วันศุกร์, ตุลาคม 4, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSรัฐคิกออฟมาตรการ“ส่งดี” ขาช้อป!โล่งอกจริงหรือ?
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

รัฐคิกออฟมาตรการ“ส่งดี” ขาช้อป!โล่งอกจริงหรือ?

มีผลอย่างเป็นทางการไปแล้ว!! กับมาตรการการดูแลผู้บริโภคไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ…จากการซื้อสินค้าออนไลน์แล้วเรียกเก็บเงินปลายทาง (COD) แต่ได้รับสินค้าไม่ตรงปก

งานนี้แม่งาน…อย่างสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือสคบ. ได้ออก ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทางเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. 2567 เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคถูกหลอกลวง โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 3 ต.ค. ที่ผ่านมา

หรือที่รู้จักกันดีในชื่อมาตรการ “ส่งดี” (Dee-Delivery) หรือ “เปิดก่อนจ่าย” ที่บรรดานักชอปปิงสินค้าออนไลน์ สามารถเปิดดูกล่องพัสดุสินค้าและส่งคืนได้ทันที หากได้รับสินค้าที่ไม่ตรงกับที่สั่งซื้อ

ที่ผ่านมาคงจำกันได้ว่าบรรดานักชอปปิงออนไลน์ ต่าง “ช้ำใจ” กับเรื่องของสินค้าไม่ตรงปก อย่างหนักหนาสาหัส บางราย บางเจ้าที่ยังเป็นเด็ก เป็นนักเรียน นักศึกษา ถึงกับต้อง “ทิ้งชีวิต” เพื่อหนีปัญหาด้วยซ้ำ!!

จากสถิติอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่เกิดมากที่สุด ในแง่ของจำนวนรายซึ่งไม่ใช่การหลอกดูดเงิน จะพบว่ามาจากเรื่องของการชอปปิงออนไลน์นี่แหล่ะ และกรณีของสินค้าไม่ตรงปก ก็ครองแชมป์มากกว่า 2 แสนคดีกันเลยทีเดียว
ต่อให้…ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะไม่มากเท่ากับการหลอกลงทุน การหลอกดูดเงิน แต่ก็ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการค้าขายออนไลน์ไม่น้อยทีเดียว

อย่าลืมว่าในปีที่แล้ว คนไทยแห่ชอปปิงออนไลน์สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ ด้วยมูลค่าถึง 7 แสนล้านบาท ที่สำคัญคนไทยยังใช้จ่ายออนไลน์เติบโต 30.6% ต่อปี ถือว่าสูงสุดในเอเชีย โดยมีการใช้จ่ายเฉลี่ยอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง
ขณะที่บรรดามิจฉาชีพที่มีอยู่เต็มบ้านเต็มเมืองในเวลานี้ ก็มีเทคนิคหลอกลวงหลากหลายแบบ อย่างกรณี ผู้บริโภคสั่งสินค้าแบรนด์ดังราคาถูกกับร้านค้าออนไลน์ ซึ่งมิจฉาชีพเปิดไว้ และใช้รูปปลอม

ทีนี้เมื่อจัดส่งสินค้าไปให้กลับเป็นอีกแบรนด์ที่ถูกกว่า เมื่อร้องเรียนก็ไม่คืนเงิน แล้วบอกว่าให้ไปแจ้งความฟ้องร้องเอง สร้างความยากลำบากให้ผู้บริโภคทั้งยังติดตามร้านผีเหล่านี้ได้ยากมาก

หรือกรณีที่บรรดานักช้อปสั่งซื้อสินค้าแล้วเกิดปัญหาต่าง ๆ แต่ไม่สามารถติดต่อผู้ขายได้ หรือติดต่อได้แต่ไม่ได้รับการแก้ไข รวมไปถึงกรณีการสวมรอยสั่งสินค้า เรียกเก็บเงินปลายทาง ทั้งที่ผู้บริโภคไม่ได้สั่งซื้อ แต่มีพัสดุจัดส่งไปยังที่บ้าน โดยเรียกเก็บเงิน ณ ที่จัดส่ง

