วันศุกร์, พฤศจิกายน 8, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTS‘ทรัมป์’มาโลกป่วน สงครามการค้าปะทุ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘ทรัมป์’มาโลกป่วน สงครามการค้าปะทุ

ทั่วโลกกำลังสั่นสะเทือนกันอีกครั้ง!! หลัง “โดนัลด์ ทรัมป์” สามารถคว้าชัยเลือกตั้ง กลับมาเป็น ประธานาธิบดีสหรัฐเป็นสมัยที่ 2 โดยทั่วโลกกำลังหวาดวิตกกันว่า “เทรดวอร์” หรือ “สงครามการค้า” ระหว่าง “จีนกับสหรัฐ” จะกลับมาปะทุครั้งยิ่งใหญ่

หากเหตุสงครามการค้าปะทุขึ้นมาอีกระลอก สุดท้าย…โลกทั้งโลกใบนี้ก็จะปั่นป่วน เพราะเชื่อได้แน่ว่ามาตรการการขึ้นภาษีสินค้าจีน 60% และประเทศอื่นๆ 10% นั้นจะทำให้การค้าโลกสะดุดลงแน่ๆ

อย่างไรก็ตาม นโยบายสำคัญๆ ของ “ทรัมป์” นั้น ประกอบไปด้วย เรื่องของ การค้าและภาษีนำเข้า โดย “ทรัมป์” มีนโยบายชัดเจนที่จะกดดันการค้าระหว่างประเทศกับจีนที่เข้มข้นมากขึ้นต่อเนื่อง จากสมัยที่เคยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 45 โดยเสนอให้สหรัฐเพิ่มกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็นอัตรา 60%

นอกจากนี้ยังเสนอให้ ถอดถอนสถานะการค้าปกติกับจีน อีกต่างหาก!! โดยสถานะการค้าปกติครั้งนี้ถือเป็นประโยชน์กับจีนไม่น้อย ในฐานะของสมาชิกดับเบิ้ลยูทีโอ

แต่!!การจะถอดถอนได้ ก็ต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาสูงของสหรัฐฯ หรือสภาคองเกรส ให้ชัดเจนก่อน เพราะจะส่งผลกระทบต่ออัตราภาษีนำเข้าสินค้าเป็นการถาวร ซึ่งก็เป็นที่แน่นอนเช่นกันเพราะพรรครีพับลิกัน สามารถครอบครองเสียงทั้ง 2 สภาได้เรียบร้อย

ส่วนประเทศอื่นๆ “ทรัมป์” จะเก็บภาษีสินค้านำเข้า ในอัตรา 10% ถึง 20% และยังสนับสนุนให้ การค้าระหว่างประเทศเป็นระบบต่างตอบแทน โดยให้ใช้อัตราภาษีระดับเดียวกันกับที่ประเทศคู่ค้าเรียกเก็บจากสินค้าส่งออกของสหรัฐ พลังงานและสิ่งแวดล้อม

เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า “ทรัมป์” เป็น “คนไม่รักษ์โลก” อยู่แล้ว เพราะเป็นคนที่ลงนามให้สหรัฐฯถอนตัวออกจาก “ความตกลงปารีส” ด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ทั่วทั้งโลกกำลังวางเป้าหมาย “รักษ์โลก” กันอย่างกว้างขวาง

เหตุผลสำคัญที่ “ทรัมป์” ไม่ค่อยจะรักษ์โลกสักเท่าใดนัก เป็นเพราะว่า “ทรัมป์” เชื่อว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องหลอกลวง

ด้วยเหตุนี้จึงเสนอให้มีการ “ยกเลิก” การให้ภาษีส่วนลดสำหรับการซื้อรถยนต์พลังงานไฟฟ้า รวมไปถึงการให้การอุดหนุน กับ “กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด” เช่น โรงงานไฟฟ้าจากพลังงานลม โรงงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และโรงงานผลิตแบตเตอรี

