป็นเจ้าของแอปฯ เช่นมีเว็บไซต์หรือมีสถานที่ประกอบการที่มีที่ตั้งชัดเจนหรือเปล่า
หรือทางที่ดีก็ควรตรวจสอบ “ไลเซ่น” หรือใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจ ให้ชัดเจนเสียก่อน โดยเฉพาะการตรวจสอบทางเว็บไซต์ของแบงก์ชาติ
ก่อนหน้านี้ทางแบงก์ชาติเอง ก็ออกมาแจ้งเตือนภัยเรื่องของแอปฯกู้เงินเถื่อน ผ่านสารพัดช่องทางเช่นกัน ทั้งการเตือนว่าอย่ากรอกข้อมูลส่วนตัวใด ๆ ลงในแอปฯที่ไม่รู้จัก เพราะอาจเป็นการหลอกลวงกู้เงินหลอกลวงก็เป็นไปได้ ต่อให้มียี่ห้อหรือโลโก้ของแบงก์ชาติแปะไว้ตามตามทีเถอะ
ดังนั้นก่อนจะ “คลิก” กดปุ่มยินยอม หรือยอมรับเงื่อนไขในสารพัดแอปฯ เพื่อกู้เงินออนไลน์ ก็ต้องตรวจสอบกันให้ดี ไม่เช่นนั้น อาจ “หมดตัว” ก็เป็นไปได้ !!!
……………………………………
คอลัมน์ : EC Focus by Virgo