ทั้งนี้ในกรณีส่งสินค้าไปที่บ้าน มิจฉาชีพมักมีข้อมูลที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ของเหยื่อ และอาศัยบริษัทขนส่งต่าง ๆ จัดส่งสินค้าที่เหยื่อไม่ได้สั่ง แล้วเรียกเก็บเงินปลายทาง

ยกตัวอย่างเช่น ส่งของราคาถูก เพื่อไปเก็บเงินราคาแพง แล้วจ่าหน้ากล่องเป็นที่อยู่มั่ว ๆ ไม่สามารถติดต่อได้ หากเหยื่อเป็นคนที่ซื้อของออนไลน์หลายชิ้นก็อาจสับสน และยังนึกว่าเป็นสินค้าที่สั่ง

ปัญหาเหล่านี้มีกระบวนการทางกฎหมายเอาผิดติดตามแต่ละกรณี แต่ด้วยเหตุที่ว่ามูลค่าความเสียหายต่อกรณีไม่สูงมาก ทำให้หลายคนไม่อยากเสียเวลา

แต่ลองคิดดูในภาพรวม หากเกิดขึ้นในหลาย ๆ กรณี ในหลาย ๆ ราย บรรดาพี่มิจฯ เหล่านี้ก็จะได้เงินมหาศาลจากการหลอกลวง โดยอาศัยระบบขนส่งโลจิสติกส์และระบบธุรกรรมที่ดี

มาตรการส่งดี นี้เป้าหมายสำคัญ ก็เพื่อ…แก้ไขปัญหาผู้ขายสินค้าที่ไม่สุจริต หลอกลวงผู้บริโภค คุ้มครองผู้บริโภคที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมและเกิดความเสียหายจากการสั่งซื้อสินค้าและรับบริการขนส่งจากผู้ประกอบธุรกิจ
ที่สำคัญ…ผู้บริโภคจะได้รับการชดเชยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น จากการได้รับสินค้าที่ไม่ตรงปกอีกด้วย!!

หากผู้บริโภคสั่งซื้อสินค้าแบบเก็บเงินปลายทาง หรือ COD พนักงานขนส่งจะต้องลงชื่อในหลักฐานการรับเงิน และส่งมอบให้กับผู้บริโภค หากเปิดกล่องสินค้าแล้ว สินค้าไม่ตรงปก ชำรุด ไม่ได้สั่ง สามารถปฏิเสธการรับสินค้าและไม่ต้องชำระเงินได้

หรือ…ถ้าเป็นกรณีที่ ผู้บริโภค เปิดกล่องสินค้าภายหลังจากที่ชำระเงินไปแล้ว พบปัญหา สินค้าไม่ตรงปก ชำรุด ไม่ได้สั่ง ต้องแจ้งขอเงินคืน ภายใน 5 วัน (นับแต่วันได้รับสินค้า)

นอกจากนี้หากตรวจสอบแล้วพบว่า มีเหตุตามที่แจ้งจริง บริษัทขนส่งจะต้องคืนเงินทั้งหมดให้กับผู้บริโภค ภายใน 15 วันอีกด้วย

เอาเป็นว่า…มาตรการของรัฐครั้งนี้ แม้อาจออกมาช้า ออกมาไม่ตรงกับสถานการณ์ เพราะตอนนี้รูปแบบมิจฉาชีพไปเน้นเรื่องการหลอกลวงในเรื่องของการดูดเงินไปแล้ว

ทั้งหลายทั้งปวง!! ก็ต้องรอดูว่า มาตรการ “ส่งดี” นี้จะช่วยปกป้องสิทธิของนักช้อปได้ดีเพียงใด?

………………..
คอลัมน์ : EC Focus by Virgo

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img