ไม่ใช่แค่นี้!! ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ คนที่ 47 ยังเสนอยกเลิกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง กับการใช้ถ่านหินในโรงงานผลิตพลังงาน การปล่อยก๊าซของเสียรถยนต์ และการปล่อยก๊าซมีเทนในอุตสาหกรรมกลั่นน้ำมันและก๊าซปิโตรเลียม อีกด้วย

ทั้งนี้ “ทรัมป์” ดำเนินนโยบายแข็งกร้าวต่อจีนทั้งด้านการค้าและการทหาร โดยเสนอเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนในอัตราสูง เพื่อลดการขาดดุลการค้าจีน

นอกจากนี้..ยังเตรียมแต่งตั้ง “โรเบิร์ต ไลต์ไฮเซอร์” ให้กลับมาเป็น ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ โดย “ไลต์ไฮเซอร์” นี้มีนโยบายชัดเจนเหมือนกัน ที่จะ ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน

ที่หนักกว่า…“ไลต์ไฮเซอร์” ยังมีนโยบายที่จะ ระงับการลงทุนระหว่างทั้งสองประเทศ รวมไปถึงการ ห้ามใช้แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์จีนอีกต่างหาก

เช่นเดียวกับในเรื่องของ นโยบายการเงิน “ทรัมป์” มีความชัดเจนที่ต้องการมีอิทธิพลเหนือ “เฟด” โดยไม่เห็นด้วยกับการดำเนินนโนบายการเงิน ที่ขึ้นดอกเบี้ยสูงเพื่อคุมเงินเฟ้อ เพราะเห็นว่ามีมาตรการอื่นที่เลือกใช้แทนได้ดีกว่า

บรรดานักวิชาการมองว่า…ความพยายามมีอำนาจเหนือ “เฟด” หรือความพยายามต้องการแทรกแซงการตัดสินใจของธนาคารกลาง ของ “ทรัมป์” หากเกิดขึ้นจริง ตลาดทุนสหรัฐฯจะได้รับผลกระทบแน่นอน

อย่างที่รู้กัน บรรดานักลงทุนย่อมต้องถอนเงินลงทุนออกจากตลาด เพราะไม่มั่นใจในอำนาจ ในการดูแลของธนาคารกลาง อีกต่อไป ซึ่งตลาดทุนจะปั่นป่วน

แม้ในการดำเนินนโยบายการค้า การลงทุน ของ “ทรัมป์” อาจเข้มข้นกับประเทศคู่ค้า แต่ในเรื่องของคนอเมริกันเองแล้ว ย่อมมาเป็นที่ 1 ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่ “ทรัมป์” ได้นำเสนอ

“ทรัมป์” มีนโยบายปรับลดอัตราภาษีธุรกิจลงไปอยู่ที่ 15% ถึง 20% จากปัจจุบันเก็บอยู่ที่อัตรา 21% ซึ่งเป็นอัตราที่ปรับลดลงมาจาก 34% ในช่วงที่เป็นประธานาธิบดีในสมัยแรก

เมื่อมีนโยบายลดภาษีธุรกิจ นั่นก็หมายความว่า รัฐบาลสหรัฐย่อมต้องเสียรายได้ไปด้วย แม้จะสอดคล้องกับนโยบายการลดการใช้จ่ายภาครัฐลง ก็ต้องรอดูว่า…รายได้ของรัฐบาลจะมีเพิ่มขึ้นได้อย่างไร

ไม่เพียงเท่านี้นโยบายของ “ทรัมป์” ยังมีอีกหลายด้าน ซึ่งต้องรอดูว่าหลังจาก “ทรัมป์” เข้าพิธีสาบานตนในวันที่ 20 ม.ค.68 แล้ว สหรัฐจะเปลี่ยนไปเช่นใด?

……………………….

คอลัมน์ : EC Focus by Virgo

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img