หักปากกาเซียน!! กันทีเดียว กับการตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงินหรือกนง. เมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่ยอมตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 2.50% เหลือ 2.25%
แม้ว่าการตัดสินใจรอบนี้บรรดากนง. ทั้ง 7 รายจะยังคงมีความเห็นไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยกนง.มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ 5 ต่อ 2 เสียง ที่ให้ลดดอกเบี้ยลง และให้มีผลทันที ก็ตาม
แต่การตัดสินใจรอบนี้ ก็สร้างความประหลาดใจ และเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อยเช่นกัน แม้การลดดอกเบี้ยถือเป็นเรื่องดีที่ใครต่อใครก็รอความหวังกันอย่างดาษดื่น
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง…บรรดาภาคเอกชน ในหลากหลายสาขา ที่หวังให้ต้นทุนการทำธุรกิจของตัวเองลดลง หวังให้ขายของได้ เพื่อมีเงินมาใช้จ่ายในการทำธุรกิจ
ที่สำคัญ!! ประชาชนคนไทย บรรดาลูกหนี้ตาดำๆ จะได้มีภาระลดลงจากที่ต้องแบกหนี้สารพัดจนหลังแอ่น จะได้สบายใจขึ้นมาบ้าง จะได้มีเงินมีทองเหลือมาใช้จ่าย ทำให้บรรยากาศเศรษฐกิจที่เวลานี้ยังซึม ๆ ให้สดใส มีความหวังเพิ่มขึ้น
แม้ว่าตามตัวเลขแล้ว สถานะหนี้ครัวเรือนได้ชะลอการเติบโต ลดลงมาแล้วก็ตาม เพราะล่าสุด…ในไตรมาสสอง ของปีนี้ อยู่ที่ระดับ 89.6% ต่อจีดีพี ลดลงจากก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 90.7%
หากมองแบบเร็วๆ แบบเผินๆ ดูแล้วน่าจะเป็นทิศทางที่ดี !! แต่… ในมุมมองของบรรดานักเศรษฐศาสตร์หลายๆ สำนักแล้วกลับเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก
เพราะอะไร? เพราะบรรดานักเศรษฐศาสตร์ ต่างคิดเห็นว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ที่ลดลงนี้ ใช่ว่า…จะเป็นเพราะเศรษฐกิจเข้มแข็ง
หรือเป็นเพราะ คนไทยตาดำๆ มีรายได้เพิ่มขึ้น แต่กลับกลายเป็นว่าเป็นเพราะบรรดาแบงก์พาณิชย์ปล่อยสินเชื่อน้อยลง แบงก์พาณิชย์เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น
ด้วยเกรงว่า… หากปล่อยสินเชื่อไปแล้วมีความสุ่มเสี่ยงที่จะได้เงินต้นคืนนั้นน้อยลง หรือเผลอๆ อาจไม่ได้เงินต้นคืนกลับมาด้วยซ้ำ กลายเป็นหนี้เน่าเพิ่มขึ้นมากไปอีก
สุดท้าย!!ในเมื่อคนที่เดือดร้อนจากปัญหาเศรษฐกิจไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ อาจต้องหันไปพึ่งพา “หนี้นอกระบบ” หากเกิดขึ้นจริง ก็ยิ่งเท่ากับว่าเป็นการซ้ำเติมปัญหา “หนี้” มากขึ้น และน่าเป็นห่วง
สุดท้าย!! ก็หนีไม่พ้นที่ทำให้ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนตึงตัวหนักขึ้น !! น่ากังวลมากขึ้น!!
แต่ในเมื่อกนง.ยอมตัดสินใจลดดอกเบี้ย 0.25% ท่ามกลางความเชื่อที่ว่า กนง.จะตัดสินใจในการประชุมครั้งต่อไป คือในวันที่ 18 ธ.ค.นี้มากกว่า ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ออกมาไม่น้อย
อย่าลืมว่า…ที่ผ่านมาแบงก์ชาติ มีความเห็นไม่เป็นไปในทางเดียวกับรัฐบาลเท่าใดนัก แถมยังมีกระแสข่าวการต่อต้านคนที่รัฐบาลเลือกให้เข้ามาเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ คนใหม่
จึงอดคิดกันไม่ได้ว่า การยอมลดดอกเบี้ยครั้งนี้ มีอะไรอยู่เบื้องหลังการตัดสินใจหรือไม่?
แม้ กนง.จะออกมายืนยันชัดเจนว่าการตัดสินใจครั้งนี้ไม่เกี่ยวอะไรกับประเด็นการเมือง ตามที่สงสัยกันอยู่ เพราะเป็นเรื่องของการปรับสมดุลของการดูแลเสถียรภาพทางการเงิน เท่านั้น
นอกจากนี้ยังเป็นความเห็นที่ไม่เป็นเอกฉันท์ ดังนั้น…จึงไม่ได้เกิดจากแรงกดดันจากฝ่ายการเมืองแน่นอน โดยกนง. 5 คน ที่ให้ลดดอกเบี้ยลง 0.25% ก็เพราะเห็นว่าจะช่วยบรรเทาภาระหนี้ได้บ้าง
ขณะเดียวกันอัตราที่ลดลงก็ยังอยู่ในระดับที่ยังเป็นกลาง และสอดคล้องกับศักยภาพของเศรษฐกิจในปัจจุบัน ที่สำคัญแนวโน้มสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ ยังปรับลดลงอย่างต่อเนื่องรวมไปถึงสัดส่วนหนี้ครัวเรือน
ส่วนกนง.อีก 2 คน ที่ให้คงดอกเบี้ยไว้เท่าเดิม เพราะเห็นว่า ดอกเบี้ยนโยบายที่อัตรา 2.50% นั้นสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในปัจจุบันอยู่แล้ว
ที่สำคัญ!! ยังให้น้ำหนักกับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว รวมถึงการรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในอนาคตข้างหน้า
เอาเป็นว่า…ในเมื่องกนง.ส่งสัญญาณให้สถาบันการเงินลดดอกเบี้ยลง ก็ต้องไปดูว่าบรรดานายแบงก์ทั้งหลายจะตอบสนองสัญญาณครั้งนี้อย่างรวดเร็วแค่ไหน
เพราะการตัดสินใจที่ล่าช้า ก็ยิ่งเพิ่มความบอบช้ำให้กับคนที่เดือดร้อน!!
………………..
คอลัมน์ : EC Focus by Virgo