ณ วันนี้ คนไทยกำลังรู้สึกร้อนฉ่า!! อีกระลอก หลัง “พิชัย ชุณหวชิร” รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ได้โยนหินถามทางในเรื่องของ การปรับโครงสร้างภาษี เพื่อสนับสนุนการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล
หรือเรียกง่ายๆ ก็คือ ทำเรื่องภาษีให้มันถูกต้องเป็นธรรม เพื่อทำให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น ไม่หดหายไป ขณะเดียวกันก็ยังเป็นการเพิ่มศักยภาพของประเทศให้มากยิ่งขึ้น
เป็นที่รู้กันอยู่ว่า ในหน้าที่หลักของกระทรวงการคลังแล้ว เกี่ยวเนื่องกับการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล เพื่อนำมาใช้จ่าย นำมาบริหารประเทศให้เดินหน้าเติบโตอย่างยั่งยืน
ขณะเดียวกันสภาพเศรษฐกิจในทุกวันนี้ ไม่ได้โป่งพองเหมือนที่ผ่านมา ด้วยเหตุปัจจัยมากมาย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่ถาโถมกันเข้ามา จนทำให้รายได้ของรัฐบาลไม่เพียงพอกับรายจ่ายที่งอกเงยขึ้นทุกวัน
จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไม? ในหลายสิบปีที่ผ่านมา การตั้งงบประมาณของประเทศ จึงต้องตั้งเป็นแบบขาดดุล หรือ “กู้” เพื่อมาพัฒนาประเทศโดยตลอด
ที่สำคัญเมื่อพูดถึง “ภาษี” ก็จะกลายเป็น “ของแสลง” สำหรับคนไทยทั้งประเทศ ขณะที่ใครที่เข้ามาเป็นรัฐบาล หรือเข้ามาเป็น “รมว.คลัง” นโยบายแรกๆ ก็หนีไม่พ้นเรื่องของการปรับ เรื่องของการปฎิรูป “โครงสร้างภาษี” ของประเทศ
จะด้วยเหตุผลว่า…เพื่อสร้างความเป็นธรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของประเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับประเทศ หรืออื่นๆ อีกมากมาย
แล้วสุดท้าย!! ก็มักไปจบลงด้วย…การเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หรือ เพิ่ม VAT และ ลดภาษีเงินได้นิติบุคคล แทบทุกครั้ง!! แทบทุกรัฐบาล!! แต่เอาเข้าจริง ทุกอย่างก็เหมือนเดิม ไม่สามารถปรับเพิ่ม-ปรับลด หรือใดๆ ได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของ “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” ที่ปัจจุบันรัฐบาลจัดเก็บอยู่ในอัตรา 7% มานานถึง 27 ปีแล้ว ตั้งแต่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 จากเดิมที่จัดเก็บในอัตรา 10% มาตั้งแต่ปี 35
พอเกิด วิกฤตเศรษฐกิจ หรือ “วิกฤตต้มยำกุ้ง” เมื่อปี 2540 จึงได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม เหลือเพียง 7% และมีการต่ออายุมาเรื่อยๆ ทุกปี เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนคนทั้งประเทศ
ล่าสุด…ครม.เมื่อวันที่ 17 ก.ย.67 ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบให้ต่ออายุการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 7% สำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำาเข้าทุกกรณี ออกไปอีก 1 ปี จนถึงวันที่ 30 ก.ย.68
ทั้งหลายทั้งปวง ก็เพื่อรักษาระดับการขยายตัวของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน ไม่มีภาระทางภาษีเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ตามเป้าหมาย
ต้องยอมรับว่าในข้อเท็จจริงแล้ว รายได้ของรัฐบาลจากการจัดเก็บภาษีในเวลานี้ลดลงมาเรื่อยๆ โดยคิดเป็นประมาณ 14% ของจีดีพี จากที่เคยอยู่ในระดับที่ 16-17%
ขณะที่รายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ถือเป็นสัดส่วนที่ใหญ่มาก เมื่อเทียบกับรายได้ภาษีจากส่วนอื่นๆ โดยมีการประเมินกันว่า หากรัฐบาลประกาศขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเพียง 1% ก็จะมีรายได้เพิ่มเข้าคลังแล้วประมาณ 80,000 ล้านบาท
แต่ความคิด!! จะกลายเป็นมาแนวปฎิบัติได้หรือไม่? ถือเป็นอีกเรื่อง!! เพราะในข้อเท็จจริงแล้วเมื่อขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อใด จะทำให้เศรษฐกิจชะงักแน่นอน
เพราะผลการศึกษาของกระทรวงการคลังเอง ก็ยืนยันชัดเจนว่า การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม 1% จะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ลดลงประมาณ 0.25-0.35% หรือเฉลี่ย 0.3%
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแหวกแนวอะไรเลย เพราะทันทีที่ “ขุนคลัง” โยนแนวความคิดออกมา หรือคิดดังๆ ให้สาธารณชนได้ยิน จึงมีแต่เสียงสะท้อนในแง่ลบออกมาทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ เอกชน หรือแม้แต่พ่อค้า แม่ค้า ชาวบ้านตาดำๆ
เพราะ หากขึ้น VAT นั่นหมายความว่า ประชาชนคนไทยทั้งประเทศต้องควักกระเป๋าซื้อสินค้า และบริการเพิ่มขึ้นอีก ทั้งๆ ที่ “เงินในกระเป๋า” แทบจะไม่มีเหลือในแต่ละเดือน แบบใช้เดือนชนเดือนด้วยซ้ำไป
แม้ว่าทุกวันนี้ ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราที่ค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในอาเซียนด้วยกันที่ส่วนใหญ่อยู่ในระดับที่ 10% ก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ในหลายความคิดเห็นทางเศรษฐศาสตร์แล้ว ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า การจะขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มต้องอยู่ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจมีความเหมาะสม หรืออย่างน้อยจีดีพีต้องขยายตัวได้ที่ 5% ต่อปี ติดต่อกัน ส่วนอัตราเงินเฟ้อต้องอยู่ในระดับที่ 2% จึงเป็นอัตราที่เหมาะสมที่สุด
อย่างที่บอก!! เรื่องของภาษี นั้นเป็นเหมือนกับ “ยาขม” ทางการเมือง เพราะมีผลต่อคะแนนเสียงในการเลือกตั้งแน่นอน ก็ต้องรอดูว่า สุดท้ายแล้วรัฐบาลจะกล้าเขี่ยคะแนนเสียงตัวเอง ทิ้งหรือเปล่า!!
……………………….
คอลัมน์ : EC Focus by Virgo